เล่มที่ 32
เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ
เล่นเสียงเล่มที่ 32 เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            ประเทศต่างๆ ที่มีดินแดนติดต่อกัน ย่อมต้องมีเส้นแบ่งเขตแดนกำหนดไว้ชัดเจน เพื่อให้รู้ว่า อาณาเขตของแต่ละประเทศ ไปสิ้นสุดลง ณ ที่ใด ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้มีการรุกล้ำดินแดนซึ่งกันและกัน

            ในสมัยโบราณ การแบ่งเขตดินแดนกระทำกันอย่างคร่าวๆ โดยถือว่า ดินแดนที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศ หรืออาณาจักรใด อาณาเขตของประเทศ หรืออาณาจักรที่เป็นผู้ปกครอง ก็จะครอบคลุมไปถึงดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองนั้น โดยไม่ได้ระบุชัดเจนว่า มีแนวเส้นแบ่งเขตแดนอยู่ ณ ที่ใด ตัวอย่างเช่น ดินแดนของอาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรอยุธยา ไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัดว่า มีเส้นแบ่งเขตแดนกับประเทศหรืออาณาจักรอื่นๆ อยู่ ณ ที่ใด

            แนวความคิด เกี่ยวกับการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดน เริ่มมีขึ้นในสมัยที่ชาวยุโรปเดินเรือไปแสวงหาอาณานิคมในทวีปต่างๆ ได้มีการทำสงคราม การทำความตกลงระหว่างชาวยุโรปด้วยกันเอง หรือกับชาวพื้นเมือง เพื่อแบ่งปันดินแดนที่ชาวยุโรปเข้าไปปกครอง เป็นอาณานิคมของตน ประเทศไทยมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ต่อเนื่องมาถึงในรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ถึงแม้ว่าไทยจะเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สามารถรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไว้ได้ แต่ไทยก็ต้องยอมเสียดินแดนกัมพูชา และลาวให้แก่ฝรั่งเศส และเสียดินแดนตอนบนของคาบสมุทรมลายูให้แก่อังกฤษ พร้อมกันนั้น ก็มีการทำสนธิสัญญากำหนดแนวเส้นแบ่งเขตแดน ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และอังกฤษ ดังกล่าว


ภาพจากดาวเทียม IKONOS เชื่อมต่อกับภาพจากดาวเทียม SPOT5 แสดงแม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งเขตแดนประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่จังหวัดเชียงราย

            ในระยะเวลาต่อมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเส้นแบ่งเขตแดนกันอีกหลายครั้ง แต่สาระสำคัญของเส้นแบ่งเขตแดน ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ยังคงเป็นไปตามสนธิสัญญาที่ไทยทำไว้กับฝรั่งเศส และอังกฤษ เมื่อครั้งทั้ง ๒ ประเทศ ยังปกครองดินแดนของประเทศเพื่อนบ้านเป็นอาณานิคมของตน

เส้นแบ่งเขตแดน โดยทั่วไปแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ เส้นแบ่งเขตแดนตามธรรมชาติ และเส้นแบ่งเขตแดนที่สร้างขึ้น

            เส้นแบ่งเขตแดนตามธรรมชาติ หมายถึง เส้นแบ่งเขตแดน ที่อาศัยลักษณะภูมิประเทศ ที่เด่นชัดเป็นแนวแบ่ง เช่น ทิวเขา ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเลสาบ ทะเลทราย ส่วนเส้นแบ่งเขตแดน ที่สร้างขึ้น หมายถึง เส้นแบ่งเขตแดนที่กำหนดขึ้น โดยไม่ได้อาศัยลักษณะภูมิประเทศ เช่น อาจเป็นเส้นตรงเชื่อม ๒ จุด หรือใช้แนวเส้นละติจูด และลองจิจูดเป็นแนวแบ่ง หรือใช้ความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นเป็นแนวแบ่ง

            เส้นแบ่งเขตแดนของประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนตามธรรมชาติ โดยอาศัยทิวเขา และแม่น้ำ เป็นแนวแบ่ง แต่ก็มีเส้นแบ่งเขตแดนแบบเป็นเส้นตรงอยู่ในพื้นที่บางแห่ง รวมความยาวของเส้นแบ่งเขตแดนทั้งหมด ๕,๖๕๕ กิโลเมตร ประเทศที่มีเส้นแบ่งเขตแดนกับประเทศไทยยาวมากที่สุด คือ พม่า ยาว ๒,๔๐๑ กิโลเมตร ส่วนประเทศที่มีเส้นแบ่งเขตแดนกับประเทศไทยสั้นที่สุด คือ มาเลเซีย ยาวเพียง ๖๔๖ กิโลเมตร

การใช้ทิวเขาเป็นเส้นแบ่งเขตแดน ส่วนใหญ่จะใช้ สันปันน้ำ เป็นแนวแบ่ง สันปันน้ำ คือ แนวของสันเขาที่แบ่งน้ำ ให้ไหลแยกออกจากกันไปในทิศทางตรงกันข้าม ส่วนการใช้แม่น้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดน อาจใช้ร่องน้ำลึก หรือเส้นแบ่งกึ่งกลางลำน้ำ หรือ ฝั่ง ๒ ข้าง ของลำน้ำ แล้วแต่จะตกลงกัน


ภาพถ่ายจากดาวเทียม LANDSAT5 บันทึกข้อมูลเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘ แสดงบริเวณทิวเขาหลวงพระบาง ซึ่งแบ่งเขตแดนระหว่างไทย - ลาว

            ทิวเขาที่ใช้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนของประเทศไทย ได้แก่ ทิวเขาแดนลาว ทิวเขาถนนธงชัยเหนือ ทิวเขาถนนธงชัยตะวันตก และทิวเขาตะนาวศรี ซึ่งแบ่งเขตแดนไทยกับพม่า ทิวเขาหลวงพระบาง แบ่งเขตแดนไทยกับลาว ทิวเขาพนมดงรัก และทิวเขาบรรทัด แบ่งเขตแดนไทยกับกัมพูชา และทิวเขาสันกาลาคีรี แบ่งเขตแดนไทยกับมาเลเซีย

            แม่น้ำที่ใช้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนของประเทศไทยมีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น แม่น้ำสาย แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำเมย แม่น้ำกระบุรี ซึ่งแบ่งเขตแดนไทยกับพม่า แม่น้ำเหืองและแม่น้ำโขง แบ่งเขตแดนไทยกับลาว แม่น้ำโก-ลก แบ่งเขตแดนไทยกับมาเลเซีย

            นอกจากเส้นแบ่งเขตแดนทางบกกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยยังมีอาณาเขตบางส่วนในภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ อยู่ติดต่อกับฝั่งทะเล ทั้งทางด้านอ่าวไทย และทางด้านทะเลอันดามัน รวมความยาวของฝั่งทะเล ทั้งหมด ๓,๑๐๓ กิโลเมตร จังหวัดที่มีฝั่งทะเลยาวที่สุด คือ พังงา ยาว ๒๖๒.๕ กิโลเมตร ส่วนจังหวัดที่มีฝั่งทะเลสั้นที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร ยาวเพียง ๓.๕ กิโลเมตร อยู่ที่เขตบางขุนเทียน


แม่น้ำโก-ลก แบ่งเขตแดนไทยกับมาเลเซีย ในเขตจัวหวัดนราธิวาส

            การมีดินแดนบางส่วนอยู่ติดต่อกับฝั่งทะเล ทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากกฎหมายทะเล ซึ่งเป็นข้อตกลง ระหว่างประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ โดยกฎหมายนั้นได้แบ่งน่านน้ำของทะเลต่างๆ ออกเป็น ๖ ส่วน ประกอบด้วย น่านน้ำภายใน ทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่อง ไหล่ทวีป เขตเศรษฐกิจจำเพาะ และทะเลหลวง ประเทศที่มีชายฝั่งทะเลมีสิทธิควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์ จากส่วนต่างๆ ของทะเลได้มากน้อยตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ยกเว้นทะเลหลวง ซึ่งเปิดเสรีให้ทุกประเทศใช้ประโยชน์ได้เท่าเทียมกัน การมีกฎหมายทะเล ทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ ในการขยายดินแดนของประเทศ ซึ่งเดิมมีเฉพาะบนบก ให้ยาวต่อออกไปในทะเลด้วย

            เนื่องจากในทะเลที่อยู่ห่างจากฝั่งออกไป มีแต่พื้นน้ำเวิ้งว้าง ไม่มีลักษณะภูมิประเทศที่สังเกตได้เด่นชัด ดังนั้น เส้นแบ่งอาณาเขตในทะเลจึงใช้วิธีลากเส้นตรง เชื่อมจุดต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยแต่ละจุดกำหนดที่ตั้งด้วยการวัด เป็นองศาละติจูด และลองจิจูดบนพื้นผิวโลก หรือเป็นมุมวัดจากแนวชายฝั่งออกไป