ของใช้ของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาซึ่งกำหนดไว้ในพระวินัย ที่เรียกกันว่า อัฐบริขาร ประกอบด้วย ๘ สิ่ง คือ สบง (ผ้านุ่ง) จีวร (ผ้าห่ม) สังฆาฏิ (ผ้าพาดบ่า) รัดประคด (ผ้าคาดเอว) บาตร มีดโกน เข็มเย็บผ้า และหม้อกรองน้ำ แต่ยังมีของอีกสิ่งหนึ่ง ที่ไม่รวมอยู่ในอัฐบริขาร และเป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่ได้รับกิจนิมนต์ จะต้องนำไปด้วย เพื่อใช้ประกอบพิธีทางศาสนา ก็คือ ตาลปัตร หรือพัดพระ
ตาลปัตรและอัฐบริขารของพระสงฆ์
ความหมาย ที่มา และพัฒนาการ
ตาลปัตร มาจากคำ ๒ คำ คือ ตาล เป็นต้นไม้ประเภทปาล์ม มีใบใหญ่ รวมกับคำ ปัตร แปลว่า ใบ ตาลปัตรจึงมีความหมายตามคำว่า ใบตาล
ชาวบ้านตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาลในประเทศอินเดียและลังกา ใช้ใบตาลนี้มาตัดแต่งให้เป็นพัดมีด้าม ใช้พัดโบกลมและบังแดด มีหลักฐานในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาหลายเล่ม กล่าวว่า พระก็ใช้พัดชนิดนี้ และถือไปเวลาแสดงธรรมด้วย จึงได้เรียกว่า ตาลปัตร เมื่อชาวบ้านเห็นพระสงฆ์ใช้พัดใบตาลก็คิดทำตาลปัตรถวาย เพื่อจะได้บุญกุศล โดยหาสิ่งอื่นที่จะทนทานกว่าใบตาล เช่น ไม้ไผ่สาน ผ้าไหม ผ้าแพร หุ้มเข้ากับโครงไม้ไผ่ให้แข็งแรงขึ้น ปักตกแต่งอย่างสวยงาม ถวายแก่พระสงฆ์ที่เคารพนับถือ ตาลปัตรที่เป็นพัดใบตาลเดิมจึงมีรูปลักษณะเปลี่ยนแปลงไป มีความสวยงามสุดแต่กำลังศรัทธาของผู้ทำถวาย พระเจ้าแผ่นดินก็โปรดให้ทำถวายพระด้วย ต่อมาจึงเกิดมีการถวายตาลปัตร ที่วิจิตรงดงามเป็นเครื่องประกอบ ตามสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ขึ้น เรียกว่า พัดยศ
จิตรกรรมฝาผนัง ที่วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร แสดงภาพพระสงฆ์ถือตาลปัตรพัดยศ เข้าสู่พระทวารในพระบรมมหาราชวัง
วัตถุประสงค์การใช้
กล่าวได้ว่า ตาลปัตรและพัดยศ มีวิวัฒนาการมาจากพัดใบตาลเป็นเริ่มแรก ส่วนประเพณีปฏิบัติที่พระสงฆ์ถือตาลปัตร ในการสวดแสดงธรรม และการถวายพัดยศเป็นเครื่องประกอบสมณศักดิ์นั้น มีหลักฐานที่เชื่อได้ว่ามีมานานแล้ว โดยไทยรับมาจากลังกา เมื่อครั้งที่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เผยแผ่เข้ามายังดินแดนไทย ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ หรือก่อนสมัยสุโขทัย และได้รับความเลื่อมใสศรัทธาอย่างมาก ต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ดังนั้น จึงรับเอาประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ ตามที่พระสงฆ์ลัทธิลังกาวงศ์ถือปฏิบัติเข้ามาด้วย หลักฐานที่แสดงว่าพระสงฆ์ถือตาลปัตรเวลาจะไปแสดงธรรม และใช้บังหน้า ในเวลาสวดธรรม ปรากฏให้เห็นทั้งที่กล่าวไว้ในคัมภีร์และหนังสือที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาหลายเล่ม รวมทั้งประติมากรรม ศิลาจารึก และจิตรกรรมฝาผนัง ตามยุคสมัยต่างๆ
