เล่มที่ 9
การสาธารณสุข
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ยุคที่ ๒

            ใน พ.ศ. ๒๓๗๑ อันเป็นปีที่ ๕ ในรัชกาลที่ ๓ กล่าวได้ว่า เป็นปีแรกที่การแพทย์แผนตะวันตกเข้ามามีบทบาทสำคัญ ต่อการแพทย์การสาธารณสุข โดยดำเนินการควบคู่กันไป กล่าวคือ ให้การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย และทำการป้องกันโรคติดต่อที่ร้ายแรงไปด้วย

            นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "หมอปลัดเล" นักเผยแผ่คริสต์ศาสนาชาวอเมริกัน ซึ่งเข้ามาเมืองไทยในปี พ.ศ. ๒๓๗๘ เป็นผู้ที่ริเริ่มการป้องกันโรคติดต่อครั้งแรก ในประเทศไทย โดยสั่งหนองฝีป้องกันไข้ทรพิษ จากสหรัฐอเมริกา มาปลูกให้ลูกของตนเองก่อน เมื่อฝีขึ้น จึงเอาหนองจากแผลนั้น ปลูกให้เด็กคนอื่นๆต่อไป ซึ่งปรากฏว่า ได้ผลดี จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๓๘๑ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้หมอหลวงไปเรียนวิธีปลูกฝีจากหมอบรัดเลย์ เพื่อปลูกให้แก่ข้าราชการและประชาชน

            ในระยะแรก พันธุ์หนองฝีต้องสั่งจากต่างประเทศ ภายหลังที่นายแพทย์ อัทย์ หะสิตะเวชกับนาย แพทย์แฮนส์ อะดัมสัน (Hans Adamson) ไปศึกษาวิธีทำหนองฝีที่ประเทศฟิลิปปินส์ จึงกลับมาผลิตหนองฝีใน ประเทศได้ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘

            ในสมัยรัชกาลที่ ๔ นายแพทย์ซามูเอล เรย์โนลดส์ เฮาส์ (Samuel Reynolds House) นักเผยแพร่ศาสนาชาวอเมริกา ได้มีบทบาทช่วยในการควบคุมอหิวาตกโรคและรักษาคนไข้ โดยการใช้ทิงเจอร์การบูรผสมน้ำให้ดื่ม เขารายงานไปยังสหรัฐอเมริกันว่า ได้ผลดีมาก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

            ต่อมาในรัชสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการประกาศใช้กฎหมาย เกี่ยวกับการสุขาภิบาล เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๓ พระราชบัญญัติฉบับนั้นชื่อว่า "พระราชบัญญัติธรรมเนียมคลอง"เพื่อให้มีการรักษาความสะอาดของคลองให้ได้มาตรฐาน เพราะคนสมัยนั้น เริ่มเชื่อกันว่า การใช้น้ำสกปรกเป็นมูลเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ

            การแพทย์ของประเทศไทยในยุคที่ ๒ นี้ อาจเรียกได้ว่า เป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ ระหว่างการแพทย์แผนโบราณและแผนปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า แพทย์แผนปัจจุบันได้วิวัฒนาการโดยเข้าไปแทนที่การแพทย์แผนโบราณทีละเล็กทีละน้อย และประชาชนค่อยๆ เกิดความเชื่อถือศรัทธามากขึ้นเป็นลำดับ แต่ก็เป็นความนิยมที่ยังอยู่ในวงแคบๆ เพราะแพทย์มีจำกัด ยิ่งตามชนบทด้วยแล้ว การแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่เป็นที่ล่วงรู้ของประชาชน

            การเผยแพร่การแพทย์แผนปัจจุบันออกสู่ต่างจังหวัดครั้งแรก กระทำโดย สำนักงานเผยแผ่ศาสนาของอเมริกันคณะเพรสไบทีเรียน ซึ่งออกไปตั้งสาขา ที่จังหวัดเพชรบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ โดยมีศาสนาจารย์เอส. จี. แมคฟาร์แลนด์ (S.G. McFarland) และศาสนาจารย์ดาเนียล แมคกิลวารี (Daniel McGilvary) ออกไปปฏิบัติงาน แมคฟาร์แลนด์ผู้นี้ เป็นบิดาของพระอาจวิทยาคม หรือนายแพทย์ยอร์ช แมคฟาร์แลนด์ ผู้เป็นอาจารย์ของแพทย์ไทยหลายรุ่น กล่าวกันว่า เมื่อพระอาจวิทยาคมยังเยาว์วัยอยู่ ได้เคยช่วยบิดาห่อยาควินินแจกชาวบ้าน ที่จังหวัดเพชรบุรี

