เล่มที่ 16
พระไตรปิฎกและการชำระพระไตรปิฎก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ข้อความเบื้องต้น ความรู้เรื่อง "พระไตรปิฎก"

พระไตรปิฎก คือ ตำรา หรือหนังสือ ซึ่งบันทึกคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาไว้เป็นหลักฐาน

            คำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา ในชั้นแรกแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ คำสั่งที่เรียกว่า พระวินัย กับคำสอนที่เรียกว่า พระธรรม แต่ในภาษาพูดใช้คำว่า พระธรรมวินัย โดยนำพระธรรมมาเรียงไว้หน้าที่พระวินัย



พุทธศาสนิกชนเวียนเทียนร่วมกับพระภิกษุสงฆ์
ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

พระวินัยเป็นเรื่องของคำสั่ง หรือศีล หรือระเบียบข้อบังคับ ที่ห้ามทำความชั่ว หรือสิ่งที่ไม่เหมาะ ไม่ควรต่างๆ
พระธรรม เป็นเรื่องของคำสอน หรือธรรม ที่ให้ทำความดี และให้ชำระจิตใจให้สะอาด

            การสอนให้ละเว้นความชั่ว และให้ทำความดี มีสอนกันอยู่ทั่วไป ไม่เฉพาะแต่ในพระพุทธศาสนา แต่การสอนให้ชำระจิตให้สะอาด ทางพระพุทธศาสนากำหนดไว้เป็นอีกส่วนหนึ่งอย่างชัดเจน และถือเป็นเรื่องที่เน้นมาก ถัดมาจากข้อละเว้นความชั่ว และทำความดี
            ต่อมาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงแล้วประมาณ ๒๓๔ หรือ ๒๓๕ ปี ในการสังคายนาครั้งที่ ๓ ได้มีการคิดกันในหมู่พระสงฆ์ ผู้รับผิดชอบต่อพระพุทธศาสนาว่า คำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา น่าจะแยกเป็น ๓ ส่วน คือ

พระภิกษุสงฆ์
ผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา
๑. พระวินัย ได้แก่ ระเบียบข้อบังคับหรือศีล 
๒. พระสูตร ได้แก่ คำสอนทั่ว ๆ ไปทั้งของพระพุทธเจ้าและพระ- พุทธสาวก และ
๓. พระอภิธรรม ได้แก่คำสอน ที่เน้นส่วนที่เป็นแก่นแห่งความจริงหรือสาระ สำคัญ

            เมื่อมีการแบ่งคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาออกเป็น ๓ ส่วนเช่นนี้ จึงได้มีการใช้คำว่า "พระไตรปิฎก" คือ ตำรา หรือคัมภีร์พระพุทธศาสนา ๓ ส่วน คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก โดยกำหนดให้ระเบียบข้อบังคับ หรือศีลเป็นพระวินัยปิฎก คำสอนทั่วๆ ไปเป็น พระสุตตันตปิฎก และคำสอนที่ว่าด้วยสาระสำคัญ หรือแก่นความจริง เป็นพระอภิธรรมปิฎก