เล่มที่ 16
พระไตรปิฎกและการชำระพระไตรปิฎก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ภาษาที่รองรับพระไตรปิฎก

            โดยเหตุที่พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย ภาษาที่ใช้ในการสั่งสอนพระพุทธศาสนา จึงเป็นภาษาพื้นเมืองของชาวอินเดียในสมัยนั้น ภาษาที่ปรากฎในพระไตรปิฎก หรือรองรับพระไตรปิฎกเดิมเรียกว่า "มาคธี" หรือ "ภาษาของชาวมคธ" เพราะแคว้นมคธเป็นแคว้นสำคัญ ทั้งในพุทธกาลคือ ในสมัยพระพุทธเจ้า และในสมัยต่อมา แต่เมื่อมีการศึกษาพระพุทธศาสนากันแพร่หลายขึ้น จึงเรียกภาษาที่รองรับพระไตรปิฎกว่า "ภาษาบาลี" คำว่า ภาษาบาลีหมายถึง ภาษาพระไตรปิฎก การที่เรียกอย่างนี้ เพราะนิยมเรียกพระไตรปิฎกว่า "บาลี" เรียกคำอธิบายพระไตรปิฎกว่า "อรรถกถา" เรียกคำอธิบายอรรถกถาว่า "ฎีกา" เรียกคำอธิบายฎีกาว่า "อนุฎีกา" แม้ว่าภาษาบาลีจะไม่มีการพูดการใช้ในสมัยปัจจุบัน แต่โดยเหตุที่เป็นภาษารองรับพระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนา จึงได้มีการศึกษาภาษาบาลีกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในประเทศอินเดีย ประเทศศรีลังกา ประเทศไทย ประเทศพม่า ประเทศอังกฤษ และประเทศสหรัฐอเมริกา ดังจะเห็นได้ว่า ในประเทศอังกฤษได้มีสมาคมบาลีปกรณ์ (Pali Text Society) ตั้งขึ้น เพื่อจัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาบาลี และคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ รวมทั้งหนังสืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎก ทั้งภาษาบาลี และที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ การตั้งสมาคมบาลีปกรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ (ค.ศ. ๑๘๘๑) ทำให้พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี และฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ แพร่หลายไปในวงการศึกษาพระพุทธศาสนาทั่วโลก ต้องพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง และที่ควรทราบก็คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงมีส่วนสำคัญในการพระราชทานพระราชทรัพย์ ช่วยเหลือสมาคมบาลีปกรณ์ในประเทศอังกฤษ ให้แปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาอังกฤษรวม ๓ เล่ม ซึ่งตรงกับพระไตรปิฎกเล่ม ๙, ๑๐ และ ๑๑ ที่พิมพ์ในประเทศไทย แม้ในปัจจุบันหนังสือพระไตรปิฎกทั้ง ๓ เล่มนั้น จะขาดคราว และต้องพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง ก็ยังพิมพ์ข้อความแสดงพระเกียรติยศของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงอุปถัมภ์การแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาอังกฤษนั้น จนถึงสมัยปัจจุบัน

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์