เล่มที่ 9
การสาธารณสุข
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ยุคแรก

            เริ่มตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์รวมเป็นเวลา ๓๑๗ ปี ในยุคนี้ คนไทยยังไม่รู้จักการสาธารณสุข เมื่อเจ็บป่วยก็รักษาพยาบาลกันไป โดยใช้ยาแผนโบราณ หรือการบีบนวด การรักษาพยาบาลแผนโบราณของไทยเรา มีที่มาจากประเทศอินเดียเช่นเดียวกับอารยธรรมแขนงอื่น แต่ไม่ได้เข้ามาผสมผสานกับของจีน และความเชื่อถือดั้งเดิมของคนท้องถิ่น จึงเป็นเรื่องของสมุนไพร ผสมผสานกับความเชื่อถือ ทางไสยศาสตร์ และโชคลาง ผู้ที่เป็นหมอแผนโบราณได้รับความรู้ โดยการฝึกสอน ซึ่งอาศัยความจำเป็นหลัก และถ่ายทอดกันมา ในหมู่วงศาคณาญาติ แต่ปิดบังอย่างมิดชิดตามวิสัยของคนไทยโบราณที่หวงวิชา จึงได้สูญหายตายตามเจ้าของตำรับไปเสียมาก ตำรับยาแผนโบราณ ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ยังมีเหลืออยู่จนถึงทุกวันนี้ ไม่ใช่ต้นฉบับเดิม เป็นฉบับที่เขียนขึ้นใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

            สำหรับการแพทย์การสาธารณสุขแบบยุโรปนั้น ประเทศไทยได้รับมาจากอิทธิพลของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สอนศาสนา แต่ในระยะแรกการเผยแพร่ ยังไปไม่ถึงชาวบ้าน คงใช้อยู่ในกลุ่มผู้สอนศาสนาและข้าราชสำนัก ความจริงชาวยุโรปได้เข้ามาในประเทศไทยนานมาแล้ว ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรัชกาล ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งมีฝรั่งมา อยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนพัน มีทั้งบาทหลวง พ่อค้า นายช่าง และทหาร กับคงมีแพทย์มาด้วย เพราะปรากฏ หลักฐานว่าฝรั่งได้ตั้งโรงพยาบาลขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาแห่ง หนึ่ง แต่โดยทั่วๆ ไปแล้ว ยาฝรั่ง และวิธีรักษาโรคแผนใหม่ ส่วนใหญ่คงจะใช้กันอยู่ในหมู่ฝรั่งและผู้ที่ใกล้ชิด ส่วนประชาชนโดยทั่วไปยังไม่รู้จักและเลื่อมใส คงรักษาตัวโดยหมอแผนโบราณตลอดยุคนี้

            เรื่องราวเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ และวิธีการรักษาแผนโบราณในประเทศไทยนี้ นายลาลูแบร์ (Monsieur de la Loubere) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ซึ่งมาเจริญสัมพันธไมตรีในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกไว้ในจดหมายเหตุเมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐ ว่า โรคร้ายแรงที่สุดของชาวสยามคือ โรคป่วง และโรคบิด โรคป่วงคงจะหมายถึง โรคอหิวาตกโรค นอกจากนี้ก็มีโรคไข้จับสั่น คุดทะราด ไข้ทรพิษ และโรคผิวหนัง แต่ "หมอสยาม" ในสายตาของ ลาลูแบร์ ไม่มีความรู้ทางสรีรวิทยา การให้ยาก็ให้ตามอาการเสียเป็นส่วนใหญ่ และเป็นสูตรที่จำมาจากบิดามารดา ครูบาอาจารย์ การรักษา ใช้ทั้งการนวดและการให้ยาสมุนไพร และมีการงดของแสลง เมื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วย

            จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ในยุคแรกนี้ไม่มีงานด้านสาธารณสุขปรากฏมากนัก นอกจากจะมีคณะบาทหลวงชาวอิตาลี มาเริ่มงานสุขาภิบาลในเมืองลพบุรี ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมาช่วยวางแผนผังระบบส่งน้ำ จากทะเลชุบศร เข้ามาในตัวเมืองลพบุรี ซึ่งต่อมาคณะบาทหลวงทั้งชาวอิตาลีและฝรั่งเศส ก็ได้ช่วยกันสร้างท่อส่งน้ำและถังเก็บน้ำ นำน้ำเข้ามาใช้บางแห่งในตัวเมืองลพบุรีเป็นผลสำเร็จ

แผนผังตัวเมืองลพบุรีสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทิศทางตามลูกศรชี้นั้นแสดงการนำน้ำจากแหล่งต่าง ๆ เข้ามาใช้ในตัวเมืองแผนผังตัวเมืองลพบุรีสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทิศทางตามลูกศรชี้นั้น แสดงการนำน้ำจากแหล่งต่างๆ เข้ามาใช้ในตัวเมือง