ข้อความที่กล่าวมาข้างต้นนี้มีสิ่งที่น่าคิดอยู่หลายประการ เช่น
ประการแรก
ทำไมจึงกล่าวว่า ยุง แมลงวัน แมลงสาบ ตัวสามง่าม เรือด เหา ผึ้ง ผีเสื้อ มด ตัวต่อ จิงโจ้น้ำ ลูกน้ำ อ้ายโม่ง แมลงข้าวสาร หนอนผีเสื้อ หนอนด้วง เพลี้ย ว่าเป็นแมลง ทั้งที่รูปร่างหน้าตาของสัตว์เหล่านี้ไม่เหมือนกัน ถ้าเช่นนั้น แมงมุม แมงป่อง ก็น่าจะเป็นแมลง หรือกิ้งกือ ซึ่งคล้ายหนอนก็น่าจะเป็นแมลง มีลักษณะอะไรที่จะเป็นตัวกำหนดว่า สัตว์ชนิดนั้นเป็นแมลง ชนิดนี้ไม่ใช่แมลง
กิ้งกือไม่จัดว่าเป็นสัตว์จำพวกแมลง
ประการที่สอง
ทำไมจึงกล่าวว่า ลูกน้ำเป็นลูกของยุง อ้ายโม่งเป็นลูกของแมลงปอ เมื่อดูรูปร่าง นอกจากไม่เหมือนกันแล้ว ยังมีที่อยู่อาศัยต่างกันด้วย เพราะลูกน้ำ และอ้ายโม่ง อยู่ในน้ำ แต่ยุงและแมลงปออยู่บนบก จะมีความสัมพันธ์เป็นลูกเป็นหลานกันได้อย่างไร เมื่ออยู่บนบก ก็เข้าใจได้ว่า ได้ออกซิเจนจากอากาศหายใจ แต่เมื่อไปอยู่ในน้ำ จะหายใจได้อย่างไร จะเหมือนพวกปลาหรือไม่
แมลงหมาร่าหรือต่อหมาร่า
ประการที่สาม
ได้มีการกล่าวถึงมดง่ามว่า ขนอาหารไปเลี้ยงพ่อแม่ญาติพี่น้อง ที่อยู่ในรัง แล้วแมลงอื่นๆ เช่น แมลงปอ ซึ่งอยู่บนบก จะเลี้ยงลูก ซึ่งอยู่ในน้ำได้อย่างไร แมลงปอทำรังด้วยหรือไม่ รังของแมลงปอมีลักษณะเป็นอย่างไร
แมลงหัวงวง
ประการที่สี่
ได้มีการกล่าวถึงแมลงบางชนิดก็เป็นศัตรูกับคนเรา ต่อยให้เจ็บปวด ดูดกินเลือดเรา นำเชื้อโรคมาให้ บางชนิดก็ให้ประโยชน์ ช่วยผสมเกสรให้ ดูไปแล้วรู้สึกว่า ให้ประโยชน์น้อย แท้จริงแล้ว แมลงให้คุณและโทษอย่างไร
แมลงวันดอกไม้
ประการที่ห้า
ที่กล่าวว่า แม้เราจะหนีไปอยู่ในถิ่นทุรกันดาร แห้งแล้ง หรือที่หนาวจัด ซึ่งมนุษย์อยู่ได้ เพราะรู้จักประดิษฐ์เครื่องมือต่างๆ เช่น ใช้ไฟฟ้าทำเครื่องทำความเย็นในที่อากาศร้อน ก่อไฟ หรือใช้ไฟฟ้าทำความอบอุ่นให้ในที่หนาว แต่แมลงไม่รู้จักทำสิ่งเหล่านี้ แมลงเหล่านั้นจะอยู่ได้อย่างไร ทำไมจึงสามารถไปอยู่ในที่กันดารเช่นนั้นได้
แมลงเป็ดผี
สัตว์ที่เรียกว่าแมลง
