เด็กทุกคนที่เกิดมา ล้วนต้องการให้บิดามารดาหรือผู้ใหญ่อบรมเลี้ยงดูให้มีชีวิตรอดปลอดภัย และเจริญเติบโตจนกระทั่ง สามารถพึ่งตนเองได้ เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องการได้รับการดูแลรักษา และเมื่อมีอายุ ๖ ปี ก็ควรได้รับโอกาสในการศึกษาเล่าเรียน เหล่านี้ล้วนเป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นสิทธิที่เด็กทุกคนควรได้รับ ในฐานะที่เกิดมาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง และยังอยู่ในวัยที่ต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ ยังไม่สามารถพึ่งตนเองได้อย่างเต็มที่
เด็กควรได้รับโอกาสในการศึกษา ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกคนพึงได้รับ
หากผู้ใหญ่ละเลยทอดทิ้งเด็ก ไม่เลี้ยงดูให้เด็กได้กินอย่างเพียงพอ และอยู่อย่างปลอดภัย ทำร้ายเด็กอย่างรุนแรง กักขังเด็ก หรือใช้แรงงานเด็กเกินขอบเขต ถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก ผู้ใหญ่ที่กระทำดังกล่าวจะต้องได้รับโทษ และเด็กจะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากรัฐ
รัฐให้การปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็ก เนื่องจากเด็กมี "สิทธิมนุษยชน" อันเป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ ในฐานะที่เกิดมาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เสมอภาคกัน ไม่ควรที่จะได้รับการดูถูก เหยียดหยาม ข่มเหง รังแก หรือถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในด้านต่างๆ เช่น ด้านเชื้อชาติ สีผิว รูปร่างหน้าตา เพศ ฐานะ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม สิทธิมนุษยชนเป็นคุณธรรมสากลที่เน้นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ถือว่ามนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคกันทั้งศักดิ์ศรี และสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
เด็กที่ถูกละเมิดสิทธิ โดยการใช้แรงงานเกินขอบเขต ต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ
ในอดีตประชาชนในหลายๆ ประเทศถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนกันมาก ประเทศหรือบุคคลที่มีอำนาจมาก มีการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม เช่น การทำทารุณกรรมต่อเชลยศึก การบังคับให้ทาสทำงานอย่างหนัก การข่มเหงสตรีและเด็ก การเหยียดผิว การจำกัดสิทธิคนผิวดำ การใช้แรงงานเด็ก การบังคับหรือล่อลวงสตรีให้เป็นโสเภณี เหล่านี้เป็นปัญหาที่คล้ายคลึงกัน ของประเทศต่างๆ ใน ค.ศ. ๑๙๔๕ ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงได้มีการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น โดยมีผู้นำของประเทศสมาชิก ๕๐ ประเทศ ร่วมลงนาม ในกฎบัตรสหประชาชาติ และได้จัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เพื่อปกป้องคุ้มครองกลุ่มชนต่างๆ เช่น กลุ่มเด็กและสตรี กลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มคนพิการ ผู้ลี้ภัย ชนกลุ่มน้อยต่างๆ การประชุมดังกล่าวส่งผลให้เกิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งต่อมาได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติ ใน ค.ศ. ๑๙๔๘ และถือว่าเป็นข้อผูกพันทางศีลธรรมที่ประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย พร้อมใจกันปฏิบัติตาม
สิทธิมนุษยชนเป็นคุณธรรม ที่ปรากฏอยู่ในศาสนาทุกศาสนา เช่น ในพระพุทธศาสนา มีบทบัญญัติของศีล ๕ ซึ่งว่าด้วย การห้ามทำลายชีวิต และมีความเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะบรรลุธรรมเพื่อความหลุดพ้น
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มอบรางวัล "ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน" ให้แก่บุคคลที่มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๙
เพื่อเชิดชูเกียรติในฐานะเป็นผู้ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน