เราแบ่งพืชตามลักษณะการใช้ประโยชน์ออกเป็น พืชเส้นใย พืชอาหารสัตว์ และพืชน้ำมัน
พืชน้ำมัน
พืชน้ำมันมีหลายชนิด เราเพาะปลูกกัน เพื่อนำมาสกัดเอาน้ำมันออกใช้ประโยชน์ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง มะพร้าว ปาล์ม ฯลฯ
น้ำมันที่ใช้ปรุงอาหารได้ต้องเป็นพวกน้ำมันจากพืชหรือน้ำมันสัตว์ ไม่ใช่น้ำมันแร่ น้ำมันแร่เป็นน้ำมันที่สูบขึ้นมาจากใต้ดิน นำมากลั่นออกเป็นส่วนๆ ซึ่งจะนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ได้ เช่น ใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น และใช้ทำผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมหลายชนิด แต่จะนำมาใช้เป็นอาหาร หรือประกอบอาหารไม่ได้ น้ำมันพืช และ น้ำมันสัตว์ เป็นสารประกอบทางอินทรีย์เคมี ส่วนประกอบภายในส่วนหนึ่งเป็นกรดไขมัน กรดไขมันนั้น ยังแบ่งเป็นสองพวกใหญ่ๆ คือ พวกกรดไขมันอิ่มตัว และ พวกกรดไขมันไม่อิ่มตัว
พวกกรดไขมันอิ่มตัวนั้น ร่างกายดูดซึมเอาไปใช้ประโยชน์ได้น้อย และอาจสะสมตัวเกาะติดกับผนังด้านในของเส้นเลือด ทำให้เกิดการอุดตัน และเส้นเลือดเปราะแตกได้ง่าย เราจึงมักเลือกบริโภคน้ำมัน ที่มีส่วนประกอบเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเป็นส่วนประกอบ เพื่อระมัดระวังอันตรายดังกล่าว
น้ำมันพืชบริสุทธิ์จะมีลักษณะใสกว่าน้ำมันจากสัตว์
เราควรทราบด้วยว่า น้ำมันพืชบางชนิดก็ใช้เป็นอาหารไม่ได้ เพราะมีสารเป็นพิษ เช่น น้ำมันจากเมล็ดละหุ่ง เป็นต้น แต่สามารถใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้
นอกจากจะนำมาสกัดเอาน้ำมันแล้ว กากที่เหลือของพืชน้ำมันหลายชนิดมีโปรตีนสูง จึงใช้เป็นอาหารคนและสัตว์ได้ ทำให้มีการเพาะปลูกพืชน้ำมันกันทั่วโลกหลายสิบชนิด เพื่อใช้บริโภคภายในประเทศ และเพื่อส่งขายเป็นสินค้าออก ทำรายได้เข้าประเทศ
สำหรับประเทศไทย พืชน้ำมันที่สำคัญ ได้แก่ ปาล์ม ถั่วเหลือง มะพร้าว ถั่วลิสง งา และละหุ่ง และยังมีการสกัดน้ำมันจากเมล็ดฝ้าย เมล็ดนุ่น และรำข้าว อีกด้วย
เราสกัด น้ำมันปาล์ม จากเปลือกนอกของผลปาล์ม และจากเนื้อในของเมล็ด น้ำมันจากเปลือกนอก มีทั้งกรดไขมันไม่อิ่มตัว และกรดไขมันอิ่มตัว จึงต้องนำมาแยกออกจากกัน เพื่อนำไปใช้ปรุงอาหาร หรือผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นตามความเหมาะสม กากเส้นใย หรือเศษของทะลาย รวมทั้งกะลา ที่เป็นเปลือกเมล็ด นำไปทำเชื้อเพลิงได้
การใช้น้ำมันพืชในระดับชาวบ้าน
คนไทยปลูก มะพร้าว กันมานานแล้ว แต่มิใช่เพื่อสกัดเอาน้ำมันอย่างเดียว เกือบทุกส่วนของมะพร้าวมีประโยชน์ เรารับประทานทั้งน้ำและเนื้อของผลมะพร้าวอ่อน เนื้อของผลแก่นำไปประกอบอาหารโดยตรง หรือไม่ก็คั้นเป็นกะทิก่อน แล้วจึงนำไปประกอบอาหาร ทั้งคาวและหวาน ใช้กะลาทำภาชนะ หรือใช้เป็นเชื้อไฟ เส้นใยจากเปลือก ใช้ทำเชือก ทำเบาะและที่นอน ขุยมะพร้าวใช้เป็นวัสดุ สำหรับเพาะชำต้นไม้ ก้านใบใช้ทำไม้กวาด น้ำหวานจากช่อดอกใช้ดื่มสด หรือทำน้ำตาลปึก ยอดอ่อนก็ใช้เป็นผักมาประกอบอาหารได้ ถ้าจะพูดถึงการใช้ประโยชน์จากมะพ ร้าวแล้ว ยังมีอีกหลายอย่าง แต่ที่สำคัญก็คือ การสกัดเอาน้ำมันออกมาจากเนื้อของผลมะพร้าวแก่