ในการแบ่งประเภทว่า สัตว์ประเภทใดเป็นแมลง และสัตว์ประเภทใดไม่ใช่แมลงนั้น นักวิทยาศาสตร์ได้กำหนดเอาไว้ว่า สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังใดก็ตาม เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว มีเปลือกลำตัวแข็ง มีร่างกายออกได้เป็น ๓ ส่วน คือ มีส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง เห็นได้ชัดเจน มีขา ๓ คู่ หรือ ๖ ขา อาจมีปีก หรือไม่มีปีกก็ได้ แต่สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังใดก็ตาม ถ้าหากมีปีกแล้ว สัตว์พวกนั้นต้องเป็นแมลง
แมลงแตนเบียน
เมื่อนำลักษณะข้างต้นนี้มาเปรียบเทียบดูกับสัตว์ที่พบเห็นได้ทั่วๆ ไปแล้ว ก็จะสามารถบอกได้ว่า สัตว์ชนิดใดเป็นแมลง และสัตว์ชนิดใดไม่ใช่แมลง หากนำสัตว์ เช่น ตั๊กแตน ผีเสื้อ ผึ้ง และเหา มาพิจารณาดู ก็จะพบลักษณะดังกล่าวข้างต้น สัตว์พวกนี้จึงเป็นแมลง แต่หากนำแมงมุมมาพิจารณาดู จะพบว่า แมงมุมไม่ใช่แมลง เพราะแมงมุมมีร่างกายแบบออกได้เป็น ๒ ส่วน คือ มีหัว และอก ติดกันเป็นส่วนเดียว แยกไม่ออกว่าส่วนไหนเป็นหัว และส่วนใดเป็นอก ส่วนที่เหลือเป็นส่วนท้อง จึงเห็นได้ว่า แมงมุมมีสองส่วนเท่านั้น นอกจากนี้แมงมุมยังมี ๘ ขา ลักษณะเช่นเดียวกับแมงป่อง แมงมุม และแมงป่อง จึงไม่ใช่แมลง นักวิทยาศาสตร์ได้กำหนดลักษณะของสัตว์ ที่มีร่างกายแบ่งออกเป็นสองส่วน และมีขา ๔ คู่ หรือ ๘ ขา ว่าเป็นพวกแมง จึงเรียก แมงมุม แมงป่อง หรือบางครั้งเรียกพวกที่มีขา ๕ คู่ หรือ ๑๐ ขา ว่าแมลงด้วย เช่น แมงดาทะเล เป็นต้น
แมงมุม
หัวแมลง
หัวของแมลงอาจจะเล็กหรือโตกว่าอก มีรูปทรงต่างๆ กัน บางชนิดหัวสั้น ทู่ บางชนิดหัวยาวยื่นออกไปคล้ายงวงก็มี เช่น ด้วงงวง จักจั่นงวง หัวของแมลงอาจจะเชิดไปข้างหน้า เช่น ด้วงเขี้ยวกาง หรือหัวงุ้มลง เช่น ตั๊กแตน อวัยวะที่อยู่ที่หัว ได้แก่ ตา หนวด และปาก
จักจั่นงวงมีหัวยาวคล้ายงวง
ตาของแมลง
หัวของแมลงมีตาโต ๑ คู่ ตาของแมลงคู่นี้ ผิดกับตาของคนเรา เพราะดวงตาของคนเป็นดวงเดียว และมีแก้วตาแต่ละดวงเป็นแผ่นกลม แต่ของแมลงมีจำนวนนับร้อยนับพันดวง มาประกบกันเป็นดวงเดียว และแก้วตาเป็นรูป ๖ เหลี่ยม เมื่อมีประกบต่อกันเป็นดวงเดียว แก้วตาจะมีลักษณะคล้ายรังผึ้ง ซึ่งจะเห็นได้ เมื่อส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพราะเหตุที่เกิดจากตาหลายๆ ดวง มารวมกัน จึงเป็นประเภทตารวม แมลงไม่มีเปลือกตาที่จะปิดตาได้ ตาจึงเปิดอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม แมลงหลายชนิดยังมีตาอีกประเภทหนึ่ง ที่คล้ายของคน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ เรียกว่า ตาเดี่ยว อยู่บริเวณหน้าผากของแมลง ตาประเภทนี้ มีแก้วตากลมเป็นดวงเดี่ยวๆ และมีขนาดเล็ก ต้องสังเกตจากแมลงตัวโตๆ ก็จะเห็นได้ แมลงที่มีตาเดี่ยวมักจะมี ๓ ตา เรียงกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ไม่มีเปลือกตาเช่นเดียวกัน
ด้วงกว่างมีหัวและอกยื่นคล้ายเขา
หนวดแมลง
แมลงมีหนวด ๑ คู่ มีฐานอยู่ใต้ตา หรือระหว่างตา ประกอบด้วยปล้องหลายป้องต่อกัน มีรูปร่างต่างๆ กัน อันได้แก่ :
ด้วงเขี้ยวกางมีหัวเชิดไปข้างหน้า
๑. หนวดรูปขน หนวดมีรูปคล้ายขนคู่หนึ่ง แทบมองไม่เห็น เช่น หนวดของแมลงปอ และหนวดของเพลี้ยจักจั่น
๒. หนวดรูปเส้นด้าย หนวดยาวคล้ายเส้นด้าย เช่น หนวดของตั๊กแตน และแมลงสาบ
๓. หนวดรูปสร้อยลูกปัด ปล้องของหนวดแต่ละปล้องค่อนข้างกลม คล้ายลูกปัดต่อกัน คล้ายสายสร้อย เช่น หนวดของปลวก
๔. หนวดรูปฟันเลื่อย หนวดแต่ละปล้องคล้ายรูปสามเหลี่ยมเรียงกัน คล้ายฟันเลื่อย เช่น หนวดของแมลงทับ
๕. หนวดรูปซี่หวี หนวดแต่ละปล้องยาวเรียงกัน คล้ายซี่หวี หรือทางมะพร้าว เช่น หนวดผีเสื้อยักษ์
๖. หนวดรูปกระบอง หนวดที่โคนลีบ ปลายโป่งออก มองดูคล้ายกระบอง เช่น หนวดผีเสื้อ แมลงเต่าลาย หรือด้วงกุดจี่
๗. หนวดรูปข้อศอก หนวดงอคล้ายข้อศอก เช่น หนวดของมด
๘. หนวดรูปพู่ขนนก หนวดมีพู่คล้ายขนอ่อนของนก เช่น หนวดของยุงตัวผู้
๙. หนวดรูปเคียว ปล้องปลายหนวดโค้งงอคล้ายเคียว เช่น หนวดของเหลือบ
ตารวมและตาเดี่ยวบนหัวของแมลง
ลักษณะหนวดที่ต่างๆ กันนี้ บางครั้งช่วยให้แยกประเภทของแมลงได้ง่ายขึ้น เช่น แยกมดออกจากปลวก โดยสังเกตจากรูปร่างของหนวดที่ต่างกันได้ โดยปกติแมลงจะใช้หนวดสำหรับสัมผัสรับความรู้สึก เช่น คลำทาง วัดความแรงของกระแสลม แต่แมลงบางชนิดอาจจะใช้หนวดทำหน้าที่อย่างอื่น เช่น ผีเสื้อกลางคืนหลายชนิด ใช้หนวดดมกลิ่น สามารถที่จะรับกลิ่นตัวเมียที่อยู่ห่างไกลได้ หรือยุงตัวผู้มีหนวดต่างกับยุงตัวเมีย ที่บริเวณปล้องใกล้โคนหนวดโตกว่าปล้องอื่นๆ บริเวณนี้มีอวัยวะสำหรับฟังเสียง เช่น เสียงบินของยุงตัวเมีย แมลงไม่มีอวัยวะที่เป็นจมูกหรือหู อยู่บริเวณหน้าและข้างหัวเหมือนของคน
