เราคงไม่คุ้นเคยกับคำว่า "การยศาสตร์" เพราะเริ่มมีใช้เมื่อไม่นานนัก คำนี้มาจากภาษาอังกฤษ ซึ่งใช้ในยุโรปมาประมาณ ๖๐ ปี คือ คำว่า "Ergonomics" ส่วนในสหรัฐอเมริกานิยมใช้ว่า "Human Factor" ซึ่งแปลว่า ปัจจัยมนุษย์ หรือ "Human Engineering" ที่แปลว่า "วิศวกรรมมนุษย์" มากกว่า สาเหตุเพราะในตอนแรก นักวิชาการในทวีปยุโรป และสหรัฐอเมริกา มีความเห็นแตกต่างกัน เกี่ยวกับความหมายของ "การยศาสตร์" โดยยุโรปเน้นความสำคัญในด้านกายภาพ คือ ความคล่องแคล่วสะดวกสบายในการทำงานของร่างกาย ส่วนสหรัฐอเมริกาเน้นความสำคัญในด้านจิตวิทยา คือ ความสำคัญด้านอารมณ์และจิตใจของผู้ใช้ เครื่องมืออุปกรณ์ หรืออยู่ในสถานการณ์ต่างๆ มากกว่า ปัจจุบัน นักวิชาการส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญทั้งสองด้านเท่าๆ กัน
หุ่นจำลองแสดงให้เห็นถึงการออกแบบอุปกรณ์หรืออาวุธที่ใช้ล่าสัตว์ในสมัยโบราณ
มนุษย์ได้ใช้หลักของการยศาสตร์มาแต่โบราณ อาทิ เลือกหินและไม้ที่เหมาะสมกับรูปร่าง และการทำงานด้วยมือ มาใช้ในการล่าสัตว์ พันด้ามอาวุธด้วยผ้า เพื่อให้จับได้แน่นและง่ายขึ้น การพัฒนาการยศาสตร์ มีขึ้นพร้อมๆ กับความก้าวหน้า ของศาสตร์อื่นๆ เช่น กายวิภาคศาสตร์ ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์การแพทย์ เกี่ยวกับโครงสร้างของร่างกาย โดยศึกษาเป็นส่วนๆ สรีรวิทยา ซึ่งเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายของสิ่งมีชีวิต จิตวิทยา อันเป็นวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับจิตใจ กระบวนความคิด และพฤติกรรมของมนุษย์ นักการยศาสตร์สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือระบบต่างๆ ให้เหมาะสมกับมนุษย์ ซึ่งมีความหลากหลายทั้งด้านรูปร่าง ความสามารถทางร่างกาย และความรู้สึกนึกคิด ต้องมีความรู้พื้นฐานที่สำคัญหลายอย่าง เช่น มิติต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ อาทิ ต้องทราบว่า ส่วนต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ทั่วไปมีขนาดเท่าไร ความสูงขณะยืนและนั่ง ระดับสายตาในขณะยืนและนั่ง การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ อาทิ ระบบการหายใจ ระบบการไหลเวียนของเลือด ระบบการย่อยอาหาร อีกอย่างคือ ความรู้ทางระบบประสาทและจิตวิทยา ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบความคิดที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ ความเครียด การตอบสนองต่อความเครียด นักการยศาสตร์ต้องประเมินความยากง่ายของงาน ไม่ให้ง่ายเกินไปจนเบื่อ หรือยากเกินไปจนเครียด รวมทั้งการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งแวดล้อม ดังเช่น มนุษย์ตอบสนองต่อสภาวะรุนแรงผิดปกติ อาจเป็นร้อนมาก หนาวมาก อยู่บนที่สูงใต้ ทะเลลึก ซึ่งมีระดับความดันอากาศแตกต่างกันไป เพื่อออกแบบเครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์ต่างๆ ของคนที่จะต้องอยู่ในสภาวะพิเศษ เช่น นักประดาน้ำ นักบินอวกาศ
นอกจากนี้ รอบเวลาในการทำงานของร่างกาย ก็มีความสำคัญ ที่การยศาสตร์จำเป็นต้องทราบ เพราะระบบต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ มีการทำงานที่ต่างกัน ระหว่างเวลากลางวันกับกลางคืน เช่น อุณหภูมิในร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันเลือด การทำงานของฮอร์โมนต่างๆ ที่เป็นไปตามนาฬิกาของร่างกาย
ชุดประดาน้ำและอุปกรณ์ดำน้ำต้องออกแบบให้เหมาะกับสภาวะใต้ทะเลลึก
ในชีวิตประจำวัน และในวงการอุตสาหกรรม มีการนำการยศาสตร์ไปใช้หลายอย่าง แบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ได้ดังนี้
- ป้องกันอุบัติเหตุ และการบาดเจ็บ เนื่องจากการทำงาน ด้วยการออกแบบอุปกรณ์ เครื่องมือ หรือเครื่องจักร และสถานที่ทำงาน เพื่อให้ร่างกาย มีการเคลื่อนไหว ที่ทำให้คนทำงาน เกิดการเจ็บป่วยน้อยที่สุด จากการเคลื่อนไหว ในท่าใดท่าหนึ่ง หรือทำงาน ในท่าใดท่าหนึ่ง นานเกินไป หรือจัดสภาพแวดล้อม ให้เกิดความสะดวกสบาย ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ เช่น ไม่ร้อนเกินไป เสียงไม่ดังเกินไป เพื่อลดความผิดพลาด และอุบัติเหตุ
- เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของคนในการใช้เครื่องมือเครื่องจักรต่างๆ ด้วยการวิเคราะห์งานที่ต้องใช้เครื่องมือเหล่านั้น แล้วจึงออกแบบให้คนใช้เกิดปัญหาน้อยแต่ได้งานที่ดี ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงทักษะที่ผู้ปฏิบัติต้องมีวิธีการปฏิบัติงาน ที่เหมาะสมต่อร่างกาย จิตใจ และสังคมในที่ทำงาน ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตมากที่สุด
- ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับการใช้ เช่น ออกแบบพื้นที่และอุปกรณ์ภายในห้องโดยสารรถยนต์ ให้ตำแหน่งของที่นั่ง เหมาะสำหรับคนขับและผู้โดยสาร ซึ่งมีรูปร่างแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะสูง เตี้ย อ้วน ผอม หรือหญิงมีครรภ์ สามารถเข้าไปนั่ง หรือขับได้อย่างสะดวกสบาย
- ออกแบบสัญลักษณ์ ป้ายบอกทางต่างๆ คู่มือในการปฏิบัติงาน หรือการใช้เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่พบเห็น ผู้อ่าน เข้าใจได้ง่าย ตลอดจนวิธีนำเสนอสื่อต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ให้ผู้คนสนใจที่จะอ่าน และผู้ที่ต้องการจะรู้ข้อมูล สามารถหาข้อมูลได้สะดวก
ในโรงงานอุตสาหกรรมมีการนำหลักการยศาสตร์มาใช้ในการออกแบบอุปกรณ์ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ
ตัวอย่างหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นความสำคัญของการออกแบบตามหลัก การยศาสตร์ คือ การออกแบบสถานที่ทำงานในสำนักงาน ซึ่งต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันส่วนใหญ่มีคอมพิวเตอร์ รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่เป็นระบบให้เหมาะสม ผู้ปฏิบัติงานมีความสะดวกสบายในการทำงาน อันจะทำให้เกิดผลงานที่ดี ในเรื่องนี้ คาร์ล โครเมอร์ และคณะ ได้แนะนำว่า ในการออกแบบให้คำนึงถึงสิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างคนกับงานด้วย