ศาสตราจารย์ เอส. จี.
แมคฟาร์แลนด์

            พ.ศ. ๒๔๑๐ การแพทย์แผนปัจจุบันได้ขยายไป ถึงจังหวัดเชียงใหม่ โดยศาสนาจารย์แมคกิลวารี ผู้เป็นลูกเขย ของนายแพทย์บรัดเลย์ นำไปเผยแพร่ และช่วยในการบำบัดโรคไข้จับสั่นและป้องกันโรคไข้ทรพิษอย่างเข้มแข็ง โดยใช้ยาควินิน และหนองฝี ที่ได้รับจากนาย แพทย์บรัดเลย์ ส่วนผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง คือนายแพทย์ แมคเคน (James W. Mckean) งานสำคัญของท่านคือ การจัดตั้งสถานควบคุมโรคเรื้อนแห่งแรกในประเทศไทย นอกจากนี้ในการควบคุมไข้จับสั่น นายแพทย์แมคเคน เป็นผู้นำเครื่องจักรทำยาเม็ดเข้ามาผลิตยาควินินเม็ดเพื่อ แจกจ่ายให้แก่ราษฎร กับยังเป็นผู้ตั้งสถานผลิตภัณฑ์หนองฝีขึ้น ในจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย

            อาจกล่าวได้ว่า วิวัฒนาการของการแพทย์แผน ปัจจุบันซึ่งดำเนินการโดยคณะเผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๗๑-๒๔๒๔ เป็นเวลา ประมาณ ๔๐ ปีนั้น แม้ว่าจะส่งผลไปถึงประชาชนในชนบทหรือในส่วนภูมิภาคได้ไม่มากนัก แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า คณะเผยแผ่ศาสนาคริสต์นี้ มีอิทธิพลก่อให้เกิดระบบงานสาธารณสุขในประเทศไทยในยุคต่อมา

โรงศิริราชพยาบาล 

การดำเนินงานสาธารณสุขโดยทางราชการ

            การดำเนินงานสาธารณสุขโดยทางราชการนั้น จากจดหมายเหตุต่างๆ ทั้งที่เป็นของทางราชการและของบุคคลนอกวงราชการ ปรากฏว่าเริ่มเป็นรูปเป็นร่างใน รัชสมัยของสมเด็จพระปิยมหาราช โดยเริ่มด้วยการจัดตั้ง "คอมมิตตีจัดการโรงพยาบาล" เพื่อสร้างโรงพยาบาลที่ วังหลัง ธนบุรี หรือศิริราชพยาบาล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ ภายหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะกรรมการชุดนี้พ้นจากหน้าที่ และจัดตั้งกรมพยาบาลขึ้นแทน เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๑ และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ เป็นอธิบดีบังคับการกรมพยาบาล มีหน้าที่ควบคุมกิจการฝึกอบรมนักเรียนแพทย์และการบริหารของศิริราชพยาบาล และควบคุมดูแลกิจการของโรงพยาบาลอื่น ที่มีอยู่แล้วในขณะนั้น ตลอดจนการปลูกฝี ให้แก่ ประชาชน ฉะนั้นอาจถือได้ว่าปี พ.ศ. ๒๔๓๑ เป็นการเริ่มศักราชใหม่ ของการแพทย์และการสาธารณสุขแผน ปัจจุบันในประเทศไทย
สำหรับประวัติของสถาบันการสาธารณสุขในประเทศไทยอาจกล่าวโดยลำดับได้ดังต่อไปนี้

