เล่มที่ 37
หนังสือพิมพ์
เล่นเสียงเล่มที่ 37 หนังสือพิมพ์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
คนเรามีสัญชาตญาณของการบอกข่าว ในสมัยก่อนมีการแจ้งข่าวสารถึงกันด้วยวิธีตีเกราะเคาะไม้ ตีระฆัง เป่าเขาสัตว์ เป่าสังข์ เพื่อส่งสัญญาณเสียง ก่อไฟเพื่อส่งสัญญาณควัน หรือแม้กระทั่งแต่งบทเพลงร้องรำเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่ตนได้ไปประสบพบเห็นมา

            ครั้นเมื่อคนสามารถคิดประดิษฐ์ตัวอักษรได้ ก็เขียนเล่าเหตุการณ์ลงบนกระดาษหรือผ้า แล้วส่งไปยังผู้รับปลายทาง เรื่องราวที่เขียนลงไปบนกระดาษหรือผ้านี้ เรียกกันว่า "หนังสือข่าว" หรือ "จดหมายข่าว" ต่อมาใน พ.ศ. ๑๙๘๓ โยฮันน์ กูเทนแบร์ก (Johann Gutenberg) ชาวเยอรมัน ได้คิดประดิษฐ์แท่นพิมพ์ชนิดหมุนขึ้นในประเทศเยอรมนี แท่นพิมพ์ชนิดนี้ สามารถตีพิมพ์ได้รวดเร็ว อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้มีผู้นำมาใช้พิมพ์หนังสือข่าวซึ่งรายงานเหตุการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ถือได้ว่า เป็นต้นกำเนิดของหนังสือพิมพ์ ในสมัยต่อมา


คนในสมัยก่อน แจ้งข่าวสารด้วยวิธีตีเกราะเคาะไม้

อาจกล่าวได้ว่า ประเทศในทวีปยุโรปคือแหล่งกำเนิดของหนังสือพิมพ์ ทั้งในเชิงปรัชญา อุดมการณ์ รูปแบบ และเทคโนโลยี ต่อมา ในครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๔ วิทยาการหนังสือพิมพ์จึงแพร่กระจายเข้ามาสู่สังคมไทย โดยนายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) ชาวอเมริกัน ซึ่งคนไทยเรียกกันว่า หมอบรัดเล เป็นผู้นำเข้ามา

            หมอบรัดเลจัดทำหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของกรุงสยามชื่อว่า บางกอกรีคอร์เดอร์ (The Bangkok Recorder) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๗ โดยออกเป็นรายปักษ์ และตีพิมพ์เป็นภาษาไทย แต่จำหน่ายได้เพียงปีเศษ ก็เลิกไป เนื่องจากหมอบรัดเลเห็นว่า รัฐบาลไทยไม่ให้การสนับสนุน ต่อมา หมอบรัดเลได้ออกหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ขึ้นใหม่อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ได้นำเสนอทัศนะใหม่ๆ ในการมองโลก ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ถือเป็นหนังสือพิมพ์ ที่มีบทบาทยิ่ง ในการโน้มน้าวสังคมไทยสมัยนั้น ไปสู่กระแสอารยธรรมตะวันตก