แมลงปอมีตาโตเกือบเต็มหัว
ปากแมลง
แมลงที่มีหัวงุ้มลง เช่น ตั๊กแตน แมลงวัน ปากที่อยู่ปลายสุดจะยื่นลงไปด้านล่าง หากมีหัวเชิดไปข้างหน้า เช่น แมลงหนีบ และด้วงเขี้ยวกาง จะเห็นปากเชิดอยู่ข้างหน้าสุด รูปร่างของปากแมลง มีลักษณะแตกต่างกันไปหลายรูปแบบ ส่วนต่างๆ ของปากจะมีรูปร่าง ที่เหมาะแก่การกินอาหาร ซึ่งแตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิดของอาหารที่กินเข้าไป นักวิทยาศาสตร์ได้จัดแบบปากของแมลงตามลักษณะที่กินอาหาร ดังนี้
แมงป่อง
๑. ปากแบบกัดเคี้ยว เช่น ปากตั๊กแตน มีริมฝีปากบน และริมฝีปากล่าง เป็นแผ่นแบน ปิดด้านบน และด้านล่าง มีขากรรไกรคู่หน้าที่เป็นก้อนแข็ง หนา ใช้บดอาหาร และขากรรไกรคู่หลังเป็นแผ่นแบน ขอบคม ใช้สำหรับกัดอาหารให้ขาด จึงสามารถกัดและเคี้ยวกินใบพืชต่างๆ ได้ดี แมลงขยับขากรรไกรที่เป็นคู่นั้น กัดหรือเคี้ยวกินทางข้าง จึงผิดกับปากของคน ที่ขยับขากรรไกรทั้งบนและล่างเวลาเคี้ยวหรือกัดกิน
ด้วงดีดมีหนวดเป็นรูปซี่หวี
๒. ปากแบบเจาะดูด เช่น ปากของยุง มีริมฝีปากบนยาวเป็นรูปสามเหลี่ยม ขากรรไกรยาวและโค้งคล้ายท่อผ่าซีก ที่ปลายบางส่วนก็แหลมคล้ายเข็มบ้าง คล้ายใบมีด และคล้ายใบเลื่อยบ้าง สามารถตัดเจาะเนื้อคนหรือสัตว์เข้าไป และสามารถประกบเป็นท่อดูดเลือดได้ ส่วนริมฝีปากล่างเป็นท่อยาวคล้ายปลอก ซึ่งยุงสามารถสอดส่วนต่างๆ ของปากเข้าไป เก็บได้ จึงเรียกปากของยุงว่า แบบเจาะดูด
ด้วงจี่หรือกุดจี่ มีหนวดรูปกระบอง
๓. ปากแบบกัด-เลียดูด เช่น ปากของผึ้งและแมลงภู่ เป็นปากแบบผสม กล่าวคือ ขากรรไกรคู่หน้าแบน บาง ขอบคมคล้ายใบมีด กัดก้านเกสรดอกไม้ให้ขาดได้ ขากรรไกร คู่หลังและริมฝีปากล่างยาวประกบเป็นท่อ ภายในมีลิ้นยาว คล้ายเส้นด้ายยืดหดได้ ทำให้สามารถกัด เลีย และดูดน้ำหวานได้
แมลงช้าง มีหนวดรูปเส้นด้าย
