การละเล่นและการกีฬาพื้นบ้านของไทยส่วนใหญ่มักเล่นเป็นคู่หรือเป็นกลุ่มมากกว่าเล่นเดี่ยว การเล่นว่าว เหมาะกับภูมิประเทศ ในท้องถิ่นที่มีทุ่งโล่งและเป็นลานกว้าง อากาศแจ่มใส มีลมว่าวหรือลมตะเภาที่พัดจากทิศใต้ไปทิศเหนือในฤดูร้อน และพัดจากทิศเหนือไปทิศใต้ ในฤดูหนาว
การเล่นว่าวนั้น เป็นที่นิยมเล่นกันในหลายประเทศแถบเอเชีย เช่น ประเทศญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ จีน อินเดีย รวมทั้งประเทศไทย
การทำว่าว เพื่อนำมาชักให้ลอยลมได้นานๆ นั้นใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย โครงว่าวทำด้วยไม้ไผ่ เหลาผูกเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หรือทำโครงเป็นรูปทรงต่างๆ ตามที่ต้องการ ผูกโครงว่าวให้เป็นแกนและเป็นปีก ติดกระดาษสา หรือกระดาษถุงปูน (มักเป็นว่าวของภาคอีสาน เช่น ว่าวสองห้อง หรือว่าวดุ๊ยดุ่ย) ว่าวที่เป็นกระดาษสาจะระบายสีสัน สดใสสวยงาม ให้เกิดเป็นศิลปะบนตัวว่าว จากนั้นนำสายป่านมาผูกติดกับไม้อกว่าว ๒ จุด เรียกว่า สายซุง หรือ คอซุง การผูกสายซุง ต้องกะระยะให้สมดุล เพื่อให้ว่าวลอยต้านลมได้ดีและผู้เล่นสามารถชักบังคับให้ลอยนิ่งได้ง่าย และต้องเป็นป่าน หรือเชือก เส้นเดียวกับคอซุง หากเป็นเชือกคนละเส้นจะผิดเกลียวหรือพันกัน และทำให้คอซุงตีบลง ว่าวจะไม่ขึ้นเวลาชัก สายป่านที่ใช้ชักว่าวนั้น มีความยาวตามความประสงค์ของผู้เล่น และพอเหมาะกับการส่งว่าว การวิ่งรอก และการชักเล่นสนุกๆ การประกวดหรือการแข่งขันว่าวประเภทต่างๆ จะไม่ใช้เชือกยาวเพราะจะอยู่ไกลตากรรมการ ทำให้ไม่สามารถเห็นความสวยงาม ของตัวว่าว ยกเว้นการแข่งขันว่าวจุฬาและว่าวปักเป้า
ว่าวแผง
ว่าว มี ๒ ประเภท คือ ว่าวแผง และว่าวภาพ ว่าวแผง เป็นว่าวรูปทรงแบน มีส่วนกว้างและส่วนยาว เช่น ว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ว่าวงู ส่วนว่าวภาพนั้น เป็นว่าวประดิษฐ์ ที่แสดงความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งอาจเป็นกล่อง หรือมีรูปทรงเลียนแบบของจริง เช่น ว่าวรูปเครื่องบิน รูปรถยนต์ รูปหุ่นยนต์ ว่าวภาพมี ๓ ประเภท คือ ประเภทสวยงาม เป็นว่าวที่มีรูปทรงสวยงาม เช่น ว่าวผีเสื้อ ว่าวกินรี ประเภทที่ ๒ คือ ประเภทตลกขบขัน ว่าวประเภทนี้เมื่อขึ้นสู่ท้องฟ้าทำให้คนดูรู้สึกขบขันเป็นอันมาก เช่น ว่าวลุงเชยโดดร่ม ว่าวหัวล้านชนกัน และประเภทที่ ๓ คือ ประเภทความคิดสร้างสรรค์ เช่น ว่าวรถถัง ว่าวหุ่นยนต์ ว่าวสกายแล็บ
