ความเป็นมาของพระไตรปิฎก ในสมัยที่ยังไม่มีการจดจารึกเป็นตัวหนังสือ เมื่อกว่า ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ท่านใช้วิธีท่องจำคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา แล้วกล่าวทบทวนหรือสวดพร้อมๆ กันนำสืบต่อกันมา โดยเหตุที่คำสั่งสอนมีอยู่มาก ถึงขนาดเมื่อพิมพ์รวมเป็นเล่ม หนังสือพระไตรปิฎกแล้ว มีจำนวน ถึง ๔๕ เล่ม ยากที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะท่องจำเพียงผู้เดียวให้จบบริบูรณ์ได้ จึงมีการแบ่งหน้าที่กัน ให้กลุ่มนี้ท่องจำส่วนนี้ กลุ่มนั้นท่องจำส่วนนั้น กลุ่มอื่นท่องจำส่วนอื่น รวมกันหลายๆ กลุ่ม ช่วยกันท่องจำพระไตรปิฎก เรียงลำดับ ตั้งแต่ต้นจนจบ สามารถกล่าวทบทวนปากเปล่าได้ | |
สมเด็จพระสังฆราช ทรงอธิษฐานจิตลงอักขระแผ่นทอง | เมื่อมีการใช้ตัวหนังสือ และมีการเขียนหนังสือแพร่หลายขึ้น จึงได้มีการจดจารึกข้อความแห่งพระไตรปิฎกลงในใบลาน ใบลานคือ ใบของต้นลาน ซึ่งนอกจากใช้สานทำหมวก ทำเครื่องใช้อื่นๆ แล้ว ยังใช้แทนกระดาษ ในสมัยที่ยังมิได้คิดทำกระดาษขึ้น |
วิธีจดจารึกข้อความลงในใบลานที่เรียกว่า "จาร" นั้น คือ ใช้เหล็กแหลมที่เรียกว่า "เหล็กจาร" เขียนหรือขีดข้อความเป็นตัวหนังสือ ลงไปในแผ่นใบลาน แล้วเอาเขม่าหรือดินหม้อ ซึ่งมีสีดำ ผสมกับน้ำมะพร้าว คนให้เข้ากันดี แล้วทาถูลงไปบนรอยที่ขีดเขียนนั้น แล้วเอาผ้าเช็ดให้แห้ง สีดำที่ซึมลงไปในรอยขีดเขียน จะปรากฏเป็นตัวหนังสือ ให้อ่านข้อความได้ตามความประสงค์ เมื่อรวมใบลานได้หลายแผ่นแล้ว ถ้าจะทำให้เป็นชุดเดียวกันคล้ายเล่มหนังสือ ก็เอาเหล็กแหลมเผาไฟ เจาะให้เป็นช่อง เอาด้ายร้อยรวมเป็นผูก แล้วใช้ผ้าห่อเก็บไว้ให้เป็นชุดติดต่อกัน การจดจารึกข้อความแห่งพระไตรปิฎกลงในใบลานนี้ กระทำเป็นครั้งแรกในประเทศศรีลังกา เมื่อ พ.ศ. ๔๓๓ สมัยของพระเจ้าวัฏคามณีอภัย บางหลักฐานก็ว่าเมื่อ พ.ศ. ๔๕๐ |