เล่มที่ 32
หนังสือโบราณของไทย
เล่นเสียงเล่มที่ 32 หนังสือโบราณของไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            การที่ความรู้ ความคิด ความเชื่อ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะ และวัฒนธรรมของไทยในอดีต มิได้สูญหายไปตามกาลเวลา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบรรพบุรุษของไทยได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ไว้ในหนังสือโบราณ ซึ่งมี ๒ ประเภท คือ หนังสือใบลาน และ หนังสือสมุดไทย


การคัดเลือกใบลานที่มีขนาดพอเหมาะ และคุณภาพดี เพื่อนำมาทำหนังสือใบลาน

            หนังสือใบลาน เป็นหนังสือที่ใช้วิธีเขียนตัวหนังสือซึ่งเรียกว่า การจาร ลงบนใบของต้นลาน ใบลานที่มีคุณภาพดี ขนาดพอเหมาะ คือ ใบอ่อนที่สองซึ่งเพิ่งเริ่มคลี่ใบออก เพราะเส้นใยไม่เหนียวมาก ใบเรียบเนียน ไม่กรอบแตกง่าย เมื่อตัดใบแล้วจะทิ้งตากแดด ตากน้ำค้าง ประมาณ ๓ วัน ๓ คืน แล้วจึงมัดรวมกัน จากนั้น นำมาเจียนก้านออก แล้วซ้อนกันประมาณ ๒๐ - ๓๐ ลาน ขดม้วนให้กลม มัดด้วยเชือก แล้วนำไปแช่น้ำประมาณ ๒๔ ชั่วโมง บางท้องถิ่นนำไปต้มในน้ำซาวข้าว หลังจากนั้น นำออกตากให้แห้ง ประมาณ ๒ วัน

            เมื่อใบลานแห้งสนิทแล้ว คลี่ออกจากม้วน เช็ดทำความสะอาดทีละใบ แล้วจึงนำมาใส่ขนอบ ซึ่งเป็นพิมพ์สำหรับแทงลาน ขนอบทำจากไม้ ขนาดเท่าใบลาน ใช้ประกับด้านหน้า และด้านหลังรวม ๒ อัน เมื่อจัดเรียงใบลานซ้อนกันได้ประมาณ ๑๐ - ๒๐ ใบ และประกบด้วยขนอบแล้ว ใช้มีดคมบางๆ ตัดลานให้เสมอและได้ระดับกับขอบขนอบทั้งสี่ด้าน จากนั้นใช้ก้านลาน หรือที่เรียกว่า ไม้กลัด ร้อยลานเข้าด้วยกันตามรูที่เจาะไว้ให้ได้ ๑ กับ เท่ากับ ๕๐๐ ใบ มัดเป็น ๓ ตอน ใช้ขนอบประกบหน้า - หลัง อาจอัดด้วยเครื่องอัดลานให้แน่น จากนั้นนำไปอบในเตาอบให้แห้งสนิทเพื่อป้องกันเชื้อรา


            ใบลานแต่ละกับที่แห้งแล้ว จะนำมาแกะออกทำความสะอาดทีละใบ โดยใช้ทรายละเอียดคั่วร้อนโรยบนหน้าลาน แล้วใช้ลูกประคบขัดให้ผิวหน้าลานเรียบเกลี้ยง ใช้ผ้าแห้งเช็ดทำความสะอาดอีกครั้ง จากนั้นใช้เหล็กแหลมเผาไฟ เจาะตามช่องร้อย ที่แทงไว้ตอนแรก แล้วจัดใบลานเข้าผูก ผูกหนึ่งมี ๒๔ ใบ ใบลานนี้พร้อมใช้จารหนังสือได้ทันที


การร้อยใบลาน โดยใช้ไม้กลัดให้ได้ ๑ กับ เท่ากับ ๕๐๐ ใบ

            การเขียนหนังสือโบราณจะใช้ เหล็กจาร จารตัวหนังสือให้เป็นรอยลึกในเนื้อลาน เหล็กจารเป็นเหล็กปลายแหลม มีด้ามถือ ทำด้วยไม้ หรือเขาสัตว์ ในขณะที่จารหนังสือ จะต้องฝนเหล็กจารให้แหลมคมตลอดเวลา เพื่อเส้นอักษรจะได้เรียบงดงาม ผู้จารจะต้องระวังในการผ่อนน้ำหนักมือให้เหมาะสม ถ้าเบาเกินไป เส้นตัวหนังสือจะขาด ถ้าหนักเกินไป ใบลานจะทะลุ

            หลังจากจารข้อความหมดแล้ว จะลบหน้าลาน โดยใช้ลูกประคบชุบเขม่าไฟผสมน้ำมันยางลูบไปมาให้ทั่ว เพื่อให้สีดำของเขม่าไฟ ฝังในร่อง ที่เป็นรูปอักษร แล้วใช้ทรายละเอียดคั่วร้อนโรยบนหน้าลาน ใช้ลูกประคบสะอาดถูไปมาหลายครั้ง เพื่อลบผิวหน้าลานให้ขาวสะอาด ทำให้ลายเส้นอักษรผุดขึ้นเป็นสีดำอย่างเด่นชัด


การอัดใบลานด้วยเครื่องอัดลาน

            คัมภีร์ใบลานที่จารข้อความแล้ว อาจมีการตกแต่งให้สวยงามเข้าชุดกัน ทั้งตัวคัมภีร์และไม้ประกับ โดยตกแต่งที่ปกหน้า ปกหลัง ขอบคัมภีร์ ไม้ประกับหน้า-หลัง ด้วยลายรดน้ำ ประดับมุก ประดับกระจก หรือปิดทอง คัมภีร์ใบลานที่มีการตกแต่ง จะเรียกชื่อตามลักษณะการตกแต่งนั้น เช่น คัมภีร์ใบลานฉบับทองทึบ ฉบับล่องชาด ฉบับล่องชาดรดน้ำดำ ไม้ประกับก็เรียกตามลักษณะการตกแต่ง เช่น ไม้ประกับประดับมุก ไม้ประกับลายรดน้ำ

            ในการอ่านหรือแปลคัมภีร์ใบลาน จะวางคัมภีร์ไว้บนกากะเยีย ซึ่งทำจากไม้แท่งกลมยาว ๘ อัน ร้อยด้วยเชือก เมื่อกางออก จะเป็นเหมือนโต๊ะสี่เหลี่ยม สำหรับรองรับใบลาน