เล่มที่ 19
ภูมิปัญญาชาวบ้าน
เล่นเสียงเล่มที่ 19 ภูมิปัญญาชาวบ้าน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            ภูมิปัญญาชาวบ้าน หมายถึง ความรู้ของชาวบ้าน ที่สร้างขึ้นจากประสบการณ์ และความเฉลียวฉลาด ของแต่ละคน ซึ่งได้เรียนรู้มาจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้อง และผู้มีความรู้ในชุมชน

การเป่าแคนที่ถ่ายทอดความรู้ต่อๆ กันมาจากบรรพบุรุษ

            ความรู้เหล่านี้เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต เป็นแนวทาง หลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติ ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ ระหว่างสมาชิกในครอบครัว ความสัมพันธ์กับคนอื่น ความสัมพันธ์กับผู้ล่วงลับไปแล้ว กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และกับธรรมชาติ

ภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นความรู้ที่มีคุณธรรม สอนให้คนเคารพผู้อื่น เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เคารพธรรมชาติ พึ่งพาอาศัยธรรมชาติ โดยไม่ทำลาย

            ความเชื่อเรื่องผี มีความหมายถึง กฎเกณฑ์ที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดมา การละเมิดกฎเกณฑ์นั้นจึงเรียกว่า ผิดผี ต้องมีการขอขมา และมีการลงโทษ โดยคนเฒ่าคนแก่ ซึ่งเป็นตัวแทนของบรรพบุรุษ เป็นผู้แนะนำ และดำเนินการ เช่น ประเพณีสอนให้คนหนุ่มสาว ที่ยังไม่แต่งงาน ไม่ให้ถูกเนื้อต้องตัวกัน เป็นการป้องกันมิให้กระทำเกินกว่าสมควร ถ้าหากใครทำผิด ก็เรียกว่า ผิดผี ต้องมีการ "เสียผี" คือ มี การชดใช้การกระทำผิดนั้น

พิธีแต่งงาน ทำให้ชุมชนร่วมใจทำกิจกรรม เป็นการสืบทอดแนวทางการดำเนินชีวิต

            ภูมิปัญญาชาวบ้านยังมีเรื่องประเพณีต่างๆ ซึ่งทำให้ชุมชนร่วมใจกันทำกิจกรรม ที่เป็นการรื้อฟื้นแนวทางในการดำเนินชีวิต เช่น งานบุญ ตามเทศกาล งานพิธีการเกิด การสู่ขวัญ การแต่งงาน และงานศพ เป็นต้น

            ความรู้ในเรื่องการทำมาหากินมีอยู่มาก เช่น การทำนาทำไร่ การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การจับปลา จับสัตว์ การทำเครื่องมือทางการเกษตร การทำเครื่องใช้ การจักสานด้วยไม้ไผ่หรือด้วยหวาย การทอผ้า ทั้งผ้าฝ้าย และผ้าไหม ซึ่งมีลวดลายที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อ และความคิดของชาวบ้าน การทำเครื่องปั้นดินเผา การแกะสลักไม้และหิน ซึ่งจะพบเห็นได้จากโบราณสถาน และในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ

            นอกจากนั้น ยังมีการรักษาโรคแบบพื้นบ้าน จะด้วยวิธีการทางไสยศาสตร์ การใช้สมุนไพร การนวด และวิธีการอื่นๆ

            ภูมิปัญญาชาวบ้านยังมีอยู่ในหมู่บ้านในชนบท แม้ว่าบางส่วนจะหายไป เลิกไป หรือถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น หลายแห่งมีวิธีการใช้ความรู้เหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งมีวิธีการต่างๆ ที่ใช้ คือ

ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของชาวบ้าน

การอนุรักษ์

            คือ การรักษาความรู้ที่ดีงาม เช่น ประเพณีต่างๆ หัตถกรรม และคุณค่า หรือการปฏิบัติตน เพื่อความสัมพันธ์อันดีกับคนและสิ่งแวดล้อม

การฟื้นฟู

            คือ การรื้อฟื้นความรู้ที่ดีงามต่างๆ ที่สูญหายไป เลิกไป หรือเปลี่ยนไป ให้กลับมา เพื่อยังประโยชน์ให้ผู้คนสมัยนี้ เช่น การฟื้นฟูดนตรีไทย การฟื้นการเกษตรผสมผสาน ซึ่งปู่ย่าตายายเคยทำมาก่อน การฟื้นประเพณีการผูกเสี่ยว หรือการผูกมิตรในภาคอีสาน เพื่อทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน หรือชาวบ้านกับข้าราชการ