การเล่นว่าวนั้น มีเทคนิควิธีที่น่าสนใจมาก ถ้าเล่นคนเดียวก็ต้องดูทิศทางลมให้ดี หากมีลมสามารถส่งว่าวด้วยตัวเองได้ แต่ถ้าไม่มีลมก็ต้องวิ่งให้เร็ว ว่าวจึงจะลอยขึ้นได้ ถ้ามีคู่เล่น ผู้ที่ส่งว่าวต้องตั้งหัวว่าวขึ้นให้สูงเพื่อรอลมส่ง เมื่อได้จังหวะ ผู้ที่ชักสายป่านหรือผู้วิ่งว่าวต้องวิ่งพร้อมทั้งชักว่าวและผ่อนสายป่านไปด้วย โดยชักว่าวให้ลอยขึ้นสูงจนกว่าจะกินลมนิ่ง จากนั้น จะบังคับให้ว่าวส่ายไปมาก็ได้
ว่าวภาพ
เมื่อมีการแข่งขันกีฬาว่าวในฤดูร้อน เป็นเทศกาลที่ผู้ชมได้ดูการต่อสู้คว้ากันกลางอากาศ ส่วนใหญ่มักเป็นการแข่งขันระหว่าง ว่าวจุฬาและว่าวปักเป้า ว่าวจุฬามีรูปร่างคล้ายดาว ๕ แฉก มีอาวุธคือ "จำปา" ซึ่งเป็นไม้เล็กๆ ที่เหลาโค้ง ๘ อัน รวมเป็น ๑ ดอก จะใช้ ๒-๕ ดอก ติดอยู่ต่อจากคอซุง เพื่อเป็นที่ดักเชือกว่าวปักเป้าให้เข้าไปติด ส่วนว่าวปักเป้ามีรูปทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน วางแนวตั้ง มี "เหนียง" เป็นอาวุธ ทำด้วยสายป่านคมยาว ผูกเป็นห่วงสำหรับคล้องให้ว่าวจุฬาเสียการทรงตัว
ว่าวจุฬาและว่าวปักเป้าต่อสู้คว้ากันกลางอากาศ ว่าวปักเป้าเสียทีให้แก่ว่าวจุฬา
ว่าวฝ่ายไหนจะชนะ ขึ้นอยู่กับความชำนาญ ไหวพริบ และการบังคับว่าวของผู้เล่นทั้ง ๒ ฝ่าย สำหรับว่าวปักเป้า ต้องพยายามคว้าคู่ต่อสู้ให้ร่วงลงในแดนตนเอง ส่วนว่าวจุฬาต้องทำให้ว่าวปักเป้าเสียการทรงตัว เช่น เหนียงเข้าเครื่อง หางพันคอซุงตนเอง และทำให้ว่าวปักเป้าสั้น (คือ อยู่ด้านหน้าว่าวจุฬา) แล้วผ่อนไม่ออก จึงจะชนะ ผู้ชมรู้สึกตื่นเต้น เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพลี่ยงพล้ำ จวนเจียนจะเสียที
การใช้รอกมือบังคับ
ให้ว่าวจุฬาเข้าแดนตนเอง
ในชนบทของจังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด และจังหวัดบุรีรัมย์ ในยามค่ำคืน ชาวบ้านมักได้ยินเสียงว่าวดุ๊ยดุ่ย ซึ่งถูกชักขึ้นไปจนสุดความยาวของเชือก และผูกไว้ตามยอดไม้ ตั้งแต่ตอนค่ำ ที่หัวของว่าวดุ๊ยดุ่ยมี ธนู หรือ สะนู หรือภาคใต้เรียกว่า แอก ผูกติดอยู่ เมื่อลมพัดผ่าน แผ่นใบลานเล็กๆ ที่ติดสะนูไว้ ก็เกิดเสียงดังตามจังหวะลม ฟังไพเราะเหมือนเสียงดนตรีธรรมชาติ ว่าวดุ๊ยดุ่ยจะถูกถ่วงด้วยหาง ทำให้เมื่อเวลาว่าวเคลื่อนที่ หางจะส่ายไปมาอย่างสวยงาม เสียงของว่าวดุ๊ยดุ่ยดังแบบมีทำนอง ดุ๊ย ดุ่ย ซ้ำๆ กันตามจังหวะลม ซึ่งแตกต่างจากว่าวดุ๊ยดุ่ยภาคใต้ แม้มีสะนู แต่ตัวว่าวไม่มีหาง ทำให้ว่าวเคลื่อนตัวได้เร็ว จึงเกิดเสียงดัง แอด แอดๆ ตอนเช้าชาวบ้านก็เอาว่าวลง เพื่อนำมาเล่นในคืนต่อไป
ว่าวจึงมีความผูกพันในชีวิตคนไทยมาช้านาน