๔. ปากแบบกัด-ซับดูด เช่น ปากของเหลือบ มีขากรรไกรหน้าเป็นแผ่นคม กัดเนื้อคน และสัตว์ให้เป็นแผลได้ ส่วนขากรรไกรหลังเป็นท่อยาว ริมฝีปากล่างเป็นก้อนพรุน คล้ายฟองน้ำอยู่ที่ปลายปาก สามารถซับเลือดที่ออกมา และดูดกินทางหลอดคอที่เป็นท่อ ยาวออกมาต่อกับริมฝีปากล่างได้
ตั๊กแตนมีหัวงุ้มลง
๕. ปากแบบซับดูด เช่น ปากของแมลงวัน ส่วนต่างๆ ของปากหายไปมาก คงเหลือแต่ริมฝีปากล่าง ที่เป็นท่อยาวคล้ายงวง ปลายคล้ายฟองน้ำและหลอดคอที่ยาวภายในงวง ปากแบบนี้จึงไม่สามารถกัดหรือเจาะเนื้อให้เป็นแผลได้ คงใช้วิธีซับของเหลว เช่น น้ำ หวาน แล้วดูดกินเข้าไป
ยุงตัวผู้ มีหนวดรูปพู่ขนนก
๖. ปากแบบงวงดูด เช่น ปากของผีเสื้อ ส่วนต่างๆ ของปากหายไปหมด คงเหลือแต่ชิ้นส่วนบางส่วนของริมฝีปากล่าง ที่เจริญเป็นท่อกลวงยาวคล้ายสายยางหรืองวงสามารถ ม้วนขดเป็นวงกลมใต้หัว ทำหน้าที่ดูดน้ำหวานจากดอกไม้ได้
แมลงจึงมีปากหลายรูปแบบที่เหมาะสมกับการกินอาหารที่มีลักษณะต่างๆ กัน
แมลงทับ มีหนวดรูปฟันเลื่อย
อกแมลง
อกของแมลงประกอบด้วย ปล้องสามปล้อง ที่มีขนาดและรูปร่างคล้ายกัน หรือแตกต่างกัน แต่ติดต่อกันให้เห็นเป็นส่วนเดียวกัน และมีรอยต่อระหว่างปล้องให้เห็นอกแต่ละปล้อง มีขา ๑ คู่ เป็นตำแหน่งที่จะบอกได้ว่า ส่วนใดเป็นอกปล้องหน้า อกปล้องกลาง และอกปล้องหลัง
มด มีหนวดงอรูปข้อศอก
ขาของแมลง
แมลงมีขาคู่หน้า ขาคู่กลาง และขาคู่หลัง แต่ละขามีลักษณะเป็นปล้องติดต่อกัน แบ่งออกได้เป็นส่วนต่างๆ คือ ปล้องต้นขา ๑ ปล้อง ข้อโคนขา ๑-๒ ข้อ โคนขา ๑ ปล้อง หน้าแข้ง ๑ ปล้อง และฝ่าตีน ๑-๕ ปล้อง ปลายฝ่าตีนอาจจะมีขน มีแผ่น หรือมีเล็บ จำนวนเล็บ๑-๒ ซี่
หนวดของเหลือบ
แมลงบางชนิดอาจจะมีขาที่มีรูปร่างไม่เหมือนกัน และมีรูปร่างลักษณะที่เหมาะสมกับการใช้งาน จึงเรียกขาแบบต่างๆ ตามลักษณะการใช้งาน ดังนี้
หนวดของปลวก
๑. ขาวิ่งหรือขาเดิน ขาโดยทั่วไปจะเป็นรูปแบบขาวิ่งหรือขาเดิน เช่น ขาแมลงสาบ ซึ่งจะมีปล้องต่างๆ สั้น แต่โคนขา และหน้าแข้ง จะยาว ทำให้สามารถวิ่งได้เร็ว
ยุงมีปากแบบเจาะดูด
๒. ขากระโดด เช่น ตั๊กแตนและหมัด จะมีขาหลังที่โตกว่าขาคู่อื่นๆ จะเห็นลักษณะพิเศษที่ปล้องโคนขาใหญ่และยาว ทำให้สามารถกระโดดได้สูงหลายสิบเท่าตัว จึงเรียกขาพวกนี้ว่า ขากระโดด
ตั๊กแตนกิ่งไม้มีปากแบบกัดเคี้ยว
