เล่มที่ 16
พระไตรปิฎกและการชำระพระไตรปิฎก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับคอมพิวเตอร์

            ใน พ.ศ. ๒๕๓๑ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ นำเอาข้อความในพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย เข้าจานแม่เหล็กชนิดแข็ง เพื่อนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ สามารถเรียกคำไหนก็ได้ในเล่มใด หน้าใด บรรทัดที่เท่าไร ให้มาปรากฏในจอภาพได้ทันที นับเป็นครั้งแรกในโลก ที่ได้มีการนำข้อความภาษาบาลีเข้าในจานแม่เหล็กชนิดแข็งที่เรียกว่า Hard Disk แต่สามารถเก็บข้อความ ในหนังสือพระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม รวมหลายสิบล้านตัวอักษรมาเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ได้เป็นผลสำเร็จ ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช นับเป็นเกียรติประวัติอย่างสูงของประเทศไทย บุคคลผู้เป็นหัวหน้าคณะดำเนินการ ในเรื่องนี้คือ ผศ.ดร.ศุภชัย ตั้งวงศ์ศานต์ ผู้อำนวยการสำนักคอมพิวเตอร์ ผู้ร่วมคณะคือ ผศ.ดำรัส วงศ์สว่าง รองผู้อำนวยการ น.ส. นันทิกา เบญจเทพานันท์ และ น.ส. จิราภร เกียรติไพบูลย์ ภายใต้การสนับสนุน ของ ศาสตราจารย์ ณัฐ ภมรประวัติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่องนี้องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ถาวรในประเทศไทย ได้ทำเป็นประกาศ แจ้งให้สมาชิกองค์การพุทธศาสนิกชนสัมพันธ์แห่งโลก หลายสิบประเทศ ซึ่งไปร่วมประชุมใหญ่ ครั้งที่ ๑๖ ในนครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ทราบทั่วกันแล้ว
องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนาตั้งอยู่ในประเทศไทย
องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนาตั้งอยู่ในประเทศไทย
            ได้กล่าวแล้วว่า ประเทศไทยได้ทำงาน สำคัญเป็นประเทศแรกในโลก ที่ได้นำข้อความ ในพระไตรปิฎกทั้ง ๔๕ เล่ม เข้าบันทึก ในจานแม่เหล็กชนิดแข็งที่เรียก Hard Disk เพื่อนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๑ แต่ในปัจจุบัน กำลังก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปกว่าเดิม กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชศรัทธาได้พระราชทาน พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งดำเนินการเรื่องนี้มาแต่ต้น ได้เพิ่มข้อความภาษาบาลี ในหนังสืออธิบายพระไตรปิฎก ที่เรียกว่า อรรถกถา และคำอธิบายอรรถกถา ที่เรียกว่า ฎีกา เป็นหนังสือ ๕๓ เล่ม เพิ่มเติมจากข้อความในพระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม รวมเป็นหนังสือทั้งสิ้น ๙๘ เล่ม ให้สามารถเรียกข้อความที่ต้องการในพระไตรปิฎก ในอรรถกถา และในฎีกา ซึ่งอธิบายข้อความให้ชัดเจน ๓ ระดับ มาปรากฏในจอภาพ และพิมพ์ข้อความนั้น ๆ ออกมาเป็นเอกสาร ให้ได้ศึกษาค้นคว้าได้ ภายในเวลาไม่กี่วินาที ที่ต้องการ ซึ่งงานนี้สำเร็จก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ นับเป็นพระราชกรณียกิจ ในการที่ทรงส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างสำคัญยิ่ง เป็นความสำเร็จผลอันยิ่งใหญ่ ที่มีคุณค่าสูงต่อการศึกษาค้นคว้าของวงวิชาการ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา มิใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่นักวิชาการทั่วโลก ก็จะได้รับประโยชน์จากงานนี้ด้วย พระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้ จะจารึกเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของชาวพุทธ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ และในขณะเดียวกันก็เป็นเกียรติประวัติของมหาวิทยาลัยมหิดล และทุกท่านผู้ดำเนินงานนี้ จึงนับเป็นเรื่องน่านิยมยินดี สมกับที่ประเทศไทย ได้รับยกย่องให้เป็นศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนา โดยองค์การพุทธทั่วโลก ได้ลงมติให้ ประเทศไทยเป็นที่ตั้งถาวรแห่งสำนักงานใหญ่ องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (The World Fellowship of Buddhists) ตลอดไป