โรคเอสแอลอีีเป็นโรคไม่ติดต่อที่สำคัญอีกโรคหนึ่ง เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งแทนที่จะทำงานเฉพาะการยับยั้งเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันกลับต่อต้านเนื้อเยื่อร่างกาย ของผู้นั้นเอง ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของอวัยวะต่างๆ และเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยซึ่งต้องทนทรมานเป็นเวลานาน จนอาจรุนแรง ถึงขั้นพิการและอาจถึงแก่ชีวิตได้
โรคเอสแอลอีีมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า โรคลูปัส แต่คนทั่วไปมักนิยมเรียกกันว่า โรคพุ่มพวง โดยนำมาจากชื่อของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ราชินีนักร้องเพลงลูกทุ่งในอดีต ซึ่งเสียชีวิตจากการเป็นโรคนี้ตั้งแต่ยังมีอายุไม่มากนัก ปัจจุบันอาจเรียกอีกชื่อว่า โรคแพ้ภูมิ แม้ว่าโรคเอสแอลอีจะพบได้ง่ายในประชากรของประเทศแถบเอเชีย ตลอดจนมีความรุนแรงของโรคที่เกิดขึ้น มากกว่าที่เกิดกับประชากรแถบตะวันตก แต่มีคนไทยเพียงจำนวนน้อยที่รู้จักโรคนี้อย่างแท้จริง
ในสมัยที่พุ่มพวงป่วยเป็นโรคเอสแอลอีนั้น การแพทย์ไทยและคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จักโรคนี้ดีนัก นอกจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคนี้ ซึ่งในสมัยนั้นทั้งประเทศมีเพียงประมาณ ๓๐ คน ทำให้การรักษาอาการของโรคให้สงบลง จนไม่กำเริบขึ้นมาใหม่ และให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวต่อไปนั้นเป็นไปได้ยากลำบาก ประกอบกับความเชื่อที่ผิดๆ เช่น ผู้ป่วยถูกรังเกียจ เพราะเข้าใจและเชื่อกันเองว่าเป็นโรคเดียวกับโรคเอดส์ หรือเพราะเชื่อว่าโรคเอสแอลอีติดต่อระหว่างคนสู่คนได้ ทำให้ผู้ป่วยถูกทอดทิ้ง เสียกำลังใจ และไม่ให้ความร่วมมือในการรักษาพยาบาล จนเป็นผลร้ายต่อการรักษา
โรคเอสแอลอีีเกิดขึ้นจากสาเหตุใดไม่เป็นที่แน่ชัด เราทราบเพียงว่าโรคนี้พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุระหว่าง ๒๐-๔๐ ปี และพบในคนผิวสี เช่น ชาวเอเชีย ชาวแอฟริกัน มากกว่าในคนผิวขาว สันนิษฐานกันว่า โรคเอสแอลอีสามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม และมีฮอร์โมนเพศหญิงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกิดโรค ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยอื่น จากสิ่งแวดล้อมภายนอกร่วมด้วย เช่น สารเคมีบางชนิดในอาหารหรือยา หรือแม้กระทั่งแสงแดด ไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ให้ทำงานอย่างผิดปกติ จนสร้างสารแอนติบอดีขึ้นมาต่อต้านเซลล์ร่างกายของผู้ป่วยเอง
ผื่นแดงรูปปีกผีเสื้อขึ้นที่โหนกแก้มและดั้งจมูก เป็นลักษณะอาการของโรคเอสแอลอี
อันที่จริงแล้ว ถ้าแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคเอสแอลอีได้อย่างถูกต้องและทันกาล เราอาจควบคุมภาวะภูมิคุ้มกัน ให้ลดการต่อต้านเนื้อเยื่อตนเอง เพื่อบรรเทาอาการอักเสบของผู้ป่วยไม่ให้รุนแรงจนถึงขั้นทำลายอวัยวะต่างๆ และทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิต เหมือนคนปกติทั่วไปได้
