สภากาชาดสากล ผู้ให้กำเนิดสภากาชาดสากล คือ นายอังรี ดูนังต์ (Henry Dunant) ชาวสวิตเซอร์แลนด์ เขาเกิดเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๗๑ ณ กรุงเจนีวา ในครอบครัวขุนนางตระกูลสูง ดูนังต์เป็นนักท่องเที่ยว เขาเดินทางไปแสวงหาโชคลาภในทวีปแอฟริกาเหนือ ๒ ครั้ง ในการเดินทางครั้งที่ ๒ เขาผ่านไปทางภาคเหนือของอิตาลี ที่หมู่บ้านซอลเฟริโน (Solferino) ณ ที่นี้เองที่เขาได้เห็นการสู้รบ ระหว่างทหารฝรั่งเศส ซึ่งเขามาช่วยอิตาลีรบกับออสเตรีย เขาเห็นทหาร ๔๐,๐๐๐ จากจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ คน บาดเจ็บล้มตาย โดยไม่มีผู้ใดช่วยเหลือ ด้วยแรงบันดาลใจครั้งนี้ เขาจึงคิดที่จะสร้างองค์การอาสาสมัคร เพื่อดูแลทหารบาดเจ็บในยามสงครามขึ้น | |
| จากความคิดของอังรี ดูนังต์ เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๐๖ ก็ได้มีการจัดตั้ง "คณะกรรมการระหว่างประเทศ เพื่อบรรเทาทุกข์ทหารบาดเจ็บ" (International Committee for the Relief of Wounded Combatants) ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ได้รับการปรับปรุงให้เป็นสภากาชาดสากล (International Commitee of the Red Cross) และได้เจริญเป็นปึกแผ่นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน |
สัญลักษณ์ของกาชาดคือ เครื่องหมายกากบาทแดง อันเป็นการให้เกียรติแก่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดกาชาด แต่เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดว่า เครื่องหมายกากบาทมีความสำคัญทางคริสต์ศาสนา ในอนุสัญญาเจนีวาจึงอนุมัติให้ประชากรมุสลิมใช้เครื่องหมายซีกวงเดือนแดง แทนกากบาทแดง ทั่วโลกถือกันว่า วันที่ ๘ พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันเกิดของอังรี ดูนังต์ เป็นวันที่ระลึกกาชาดสากล และจวบถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๓ สภากาชาดสากลมีสภาชิกรวมทั้งสิ้น ๑๒๖ ประเทศ สภากาชาดแต่ละประเทศตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ร่วม ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยไข้ และบาดเจ็บ ทั้งในยามสงคราม และยามสงบ ตลอดจนการบรรเทาสาธารณภัย โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ชั้น วรรณะ ลัทธิ ศาสนา หรืออุดมคติในทางการเมืองของผู้ประสบภัยพิบัติ นอกจากนี้ยังมีองค์กร ซึ่งทำหน้าที่ประสานงาน ของสภากาชาดไปประเทศต่างๆ เรียกว่า "สันนิบาตสภากาชาด" ซึ่งสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ โดยนายเฮนรี พี. เดวิดสัน (Henry P. Davidson) เป็นผู้ริเริ่ม และในขณะนี้มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ |