พระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นภาษาไทย
เมื่อมีการศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง ผู้รู้ภาษาบาลีก็ได้แปลข้อความต่างๆ ในพระไตรปิฎกออกเป็นภาษาในชาติของตน แพร่หลายขึ้น ในประเทศไทยมีการศึกษาพระไตรปิฎกมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และได้มีการแปลบางส่วนแห่งพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยสืบต่อกันมา จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ แต่มิได้แปลจนจบครบชุด อาจกล่าวได้ว่า การแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นภาษาไทย ได้กระทำกันจนครบชุด ในสมัยของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ นี้เอง เมื่อคณะสงฆ์ปรารภงานฉลอง ๒๕ ศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนา ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้น จัดแปล และพิมพ์ขึ้นสำเร็จสมบูรณ์ทั้ง ๔๕ เล่ม ภายหลังงานฉลอง พ.ศ. ๒๕๐๐ แห่งพระพุทธศาสนา ต่อมาได้มีการจัดพิมพ์ซ้ำอีก และมีการแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนั้น มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็ได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎก พร้อมทั้งคำอธิบายพระไตรปิฎกที่เรียกว่า อรรถกถา แปลเป็นภาษาไทยรวม ๙๑ เล่มจบบริบูรณ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ และได้จัดให้พระราชทานแก่ผู้แทนองค์การพระพุทธศาสนาทั่วโลก ซึ่งได้รับเชิญให้มาร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสนี้ อนึ่ง ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช นี้ ยังได้มีผู้จัดทำ และจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับย่อความ ให้เหลือแต่สาระสำคัญจากพระไตรปิฎกภาษาบาลี ๔๕ เล่ม ให้รวมเป็นเพียงเล่มเดียวในภาษาไทยอีกด้วย