อย่างไรก็ดี ไม่มีหลักฐานที่ระบุแน่ชัดว่า พระสงฆ์ถือตาลปัตรในเวลาแสดงธรรมเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด และเหตุใด จึงต้องใช้บังหน้าในขณะสวดด้วย มีผู้รู้สันนิษฐานว่า พระสงฆ์อาจจะใช้เมื่อต้องปลงศพ เพื่อกันกลิ่นเหม็นจากศพที่เน่าเปื่อย เมื่อจะชักผ้าบังสุกุลที่ห่อศพ เพื่อนำไปทำจีวร จึงใช้พัดใบตาลนี้ปิดจมูกกันกลิ่นเหม็น ทำให้เกิดเป็นประเพณีของพระสงฆ์ ที่จะถือตาลปัตรไปด้วย เมื่อจะทำพิธีต่างๆ บ้างก็ว่า เนื่องจากสภาพจิตใจของผู้ที่มาฟังธรรมมีหลายระดับ ดังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับ พระกัจจายนเถระ พระสาวกองค์สำคัญ ซึ่งมีรูปงามว่า ขณะที่ท่านแสดงธรรมโปรดผู้มาฟังธรรม มีสตรีบางคนหลงรักท่าน ด้วยจิตอันไม่บริสุทธิ์นี้ก่อให้เกิดบาปขึ้น พระกัจจายนเถระจึงอธิษฐานขอให้มีรูปไม่งามเสีย เราจึงเห็นพระกัจจายนเถระมีรูปร่างอ้วนพุงพลุ้ย ไม่งดงาม ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์จึงต้องหาเครื่องบังหน้าในขณะสวด เพราะประสงค์ให้ผู้ฟังมีสมาธิในการฟังธรรม ข้อสันนิษฐานนี้สอดคล้องกับที่มีกล่าวไว้ในหนังสือ วิมติวิโนทนี ฎีกาวินัยปิฎก แสดงวัตถุประสงค์ของการที่พระสงฆ์ใช้พัดบังหน้าในเวลาสวดแสดงธรรมว่า เพื่อป้องกัน หัตถวิการ คือ การยกไม้ยกมือในเวลาพูด หรือแสดงอย่างหนึ่ง เพื่อป้องกัน มุขวิการ คือ การอ้าปากกว้าง ซึ่งทำให้น่าเกลียดอย่างหนึ่ง และป้องกันมิให้เป็น วิสภาคารมณ์ อันจะทำให้ใจฟุ้งซ่าน ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การที่พระสงฆ์ใช้ตาลปัตรบังหน้าในขณะสวดนั้น ก็เพื่อให้มีความสำรวม และมีสมาธิ
พระสงฆ์ใช้ตาลปัตรบังหน้า เมื่อชักผ้าบังสุกุล ในการสวดพระอภิธรรมศพ
ปัจจุบัน ตาลปัตรที่พระสงฆ์ใช้ในพิธีกรรมทั่วๆ ไปมีลักษณะคล้ายรูปไข่ เรียกว่า พัดหน้านาง ด้านบนมนและกว้างกว่าด้านล่าง ตรงกลางมีด้ามยาว ตาลปัตรเป็นของใช้จำเป็นที่พระสงฆ์ต้องใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา ทั้งที่เป็นงานมงคลหรืองานบุญ เช่น งานวันเกิด งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงานหรืองานเทศกาลต่างๆ โดยพระสงฆ์จะใช้ตาลปัตรมื่อจะให้ศีลและให้พร หรืออนุโมทนาแก่เจ้าภาพ และผู้มาร่วมงาน สำหรับงานอวมงคลอย่างงานศพ ในการสวดพระอภิธรรมศพ พระสงฆ์ก็จะใช้ตาลปัตรบังหน้าขณะสวดพระอภิธรรม และจะถือตาลปัตรในมือซ้าย แต่ไม่ใช้บังหน้า เมื่อชักผ้าบังสุกุลก่อนการเผาศพ
นอกจากนี้ ยังมีตาลปัตรอีกชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า พัดรอง ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นให้พระสงฆ์ใช้แทนพัดใบตาลที่มีลักษณะงองุ้ม ซึ่งมีรูปร่างไม่สวย พัดรองที่ทำขึ้นในชั้นแรกนั้น ใช้ผ้าเลี่ยน หรือผ้าลาย หุ้มโครงไม้ไผ่ที่เป็นกรอบลักษณะรูปไข่ ภายหลังจึงพลิกแพลงปัก และตกแต่งให้สวยงาม พัดรองนี้ในรัชกาลต่อๆ มา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับพระราชทานเป็นที่ระลึกในโอกาสมีงานพระราชพิธีต่างๆ ทั้งงานพระราชพิธีที่เป็นมงคล และงานพระศพด้วย