๓. ขาขุด เช่น ขาหน้าของแมลงกระชอน จะมีลักษณะของปล้องแต่ละปล้องป้อมสั้น และฝ่าตีนมีลักษณะคล้ายฟันเลื่อย เหมาะสำหรับที่จะใช้คราดหรือขุดดิน
๔. ขาหนีบ เช่น ตั๊กแตนตำข้าวมีขาหน้าที่แปลกไปจากขาคู่อื่นๆ มีลักษณะเป็นขา หนีบ โดยมีปล้องต้นขา โคนขา และแข้งยาวใหญ่เป็นพิเศษ ขอบของโคนขาและหน้าแข้ง มีหนามที่หันเข้าหากัน เมื่อตั๊กแตนจับเหยื่อจะใช้ขาคู่หน้านี้ฉกและหนีบ ทำให้เหยื่อไม่ สามารถหลุดหนีไปได้
ภาพขยายตาแมลงเป็นรูปหกเหลี่ยม เรียงกันคล้ายรังผึ้ง
๕. ขาจับ เช่น พวกแมลงดานา แมลงดาเยี่ยว มีขาคู่หน้าต่างกับขาคู่หลัง คือ ขาคู่หน้าเป็นแบบขาจับ ขาแบบนี้มีปล้องต้นขา และโคนขาใหญ่และแข็งแรง ส่วนหน้าแข้งยาว เรียว และโค้ง เหมาะที่จะใช้ในการจับเหยื่อ
ก. แมลงวันมีปากแบบซับดูด
ข. ผีเสื้อมีปากแบบงวงดูด
๖. ขาว่ายน้ำ เช่น ขาคู่หลังของแมลงดานา มีปล้องโคนขา หน้าแข้งและฝ่าตีนแบน และมีขนยาวตามขอบติดกันเป็นพืด เหมาะสำหรับที่จะใช้ว่ายน้ำ
แมลงกระชอนมีขาหน้าแบบขาขุด
๗. ขาเกี่ยว หรือขาเหนี่ยว เช่น ขาคู่หน้าของพวกเหา ขาแบบนี้มีปล้องต่างๆ ค่อนข้างโต ปลายหน้าแข้งเป็นง่าม ฝ่าตีนปล้องเดียว ใหญ่ และมีเล็บยาว เหมาะสำหรับยึดเหนี่ยวกับเส้นผมได้แน่น ไม่ให้ตัวหลุดออกไปได้ง่ายๆ
ภาพแสดงขั้นตอนการกระโดดของหมัด
ปีกแมลง
แมลงหลายชนิดไม่มีปีก แม้ว่าตัวจะโตเต็มที่แล้วก็ตาม เช่น ตัวสามง่าม เป็นต้น แมลงบางชนิดต้นบรรพบุรุษในสมัยดึกดำบรรพ์เคยมีปีกมาก่อน แต่ปัจจุบันไม่มีปีก เพราะไม่จำเป็นที่จะเคลื่อนย้ายไปไหนไกลๆ เช่น เหา และเรือด คงเห็นร่องรอยของติ่งปีกโผล่ออกมาเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนแมลงที่มีปีกนั้นปีกจะติดอยู่ที่ข้างอกปล้องกลางและ อกปล้องหลัง ส่วนอกปล้องหน้าไม่เคยมีปีกเลย ฉะนั้นปีกจึงบอกตำแหน่งของอกด้วย
แมลงดาเยี่ยวมีขาหน้าแบบขาจับ
แมลงอาจจะมีปีกเพียงคู่เดียว เช่น แมลงวัน มีเฉพาะปีกคู่หน้าเป็นแผ่นบางใส ส่วนปีกคู่หลังไม่มีลักษณะเป็นปีก คงเห็นเป็นติ่งออกมา ไม่สามารถใช้ในการบินได้ แต่ใช้ทำหน้าที่เป็นหางเสือ ช่วยให้แมลงบินได้ตรง หรือเปลี่ยนทิศทางในการบิน พวกแมลงที่มี ปีก ๒ คู่นั้น ปีกทั้งสองคู่อาจจะมีลักษณะคล้ายๆ กันคือ บางใส และอาจจะมีรูปร่างคล้ายกัน และขนาดไล่เลี่ยกัน เช่น ปีกแมลงปอ พวกที่มีปีกลักษณะเหมือนกันแต่ขนาด ต่างกัน เช่น ผีเสื้อ ซึ่งมีปีกหน้าใหญ่กว่าปีกหลัง ส่วนพวกที่มีปีกคู่หน้าแตกต่างกับปีกคู่หลัง เช่น ด้วง มีปีกคู่หน้าหนาและแข็ง คล้ายลำตัว ส่วนปีกคู่หลังเป็นแผ่นบางใส สำหรับพวกมวนมีปีกคู่หน้า บริเวณโคนแข็ง ปลายเป็นแผ่นบางอ่อน ส่วนปีกคู่หลังเป็น แผ่นบางอ่อน บนแผ่นปีกจะเห็นลักษณะเป็นเส้น เรียกกันว่า เส้นปีก
ผีเสื้อมีเกล็ดเล็กๆ หลากสีคลุมปีก ทำให้ดูสวยงาม
นักวิทยาศาสตร์มักจะใช้เส้นปีกเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งหมวดหมู่ของแมลงบางพวก เช่น ในการแยกวงศ์ของผีเสื้อ เป็นต้น ปีกของแมลงบางพวกอาจจะมีขนตามเส้น ปีกและแผ่นปีก เช่น แมลงหวี่ขน แต่ปีกผีเสื้อและยุงจะมีเกล็ดเป็นแผ่นเล็กละเอียดมอง คล้ายฝุ่นปกคลุม และเกล็ดเหล่านี้ โดยเฉพาะของผีเสื้อมีสีสันต่างๆ กัน ทำให้ผีเสื้อมีสีสวยงาม เมื่อรวมเกล็ด และขนตามลำตัวเข้าไปด้วย หน้าที่หลักของปีกนั้น ใช้ในการบิน และเปลี่ยนทิศทางในการบิน แมลงบางพวก เช่น ผีเสื้อ ตามขอบหน้าของปีกหลัง บริเวณโคน มีตะขอเล็กๆ ใช้เกาะขอบท้ายของปีกคู่หน้า ทำให้ปีกคู่หน้าและหลังกระพือได้พร้อมๆ กัน เมื่อทำการบิน
ปีกหน้าและหลังของผีเสื้อยึดติดกันเมื่อเวลาบิน
ท้องแมลง
ท้องของแมลงประกอบด้วยปล้อง ท้องส่วนใหญ่ที่พบเห็นได้ มีจำนวน ๑๑ ปล้อง แต่ปล้องสุดท้ายมักจะเล็กมาก ทำให้เห็นชัดเจนเพียง ๑๐ ปล้อง อย่างไรก็ตาม แมลงบาง พวกมีจำนวนปล้องของท้องที่เห็นได้น้อยมาก เช่น แตนคู้ บางพวกมีท้องจำนวน ๓-๔ ปล้องเท่านั้น และบางชนิดจะพบตัวผู้มีปล้องท้องมากกว่าตัวเมีย ๑ ปล้อง ท้องของแมลง ยืดหดได้มากกว่าหัวและอก เพราะส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างแผ่นแข็งด้านหลังกับแผ่นแข็ง ด้านท้องเป็นเยื่อบางที่ทำให้ยืดหดได้ดี ช่วยให้แมลงรับอาหารเข้าไปในกระเพาะในท้อง และอากาศจากท่ออากาศบริเวณท้องได้มาก บริเวณด้านข้างของท้องของแมลงส่วนใหญ่จะ มีรูหายใจซึ่งเป็นทางเข้า-ออกของอากาศรอบตัว
แมลงปอมีท้องยาวเห็นเป็นปล้องๆ
จมูกแมลง