กรมพยาบาล

            สถาบันแรกซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของกระทรวง สาธารณสุขในปัจจุบัน ได้แก่ กรมพยาบาล สถาปนา ขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๑ ดังกล่าวมาแล้ว โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้า ศรีเสาวภางค์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีคนแรก สันนิษฐาน กันว่ากรมพยาบาลในปีแรกคงจะขึ้นตรงต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปีต่อมาหลังจากที่พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ ทรงประชวรสิ้นพระชนม์ กรมพยาบาลได้ ย้ายไปขึ้นอยู่กับกระทรวงธรรมการ

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา
บรมราชินีนาถ

            ระหว่างที่กรมพยาบาลอยู่ในสังกัดกระทรวง ธรรมการได้มีกิจการที่สำคัญคือ การจัดตั้งโรงเรียนผดุงครรภ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ โดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ จัดตั้งหน่วยผลิตหนองฝีใช้เองในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ ซึ่งต่อมาได้ ย้ายไปรวมอยู่ในสถานเสาวภาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ นอกจากนี้ ได้จัดให้มีการผลิตยาตำราหลวง และตั้งโอสถศาลาขึ้น เพื่อเป็นที่สะสมยาและเวชภัณฑ์ เพื่อใช้ในสถาน พยาบาลและองค์การต่างๆ ของรัฐบาล กับให้ตั้งกองแพทย์ขึ้น เพื่อให้มีหน้าที่ออกไปดำเนินการป้องกันโรคติดต่อ แก่ประชาชนในชนบท และจัดให้มีแพทย์ประจำเมือง ซึ่งต่อไปได้พัฒนามาเป็นแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ในปัจจุบัน

            กรมพยาบาลดำรงฐานะเป็นกรมอยู่จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๘ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกกรมพยาบาล โดยให้โรงพยาบาลในสังกัดกรมนี้ ไปขึ้นอยู่กับกระทรวงนครบาล เว้นแต่ศิริราชพยาบาลคงให้เป็นสาขาของโรงเรียนราชแพทยาลัย และย้ายสังกัดไปขึ้นอยู่กับกรมศึกษาธิการ โดยตั้งเป็นแผนกพยาบาลขึ้นในกรมศึกษาธิการ ส่วนกองทำพันธุ์หนองฝี กองโอสถศาลารัฐบาล กองแพทย์ป้องกันโรค และแพทย์ประจำเมือง ยังคงอยู่ในสังกัดกระทรวงธรรมการดังเดิม

            ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองหัวเมือง เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน ในชนบท ได้ขอโอนกองโอสถศาลารัฐบาล กองทำพันธุ์หนองฝี กองแพทย์และแพทย์ประจำเมือง จากกระทรวงธรรมการ มาอยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยให้ขึ้นอยู่กับกรมพลำภัง และในปีเดียวกันได้มีตราพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาล และประกาศตั้งสุขาภิบาลขึ้นหลายแห่ง เช่น ที่จังหวัดนครราชสีมา จันทบุรี นครศรีธรรมราช ชลบุรี นครปฐม ภายหลังจากที่ได้ทดลองให้มีสุขาภิบาลเป็นแห่งแรกที่ ตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ การควบคุมดูแลการสุขาภิบาลในชนบทนี้ อยู่ในหน้าที่ของกรมพลำภังเช่นเดียวกัน

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ กระทรวงมหาดไทยมีโครงการขยายงานทางการสาธารณสุขอย่างกว้างขวาง จึงขอพระบรมราชานุญาต ตั้งกรมพยาบาลขึ้นใหม่ ใน สังกัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อรวมงานเกี่ยวกับการ สาธารณสุข ซึ่งอยู่ในสังกัดกรมพลำภังเข้าด้วยกัน โดยแบ่งการบริหารงานของกรมพยาบาลออกเป็น ๖ แผนก คือ

            ๑. แผนกบัญชาการ
            ๒. แผนกการแพทย์
            ๓. แผนกป้องกันโรคระบาด
            ๔. แผนกปัสตุระสภา (Pasteur Institute)
            ๕. แผนกสุขาภิบาล
            ๖. แผนกโอสถศาลารัฐบาล