น้ำมันพืชที่ประเทศไทยผลิตได้นั้น เป็นน้ำมันถั่วเหลืองถึงร้อยละ ๒๐ นับว่ามากเป็นที่สอง รองจากน้ำมันปาล์ม ซึ่งผลิตได้ถึงร้อยละ ๕๐ ของน้ำมันพืชทั้งหมด
น้ำมันจาก ถั่วเหลือง นับว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นน้ำมันคุณภาพดีมีกรดไขมันชนิดไม่อิ่นตัวสูง ซึ่งลดสารจำพวกคอเลสเตอรอล ให้มีปริมาณต่ำ เหมาะสำหรับใช้ทำอาหาร ยิ่งกว่านั้นในเมล็ดถั่วเหลือง ยังมีโปรตีนสูงอีกด้วย ชาวจีนรู้จักและใช้ประโยชน์จากถั่วเหลืองมานานแล้ว อาหารที่ทำจากถั่วเหลือง ได้แก่ เต้าหู้ เต้าเจี้ยว ถั่วเน่า ซีอิ้ว เส้นบะหมี่ โปรตีนแห้ง เนื้อเทียม ฟองเต้าหู้ ถั่วงอก คุกกี้ น้ำนมถั่วเหลือง แต่ประโยชน์สำคัญมากได้แก่ การนำเมล็ดถั่วเหลืองมาสกัดเอาน้ำมัน และใช้กากถั่วเหลืองผสมทำอาหารสัตว์ ในประเทศไทยแม้จะมีการส่งเสริมให้เพาะปลูกถั่วเหลืองกันมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการใช้ เรายังต้องซื้อกากถั่วเหลืองจากต่างประเทศ เพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ปีละมากๆ
เต้าหู้ อาหารซึ่งทำจากเมล็ดถั่วเหลือง
ถั่วลิสงเป็นพืชน้ำมันอีกชนิดหนึ่ง ที่เพาะปลูกกันมากในประเทศจีนและอินเดีย ประเทศไทยก็ปลูกถั่วลิสงกันทั่วไป แต่ปลูกมากทางภาคเหนือ ผลิตผลส่วนใหญ่ใช้เป็นอาหาร และเก็บไว้ทำพันธุ์ ที่นำมาสกัดเป็นน้ำมันไม่มากนัก เรารับประทานเมล็ดถั่วลิสงโดยตรง โดยนำมาต้ม คั่ว หรือทอด เสียก่อน ใช้ทำขนมขบเคี้ยว เช่น ถั่วตัด ถั่วกระจก หรือใช้ทำแป้ง ทำเนยถั่วลิสง
ประโยชน์สำคัญอีกประการหนึ่งของการปลูกถั่วลิสงก็คือ เป็นการบำรุงดิน ลำต้น และใบยังใช้เลี้ยงสัตว์ และทำปุ๋ยหมักได้อีกด้วย
การใช้ถั่วลิสงเพื่อบริโภค ต้องระวังอย่าใช้เมล็ดที่เป็นรา เพราะจะมีสารพิษชื่อ แอลฟลาท็อกซิน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งในตับได้
ขนมพื้นบ้านคลุกด้วยเมล็ดงา
ยังมีพืชน้ำมันอีกหลายชนิดที่มีการเพาะปลูกในประเทศเรา และในประเทศอื่นๆ เพื่อจะสกัดเอาน้ำมัน ใช้กากผสมอาหารสัตว์ หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่น รวมทั้งเพื่อการบริโภคด้วย ได้แก่ งา ละหุ่ง ทานตะวัน คำฝอย นุ่น ฝ้าย และข้าว (ใช้ส่วนที่เป็นรำมาสกัด) ในจำพวกนี้ที่บริโภคไม่ได้ เพราะมีสารพิษคือ เมล็ดละหุ่ง แต่ถ้านำน้ำมันละหุ่งไปทำให้บริสุทธิ์ สามารถนำไปทำยารักษาโรค ยาระบาย เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอีกหลายชนิดได้
พืชน้ำมันบางชนิดแม้จะบริโภคได้ แต่ถ้ามีกรดไขมันอิ่มตัวสูงก็ไม่เหมาะสำหรับทำอาหาร
เราจึงควรศึกษาเรื่องพืชน้ำมัน รู้จักเลือกใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อบริโภค ใช้ในครัวเรือน หรือใช้ในอุตสาหกรรม
เกษตรกรเองก็ควรศึกษาในเชิงเศรษฐกิจว่า ควรจะปลูกพืชน้ำมันชนิดใด ปลูกอย่างไร จึงจะได้ผลคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเอง ครอบครัวคนไทย และต่อประเทศไทย ส่วนรวม