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการเบื้องต้นบางอย่างเกิดขึ้นกับผิวหนัง เยื่อบุผิว ไขข้อ ปอดและไต เช่น ผู้ป่วยอาจมีไข้เรื้อรัง หรือมีแผลในปาก เป็นเวลานาน เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย และเจ็บหน้าอกขณะหายใจ ผมร่วงมาก และมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง จากการแพ้แสงแดด รวมทั้งมักเกิดอาการปวดตามข้อนิ้ว ข้อมือ และข้อเข่า จนทำให้เริ่มสงสัยได้ว่าอาจเป็นโรคเอสแอลอี
ถ้ามีอาการที่ต้องสงสัยในเบื้องต้นดังกล่าวแล้ว จะต้องเฝ้าสังเกตอาการอื่นๆ ต่อไปเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยนั้นเป็นโรคเอสแอลอี ได้แก่ มีผื่นแดงรูปปีกผีเสื้อที่โหนกแก้มและแนวดั้งจมูก หรือเป็นผื่นหนาสีขาวหรือสีน้ำตาลดำ รูปร่างคล้ายจานที่ศีรษะและแขน มีอาการเจ็บหน้าอก เนื่องจากเยื่อหุ้มปอดและหัวใจอักเสบ หรือมีจ้ำเลือดตามผิวหนังจากการที่มีเกล็ดเลือดต่ำ ถ้าไตอักเสบมากจะทำให้ขาและตัวบวม หากเกิดการอักเสบที่สมอง อาจพบอาการชักและสติฟั่นเฟือนได้
เมื่อพบข้อสงสัยหลายประการเกิดขึ้นกับผู้ป่วย แพทย์จะทำการตรวจหาสารต่างๆ ในร่างกายผู้ป่วยเพื่อยืนยันการเป็นโรคเอสแอลอี เช่น การตรวจหาโปรตีนไข่ขาว หรือเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะผู้ป่วย การตรวจหาแอนติบอดีที่จำเพาะต่อโรคเอสแอลอี การตรวจวัดระดับเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดว่ามีค่าต่ำเกินไปหรือไม่
สารแอนติบอดีที่จำเพาะต่อโรคเอสแอลอี ซึ่งตรวจพบด้วยกล้องจุลทรรศน์
หลังจากวินิจฉัยได้อย่างชัดเจนแล้วว่า ป่วยเป็นโรคเอสแอลอีจริง แพทย์จะพยายามคิดหาวิธีรักษาบรรเทาโรค ด้วยการลดระดับภูมิต้านทานของผู้ป่วย ไม่ให้สูงมากเกินไปจนทำลายอวัยวะได้ โดยอาจให้ยาต้านการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ทั้งกลุ่มยาที่ไม่ใช่สเตียรอยด์สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง และกลุ่มยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ซึ่งจำเป็น ในผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง ถึงขั้นรุนแรง ร่วมกับการใช้ยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน ไม่ให้สามารถแบ่งตัวได้
ยาเหล่านี้ช่วยควบคุมอาการของโรคให้สงบลง แต่ไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ และอาจมีผลข้างเคียงที่ตามมา จากการใช้ยาดังกล่าว เช่น ระคายเคืองกระเพาะอาหารจนทำให้เกิดแผลหรือติดเชื้อได้ง่าย เพราะไขกระดูกถูกยากดภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใช้ยาสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นเวลานานเกินไป อาจเกิดภาวะกระดูกพรุนจนถึงขั้นพิการได้ ผู้ป่วยจึงควรรักษาสุขภาพของตนเองให้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้โรคกลับมากำเริบใหม่
ในระหว่างที่ทำการรักษา ผู้ป่วยจะต้องอดทนต่อความเจ็บปวดที่เกิดจากโรคและผลข้างเคียง รวมทั้งให้ความร่วมมือ กับแพทย์ผู้รักษา ด้วยการมีวินัยในการรับประทานยาตามที่แพทย์จัดให้ โดยไม่เพิ่ม ลด หรือหยุดยาเอง หลังจากนั้น เมื่ออาการของโรคสงบแล้ว ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงแสงแดด ยา และปัจจัยต่างๆ ที่จะกระตุ้นให้โรคกำเริบ ป้องกันการติดเชื้อ จากการอยู่ในที่ชุมชน หรือหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่สุกๆ ดิบๆ และไม่สะอาด ตลอดจน พยายามรักษาสุขภาพกายและใจ ให้แข็งแรงอยู่เสมอ