งานที่ก้าวหน้าขึ้นในยุคนี้ ได้แก่ การจัดให้มีแพทย์ประจำทุกจังหวัด และจัดสร้างสถานีอนามัยในชนบท ซึ่งเดิมเรียกว่า "โอสถสภา" ต่อมาเปลี่ยนเป็น "สุขศาลา" และในปัจจุบันเรียกว่า "สถานีอนามัย" นอกจากนี้ ได้ขยายการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษไปทั่วทุกจังหวัด และควบคุมการใช้ยาเสพติดให้โทษ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

กรมประชาภิบาล

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ กระทรวงมหาดไทยมีความ ประสงค์จะปรับปรุงกิจการของกรมพยาบาลให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จึงได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนชื่อกรมพยาบาล เป็นกรมประชาภิบาล พร้อมทั้งยกฐานะแผนกต่างๆ ขึ้นเป็นกอง ซึ่งได้รับพระบรมราชานุญาตเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ โดย แบ่งส่วนราชการออกเป็น ๔ กองดังต่อไปนี้

            ๑. กองบัญชาการเบ็ดเสร็จ
            ๒. กองสุขาภิบาล
            ๓. กองพยาบาล
            ๔. กองเวชวัตถุ

            หลังจากสถาปนากรมประชาภิบาลได้ ๒ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระราชดำริว่า งานสาธารณสุขยังแยกย้ายอยู่หลายกระทรวง ควรที่จะให้รวมอยู่ในหน่วยงานเดียวกันคือ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฏศักดิ์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย รับสนองพระบรมราชโองการ ในการรวบรวมกิจการสาธารณสุขไว้แห่งเดียวกัน โดยขอให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยปลัด ทูลฉลอง กระทรวงธรรมการ มาเป็นอธิบดีกรมประชาภิบาล และขอพระราชทานความเห็น เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงชื่อกรมใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

            กรมสาธารณสุข เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้มี ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ตั้งกรมสาธารณสุข ขึ้นในกระทรวงมหาดไทย โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร เป็นอธิบดีคนแรก ดังนั้น ต่อมา ทางราชการจึงได้ถือเอาวันที่ ๒๗ พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาการสาธารณสุขมาจวบกระทั่งทุก วันนี้ ในระยะแรกกิจการสาธารณสุขในชนบทและการ สาธารณสุขในกรุงเทพฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับกระทรวงนครบาล ยังรวมกันไม่ได้เต็มที่ เนื่องจากติดขัดเรื่องการโอน อำนาจความรับผิดชอบและเรื่องงบประมาณ จนกระทั่ง เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ ได้มีประกาศพระบรมราชโองการรวมการปกครองทั้งหัวเมืองและกรุงเทพฯ ให้อยู่ในกระทรวงเดียวกัน โดยยุบกระทรวงนครบาลมา รวมกับกระทรวงมหาดไทย การสาธารณสุขและการ แพทย์ของกรุงเทพฯ และหัวเมืองใกล้เคียงมาสังกัดกรมสาธารณสุข โดยได้ปรับปรุงส่วนราชการใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๖๙ แบ่งกิจการออกเป็น ๑๓ กอง

            การบริหารงานสาธารณสุขของทางราชการในยุค ตั้งแต่ประกาศตั้งกรมสาธารณสุขในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ จนถึงปีพระราชทานรัฐธรรมนูญใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งได้จัดเอาไว้ยุคที่ ๒ นั้น การดำเนินงานส่วนใหญ่เพื่อป้องกันโรค และส่งเสริมสุขภาพอนามัยของประชาชน สำหรับการบำบัดโรคโดยตรง อันได้แก่การสร้างโรงพยาบาล หรือสถานีอนามัย ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า "โอสถสภา" มีเพียงแต่การสนับสนุนให้ท้องที่ต่างๆ จัดสร้างขึ้นเอง เท่านั้น
            
            ในยุคที่ ๒ นี้ กล่าวได้ว่าเป็นการเริ่มต้นของการ แพทย์แผนปัจจุบัน และการรวมตัวของกิจการสาธารณสุข แต่ก็ได้มีวิวัฒนาการที่สำคัญอันก่อให้เกิดความเจริญ ก้าวหน้าแก่วงการแพทย์การสาธารณสุขในปัจจุบัน ซึ่งมีปรากฏเป็นหลักฐาน ในแต่ละเรื่อง ดังต่อไปนี้

