เล่มที่ 37
หอศิลป์
เล่นเสียงเล่มที่ 37 หอศิลป์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            หอศิลป์ คือ สถานที่รวบรวมผลงานศิลปกรรมของศิลปินในแต่ละยุคสมัย หน้าที่ของหอศิลป์ คือ ดูแลรักษาผลงานศิลปกรรม เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้ และความเพลิดเพลิน เสนอผลงานฝีมือสร้างสรรค์ รวมทั้งจัดนิทรรศการแสดงผลงานศิลปกรรมเหล่านั้น แก่ประชาชน

            หอศิลป์ เป็นส่วนหนึ่งของประเภทพิพิธภัณฑ์ นักวิชาการบางคนแบ่งเป็น ๓ ด้าน ได้แก่ ด้านศิลปะ ด้านวิทยาศาสตร์ และด้านประวัติศาสตร์ บางคนแบ่งเป็น ๔ ด้าน ได้แก่ ด้านศิลปะ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านธรรมชาติวิทยา และด้านมานุษยวิทยา หากใช้เกณฑ์การแบ่ง ของสภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างชาติ ที่เป็นตัวแทนวงการอาชีพพิพิธภัณฑ์ จะแบ่งออกเป็น ๙ ประเภท ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ พิพิธภัณฑ์โบราณคดีและประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาและพื้นเมือง พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พิพิธภัณฑ์ส่วนภูมิภาค พิพิธภัณฑ์เฉพาะเรื่อง และพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย


พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี


            หอศิลป์ มีหน้าที่บริหารจัดการผลงานศิลปะด้านศิลปะบริสุทธิ์ ซึ่งประกอบด้วย ผลงานด้านจิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะภาพพิมพ์ ศิลปะแนวประเพณี ศิลปะแนวสื่อประสมและศิลปะแนวจัดวาง ศิลปะเชิงความคิด ศิลปะการแสดงสด เป็นต้น การทำงานของหอศิลป์ มีลักษณะการบริหารจัดการ และดำเนินงานใกล้เคียงกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะ





การจัดแสดงผลงานศิลปะด้านจิตรกรรมและประติมากรรม

            ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการจัดแสดงผลงานศิลปะครั้งแรก และโปรดเกล้าฯ ให้จัดแสดงภาพวาด ที่มีโคลงสี่สุภาพบรรยายภาพ เรื่องพงศาวดารชาติไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยา จนถึงรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งใช้ประดับพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ และพระศพ พระราชโอรสพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีก ๓ พระองค์ ณ ท้องสนามหลวง การจัดแสดงผลงานศิลปะ ครั้งที่ ๒ จัดขึ้นในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดแสดงผลงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๖๐ โปรดเกล้าฯ ให้มีการประกวดภาพเขียนขึ้นเป็นครั้งแรก ที่พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร การประกวดภาพเขียนครั้งที่ ๒ จัดขึ้นที่พระราชวังบางปะอิน ใน พ.ศ. ๒๔๖๓ และการประกวดภาพเขียน ครั้งที่ ๓ จัดขึ้นในปีเดียวกัน ที่โรงละครวังพญาไท กรุงเทพฯ การจัดแสดงผลงานด้านศิลปะ ยังมีต่อเนื่องอีกหลายครั้ง เช่น หลวงวิจิตรวาทการ และศาสตราจารย์ศิลป์  พีระศรี ได้นำผลงานด้านศิลปะของนักเรียนโรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง ไปจัดแสดง ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ในหอศิลป์เฉพาะกิจ ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ ใน พ.ศ. ๒๔๘๐ และ พ.ศ. ๒๔๘๑ ต่อมา ได้ย้ายไปจัดแสดงผลงานศิลปะ ที่สนามเสือป่า ใน พ.ศ. ๒๔๘๒ และใน พ.ศ. ๒๔๙๒ ศาสตราจารย์ ศิลป์  พีระศรี ได้เสนอแนะ ให้กรมศิลปากรจัดงาน "ศิลปกรรมแห่งชาติ" เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ งานศิลปะสมัยใหม่ ส่งผลให้ศิลปิน ในสาขาศิลปะต่างๆ นำผลงานมาแสดงและส่งเข้าประกวดจำนวนมาก โดยมีการจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี


ศิลปินรุ่นเยาว์สร้างสรรค์งานศิลปะ


            ห้องแสดงผลงานศิลปะหรือเรียกว่า "หอศิลป์" แต่เดิมไม่มีสถานที่เป็นการถาวร การแสดงผลงานศิลปะ จะจัดแสดงในสถานที่เฉพาะกิจ ที่เปลี่ยนไปหลายแห่ง เช่น ห้องเรียน หรือโรงไม้หลังคาสังกะสี หอศิลป์ซึ่งอยู่ตรงข้ามอนุสาวรีย์ทหารอาสา หอศิลป์ของกรมศิลปากร หอสมุดแห่งชาติ หอศิลป์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า หอศิลป์สนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ต่อมานักธุรกิจ บุคคล หรือองค์กรเอกชน ได้เปิดหอศิลป์ขึ้นมาหลายแห่ง เช่น บางกอก อาร์ต เซ็นเตอร์ เปิดใน พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นหอศิลป์เอกชนแห่งแรก โดยมีการจัดแสดง และจำหน่ายผลงานอย่างมีระบบ ในปีเดียวกันนั้น ม.ร.ว. พันธุ์ทิพย์  บริพัตร ได้เปิด "ห้องศิลปนิทรรศมารศี" ที่พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด ใน พ.ศ. ๒๕๐๕ ร.ต.อ. สุวิทย์  ตุลยายน เปิดหอศิลป์ "บางกะปิแกลเลอรี่" ที่ซอยอโศก พ.ศ. ๒๕๑๖ ดร. ป๋วย  อึ๊งภากรณ์ ได้ผลักดันให้มีการจัดสร้าง "หอศิลป พีระศรี" ขึ้น ในซอยอรรถการประสิทธิ์ ถนนสาทรใต้ ซึ่งเป็นที่ดินของ ม.ร.ว. พันธุ์ทิพย์  บริพัตร และดำเนินกิจการมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๓๓ ก็ยุติการดำเนินงาน

หอศิลป์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน สามารถแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท ได้แก่

            ๑. หอศิลป์แห่งชาติิ เป็นหอศิลป์ที่มีความสำคัญระดับชาติ ควบคุมดูแลและบริหารจัดการโดยรัฐบาล เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ตั้งอยู่ภายในบริเวณกรมศิลปากร ถนนหน้าพระธาตุ เขตพระนคร กรุงเทพฯ



ผลงานศิลปะ ซึ่งจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป
ถนนเจ้าฟ้า เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ



            ๒. หอศิลป์ประจำจังหวัด ควบคุมดูแลและบริหารจัดการโดยหน่วยงานระดับจังหวัด หรือส่วนราชการระดับท้องถิ่น เช่น หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ หอศิลป์นครหาดใหญ่ เฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดสงขลา

            ๓. หอศิลป์ในมหาวิทยาลัย ควบคุมดูแลและบริหารจัดการโดยมหาวิทยาลัย หรือสถาบันอุดมศึกษา เช่น หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ หอศิลป์สนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หอศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยขอนแก่น



ศิลปินนำชมผลงานศิลปะ ภายในหอศิลป์ริมน่าน อำเภอเมืองฯ จังหวัดน่าน


            ๔. หอศิลป์เอกชน ควบคุมดูแลและบริหารจัดการโดยบุคคล สมาคม องค์กร หรือบริษัทเอกชน เช่น ห้องศิลปนิทรรศมารศี ที่พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด บางกะปิแกลเลอรี่ บางกอก อาร์ต เซ็นเตอร์ หอศิลปะปทุมวัน หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ของธนาคารกรุงเทพ หอศิลป์ของธนาคารไทยพาณิชย์ หอศิลป์กรุงไทย ของธนาคารกรุงไทย หอศิลป์ตาดู ของบริษัทยนตรกิจ จำกัด หอศิลป์ริมน่าน ของนายวินัย  ปราบริปู ที่จังหวัดน่า


หอศิลป์จัดกิจกรรมศิลปะให้เด็กๆ เข้าร่วมกิจกรรม

            กิจกรรมด้านการศึกษาของหอศิลป์มีหลากหลาย เช่น การจัดบรรยาย โดยอาจให้ศิลปินเป็นผู้บรรยาย การจัดประชุมทางวิชาการ การจัดแสดงผลงานศิลปะ การจัดนิทรรศการหรือจัดกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างหอศิลป์กับชุมชน นิทรรศการที่จัดแสดงผลงานศิลปะแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ นิทรรศการถาวร นิทรรศการหมุนเวียน และนิทรรศการเคลื่อนที่ การจัดกิจกรรมต่างๆ ของหอศิลป์นับว่าเป็นการช่วยเผยแพร่ผลงานศิลปะของศิลปินให้แก่ประชาชนได้อย่างกว้างขวาง