โดยปกติด้านข้างของอกปล้องกลาง อกปล้องหลัง และท้องปล้องที่ ๑-๘ จะมีรูหายใจข้างละรู หรือรวม ๑๐ คู่ แต่จำนวนรูหายใจในแมลงต่างๆ ที่พบ อาจจะน้อยกว่านี้ แล้วแต่ประเภทและชนิดของแมลง จึงอาจกล่าวได้ว่าจมูกของแมลงอยู่ที่ข้างอกและท้อง แมลงสามารถบังคับรูหายใจให้ปิด-เปิด เพื่อป้องกันการระเหยของน้ำออกจากร่างกาย หรือเพื่อการเข้า-ออกของอากาศ นำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกาย และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ในประการหลังรูหายใจจึงทำหน้าที่เป็นจมูกของแมลง แต่ระบบหายใจของแมลงต่างกับคน เพราะแมลงไม่มีปอดที่จะนำอากาศเข้าไปเก็บให้มีการแลกเปลี่ยนออกซิเจนกับเม็ดโลหิต แดงในเส้นโลหิต แมลงมีท่ออากาศซึ่งแตกแขนงออกไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย คล้ายกับเส้นโลหิตของคน อากาศที่ผ่านรูหายใจเข้ามา จะถูกส่งไปตามท่ออากาศ ที่ฝังตัวเข้าไปในเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย การแลกเปลี่ยนออกซิเจนกับคาร์บอนไดออกไซด์ จึงเกิดกับเนื้อเยื่อโดยตรง ไม่มีเม็ดโลหิตแดงพาไป ทั้งนี้ยกเว้นพวกหนอนแดงที่ใช้เลี้ยงปลา ประเภทสวยงามซึ่งเป็นตัวอ่อนของริ้นน้ำจืด ในโลหิตมีสารเฮโมโกลบิน (haemoglobin) ซึ่งเป็นตัวนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้
หนอนด้วงแรดมะพร้าว มีรูหายใจเล็กๆ ข้างลำตัว
สำหรับแมลงที่อาศัยอยู่ในน้ำ เช่น ลูกน้ำยุง รูหายใจอยู่ที่ปลายท่อที่ยื่นออกไปจาก ท้องปล้องสุดท้าย ลูกน้ำยุงจึงต้องขึ้นมาที่ผิวน้ำ ให้รูหายใจที่ปลายท่อโผล่พ้นน้ำเพื่อหายใจ อย่างไรก็ตามแมลงในน้ำมากชนิดที่ไม่มีรูหายใจ แต่มีเหงือกทำหน้าที่หายใจแทน เหงือกนี้ อาจจะมีลักษณะเป็นแผ่นบางคล้ายใบไม้ เช่น ลูกแมลงปอเข็ม ซึ่งมีอยู่ ๓ แผ่นที่ปลายท้อง บางชนิดเหงือกอาจจะมีลักษณะเป็นพู่ เป็นพวงคล้ายลูกโป่ง อยู่ตามข้างของท้อง เช่น ลูกแมลงชี เป็นต้น ท้องของแมลง นอกจากจะมีรูหายใจ ที่เป็นจมูกของแมลงแล้ว ปลายท้องมักจะมีหาง รับความรู้สึกจากสิ่งแวดล้อม และมีอวัยวะสืบพันธุ์ของตัวผู้ และตัวเมีย บางครั้งอาจจะเห็นอวัยวะวางไข่ของตัวเมีย ยาวออกมารูปร่างคล้ายดาบ เช่น ตั๊กแตนหนวดยาว เป็นต้น