การผลิตยาตำราหลวง

            โดยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะให้มียาดีและจำหน่ายในราคาถูกให้ราษฎรได้ใช้ ทั่วราชอาณาจักร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่บำบัดโรคภัยไข้เจ็บแก่ราษฎร ตามหัวเมือง จึงจัดให้มีการประชุมหมอฝรั่งที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. ๒๔๔๕ และหลังจากปรึกษาหารือกันแล้ว ตกลงให้ผลิตยาที่อยู่ในประเภทยาสามัญ ประจำบ้านรวม ๘ ขนาน ในระยะแรก หมออะดัมสัน ซึ่งภายหลังมีบรรดาศักดิ์ เป็นพระบำบัดสรรพโรค เป็นผู้ผลิต ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ ภายหลังการจัดตั้งโอสถ ศาลาแล้ว รัฐบาลจึงรับโอนหน้าที่นี้มาทำเอง

ยาตำราหลวง ๔๙ ชนิด

            ในระยะแรก ยาโอสถสภาหรือที่เรียกว่า "ยาตำราหลวง" เป็นของใหม่ ราษฎรยังไม่นิยมใช้ กระทรวงมหาดไทยจึงจัดประชุมแพทย์ไทย เพื่อจัดทำยาแผนโบราณออกจำหน่ายด้วย โดยตกลงผลิตและจัดจำหน่ายรวม ๑๐ ขนาน การจำหน่ายยาตำราหลวงใน ระยะแรกให้แพทย์ประจำตำบลรับไปจำหน่าย และใน พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้ผลิตยาตำราหลวงเพิ่มขึ้นเป็น ๒๕ ขนาน เพื่อให้เพียงพอต่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บในชนบท

            พ.ศ. ๒๔๘๕ ความนิยมในการใช้ยาแผนโบราณ ลดน้อยลง รัฐบาลจึงให้เลิกผลิตยาแผนโบราณ และจากนั้น ก็ส่งเสริมการผลิตยาตำราหลวงเรื่อยมา โดยโรงงานเภสัชกรรม (เปลี่ยนเป็นองค์การเภสัชกรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙) ของกระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบในการผลิต และต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๒๒ มีการผลิตยา ตำราหลวงรวมทั้งสิ้น ๔๙ รายการ จุดประสงค์สำคัญ ในการผลิตยาตำราหลวงก็คือ ให้ราษฎรในชนบทมียาที่ จำเป็นในราคาย่อมเยา สำหรับใช้ในการบำบัดรักษาโรค อย่างง่ายๆ เพื่อเป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายใน การรักษาพยาบาลของคนในชนบท

แพทย์ประจำตำบล

            การจัดให้มีแพทย์ประจำตำบล เป็นความคิดของเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฏศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) เมื่อครั้ง เป็นพระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก โดยขอตั้งหมอพื้นเมืองเป็นแพทย์ประจำตำบล เพื่อให้ช่วยจดบันทึกคนเกิดคนตาย ได้ทดลองทำอยู่ ๒-๓ ปี (พ.ศ. ๒๔๔๘-๒๔๕๐) ต่อมาสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำริให้กำนันผู้ใหญ่บ้าน เลือกหมอแผนโบราณในท้องที่ให้เป็นหมอประจำตำบล เพื่อแบ่งเบาภาระแพทย์ประจำเมือง ในการปลูกฝีและจำหน่ายยาตำราหลวง ปรากฏว่า การปฏิบัติได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ กระทรวงมหาดไทยจึงได้แก้ไขพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ ให้มีตำแหน่งแพทย์ประจำตำบลตั้งแต่บัดนั้น เป็นต้นมา

