เล่มที่ 16
พระไตรปิฎกและการชำระพระไตรปิฎก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
พระไตรปิฎกและส่วนต่างๆ ของพระไตรปิฎก

ย้อนมากล่าวถึงพระไตรปิฎก และส่วนต่างๆ ของพระไตรปิฎก เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า มีเรื่องน่าศึกษา และน่านำไปปฏิบัติอย่างไรบ้าง อันแสดงถึงคุณค่า และลักษณะคำสั่งสอนในพระไตรปิฎกโดยย่อ พอมองเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนา เป็นเพชรน้ำหนึ่งของประเทศไทยอย่างไร

พระไตรปิฎก หรือที่เรียกในภาษาบาลีว่า ติปิฎก หรือเตปิฎก นั้น กล่าวตามรูปศัพท์แปลว่า ๓ คัมภีร์ หรือตำรา ๓ ชุด เมื่อแยกเป็นคำๆ เป็น พระ + ไตร + ปิฎก คำว่า พระ เป็นคำแสดงความเคารพ หรือยกย่อง ไตรแปลว่า ๓ ปิฎกแปลได้ ๒ อย่าง คือ แปลว่า คัมภีร์ หรือตำราอย่างหนึ่ง แปลว่า กระจาด หรือตะกร้าอีกอย่างหนึ่ง ที่แปลว่า กระจาด หรือตะกร้า หมายความว่า เหมือนภาชนะ ที่รวบรวมคำสั่งสอนของ พระพุทธเจ้าไว้เป็นหมวดหมู่ ไม่กระจัดกระจาย

งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ณ มณฑลพิธี ท้องสนามหลวง

พระไตรปิฎกแบ่งโดยย่อ

คือ :

๑. พระวินัยปิฎก ว่าด้วยศีลของภิกษุและ ภิกษุณี
๒. พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระธรรม เทศนาทั่วๆ ไป
๓. พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยธรรมะที่ เป็นสาระสำคัญ

โดยเฉพาะคำว่า พระอภิธรรมปิฎก ถ้าเขียนตามพื้นฐานภาษาบาลีจะเขียนว่า พระอภิธัมมปิฎก แต่โดยที่คนไทยนิยมเขียนคำว่า ธรรม พื้นฐานภาษาสันสกฤต จึงเขียนเป็น พระอภิธรรมปิฎก

ส่วนต่างๆ ของแต่ละปิฎก

๑. พระวินัยปิฎก

แบ่งออกเป็น ๕ ส่วน คือ:

๑. ส่วนที่ว่าด้วยศีลของภิกษุ
๒. ส่วนที่ว่าด้วยศีลของภิกษุณี
๓. ส่วนที่ว่าด้วยเรื่องสำคัญ
๔. ส่วนที่ว่าด้วยเรื่องที่สำคัญรองลงมา
๕. ส่วนที่ว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ด

ชื่อในภาษาบาลีของ ๕ ส่วนนั้น คือ
๑. ภิกขุวิภังค์หรือมหาวิภังค์
๒. ภิกขุนีวิภังค์
๓. มหาวรรค
๔. จุลวรรค และ
๕. บริวาร

กล่าวโดยลำดับ เล่มที่พิมพ์ในประเทศไทย วินัยปิฎกมี ๘ เล่ม คือ ส่วนที่ ๑ ได้แก่เล่ม ๑-๒ ส่วนที่ ๒ ได้แก่เล่ม ๓ ส่วนที่ ๓ ได้แก่เล่ม ๔ - ๕ ส่วนที่ ๔ ได้แก่เล่ม ๖-๗ และส่วนที่ ๕ ได้แก่เล่ม ๘

๒. พระสุตตันตปิฎก

แบ่งออกเป็น ๕ ส่วน คือ

๑. ส่วนที่ว่าด้วยพระสูตรขนาดยาว เรียกว่า ทีฆทิกาย มี ๓๔ สูตร ได้แก่เล่ม ๙ - ๑๐ -๑๑

๒. ส่วนที่ว่าด้วยพระสูตรขนาดกลาง เรียกว่า มัชฌิมนิกาย มี ๑๕๒ สูตร ได้แก่เล่ม ๑๒ - ๑๓ - ๑๔

๓. ส่วนที่ว่าด้วยพระสูตรซึ่งประมวล หรือรวมคำสอนประเภทเดียวกันไว้เป็นหมวดหมู่ เรียกว่า สังยุตตนิกาย มี ๗,๗๖๒ สูตร ได้แก่เล่ม ๑๕ - ๑๙

๔. ส่วนที่ว่าด้วยธรรมะเป็นข้อๆ ตั้งแต่ ๑ ข้อถึง ๑๑ ข้อ และมากกว่านั้น เรียกว่า อังคุตตรนิกาย มี ๙,๕๕๗ สูตร ได้แก่เล่ม ๒๐ - ๒๔

๕. ส่วนที่ว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ด หรือเล็กๆ น้อยๆ ๑๕ หัวข้อ เรียกว่า ขุททกนิกาย จำนวนสูตรมีมาก จนไม่มีการนับจำนวนไว้ ได้แก่เล่ม ๒๕ - ๓๓ รวมเป็นพระสุตตันตปิฎก ๒๕ เล่ม

๓. พระอภิธรรมปิฎก

แบ่งออกเป็น ๗ ส่วน คือ

๑. ส่วนที่ว่าด้วยการรวมกลุ่มธรรมะ เรียกว่า ธัมมสังคณี ได้แก่เล่ม ๓๔

๒. ส่วนที่ว่าด้วยการแยกกลุ่มธรรมะ เรียกว่า วิภังค์ ได้แก่เล่ม ๓๕

๓. ส่วนที่ว่าด้วยธาตุ เรียกว่า ธาตุกถา ได้แก่ส่วนแรกของเล่ม ๓๖

๔. ส่วนที่ว่าด้วยบัญญัติคือ การนัดหมายรู้ทั่วไป เช่น การบัญญัติบุคคล เรียกว่า บุคลคลบัญญัติ ได้แก่ส่วนหลังของเล่ม ๓๖

๕. ส่วนที่ว่าด้วยคำถามคำตอบทางพระพุทธศาสนา เพื่อชี้ให้เป็นความเข้าใจผิดพลาดต่างๆ เรียกว่า กถาวัตถุ ได้แก่เล่ม ๓๗

๖. ส่วนที่ว่าด้วยธรรมะเข้าคู่กันเป็นคู่ๆ เรียกว่า ยมก ได้แก่ เล่ม ๓๘ - ๓๙

๗. ส่วนที่ว่าด้วยปัจจัย คือ สิ่งเกื้อกูลให้เกิดผลต่างๆ รวม ๒๔ ปัจจัย เรียกว่า ปัฏฐาน ได้แก่เล่ม ๔๐ ถึงเล่ม ๔๕ รวม ๖ เล่ม และรวมพระอภิธรรมปิฎกแล้วเป็นหนังสือ ๑๒ เล่ม

กล่าวโดยจำนวนเล่ม เล่ม ๑ - ๘ เป็น พระวินัยปิฎก เล่ม ๙ - ๓๓ รวม ๒๕ เล่มเป็น พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๓๔ - ๔๕ รวม ๑๒ เล่มเป็นพระอภิธรรมปิฎก รวมเป็นพระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม ซึ่งประเทศไทยจัดพิมพ์ขึ้น