สถานีอนามัย

โอสถสภาหรือสถานีอนามัย

            เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระดำริให้จัดตั้งโอสถสภา เพื่อเป็นสถานที่ทำงานของแพทย์หลวงประจำหัวเมือง โดยให้แต่ละท้องถิ่นหาทุน เพื่อจัดตั้งโอสถสภาประจำท้องถิ่นนั้นๆ การขยายงานในระยะแรกได้เป็นไปอย่างช้าๆ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ มีโอสถสภารวมทั้งสิ้น ๔๓ แห่ง ซึ่งเป็นของจังหวัด ๓๓ แห่ง และเป็นของสุขาภิบาล ๑๐ แห่ง โอสถสภานี้ต่อมาเรียกกันว่า "สุขศาลา" และได้วิวัฒนาการมาเป็นสถานีอนามัยในปัจจุบัน

โรงพยาบาลหัวเมือง หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด

            ในอดีต การจัดตั้งโรงพยาบาลหัวเมือง มีหลักการ เช่นเดียวกับการจัดตั้งโอสถสภาหรือสถานีอนามัย คือ สนับสนุนให้ท้องถิ่นหาทุนจัดตั้งขึ้นเป็นสำคัญ ในระยะ ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๗๕ โรงพยาบาลหัวเมืองต่างๆ ยังไม่ค่อยได้รับความนิยม จากราษฎรต่างจังหวัดเท่าใดนัก เพราะราษฎรยังไม่รู้จักการแพทย์แผนปัจจุบันทั่วถึง จากสถิติที่หาได้ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ มีโรงพยาบาลหัวเมืองจำนวน ๑๐ แห่ง แต่มีผู้ป่วยเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ทั้งปีไม่ถึง ๒,๐๐๐ คน และมีอยู่ ๒ แห่ง ที่ไม่มีใครเข้าพักรักษาตัวเลย ดังนั้น ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๗๕ กระทรวงมหาดไทยจึงไม่ได้ขยายการก่อตั้งโรงพยาบาล คงมุ่ง แต่การจัดตั้งโอสถสภาหรือสถานีอนามัยเพิ่มขึ้น ดังได้กล่าวมาแล้วเท่านั้น

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกำลังอบรมผู้สื่อข่าวสารสาธารณสุข

แพทย์ประจำเมือง หรือนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด

            ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๓๖ มีแพทย์ผู้ทำหน้าที่แพทย์ประจำเมือง เรียกกันว่า "หมอหลวงประจำเมือง" โดยให้ผู้ว่าราชการเมืองเลือกหาหมอที่มีความรู้ พอวางใจได้ และแต่งตั้งให้ทำหน้าที่นี้ ภายหลัง พ.ศ. ๒๔๓๖ เมื่อมีแพทย์ประกาศนียบัตรจบการศึกษาแล้ว ก็ได้ออกไปรับราชการในตำแหน่งแพทย์ประจำเมืองบ้าง แต่ก็เป็นจำนวนน้อยแห่ง จวบจนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๔๒ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกำหนดให้แพทย์ประจำเมืองที่จะรับใหม่ ต้องมีความรู้ทางผ่าตัด และรักษาบาดแผลด้วย แพทย์แผนปัจจุบันจึงได้กระจายออกสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น และต่อมาเมื่อได้เปลี่ยนคำว่า "เมือง" เป็น "จังหวัด" ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ แล้วก็ได้เปลี่ยนชื่อ แพทย์ประจำเมือง เป็นแพทย์ประจำจังหวัด ซึ่งเปลี่ยนแปลงมาเป็นนายแพทย์อนามัยจังหวัด และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดในที่สุด

สมเด็จพระบรมราชชนกกับการสาธารณสุข

            สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์งานสาธารณสุขมาตั้งแต่แรกเริ่ม แม้ว่าในระยะแรก พระองค์ทรงได้รับการ ศึกษาทางด้านการทหาร และรับราชการประจำกองทัพเรือ แต่ในระยะหลัง พระองค์ท่านหันมาสนพระทัยกับกิจการสาธารณสุขอย่างจริงจัง ถึงกับเสด็จไปศึกษาต่อทางด้านการสาธารณสุข ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard) สหรัฐอเมริกา และทรงได้รับประกาศนียบัตรสาธารณสุข (C.P.H.) ใน พ.ศ. ๒๔๖๔

            มีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อพระองค์เสด็จกลับเมืองไทย ชั่วคราว เพื่อมาร่วมงานพระบรมศพ สมเด็จพระศรีพัชรินทรงบรมราชินีนาถนั้น เป็นช่วงที่พระองค์ทรงศึกษาวิชาสาธารณสุข ได้ครึ่งปีการศึกษา ทรงสนพระทัยในการค้นคว้า เกี่ยวกับงานสาธารณสุข ในประเทศไทย โดยเสด็จไปเจาะโลหิตจากนักโทษในเรือนจำ ด้วยพระองค์เองจนถึงเที่ยงคืน เพื่อนำโลหิตไปตรวจหาพยาธิ  และในการค้นคว้า เกี่ยวกับพยาธิปากขอ ได้ทรงพานักเรียนแพทย์ไปตรวจส้วมในเรือนจำ ด้วยพระองค์เองด้วย

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

            ในระหว่างเสด็จกลับมาเมืองไทยชั่วคราว ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง "โรคทูเบอร์คูโลซิส" คือโรคฝีในท้องหรือวัณโรค ประทานแก่กรมสาธารณสุข เพื่อจัดพิมพ์เป็นของชำร่วยในงานถวายพระเพลิงศพสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๓

            ภายหลังที่ทรงสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ และเสด็จกลับประเทศไทย นอกจากจะทรงทำนุบำรุงกิจการโรงเรียนแพทย์ ให้เจริญก้าวหน้าแล้ว ยังสนพระทัย ในกิจการสาธารณสุข และสนับสนุนงานอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการสุขาภิบาล เคยทรงสำรวจ เกี่ยวกับการสุขาภิบาลในกรุงเทพฯ เพื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ

            ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ มีการอบรม สาธารณสุขมณฑล ที่กรุงเทพฯ ทรงแสดงปาฐกถาเรื่อง วิธีปฏิบัติงานสุขาภิบาล และทรงนำแพทย์ที่เข้าอบรม ทั้งหมด ไปดูงานสุขาภิบาลในกรุงเทพฯ ด้วยพระองค์ เอง โดยพาไปดูตึกแถว ตลาด และส้วม เข้าไปตาม ตรอกซอก และอาคารบ้านเรือนของประชาชน เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เห็นจริงเห็นจังในปัญหาที่เกิดขึ้น

            อาจมีผู้กล่าวว่าสมเด็จพระบรมราชชนกทรงทำนุ บำรุงกิจการแพทย์มากกว่าทางการสาธารณสุข แต่หากจะพิจารณาให้ลึกซึ้ง และถ่องแท้แล้ว จะเห็นได้ว่า พระองค์ทรงเป็นผู้ที่เล็งเห็นการณ์ไกล โดยปลูกฝังให้ประชาชนนิยมชมชอบกับการรักษาพยาบาล ซึ่งเห็นผลได้ง่ายเสียก่อน เพราะในสมัยนั้น ความเชื่อเรื่องการแพทย์แผนปัจจุบันยังมีน้อยมาก เมื่อประชาชนนิยม นับถือในกิจการแพทย์เพิ่มมากขึ้น ก็จะเกิดผลสะท้อนที่ดีต่อการพัฒนาการสาธารณสุข ซึ่งพระองค์ทรงให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นในลำดับต่อมา

            ทุกวันนี้ คำขวัญและพระราโชวาทของสมเด็จพระบรมราชชนกยังเป็นคำที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นคติธรรมประจำใจ ของบุคคลในวงการแพทย์การสาธารณสุขอย่างกว้างขวาง การสูญเสียสมเด็จพระบรมราชชนก ในวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ นับว่า เป็นการ สูญเสียอย่างใหญ่หลวงในการสาธารณสุขของประเทศ ถึงแม้พระองค์ทรงมีเวลาให้กับการแพทย์การสาธารณสุข เพียง ๑๐ ปี แต่พระองค์ก็ได้ทรงวางรากฐานของงานนี้ไว้อย่างสมบูรณ์ และเป็นผลให้การสาธารณสุขของประเทศ เจริญก้าวหน้าอย่างมีมาตรฐานมาจนถึงปัจจุบัน