เล่มที่ 16
พระไตรปิฎกและการชำระพระไตรปิฎก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            
ลักษณะคำสั่งสอนที่นำสมัยในพระไตรปิฎก

            มีหลายเรื่องที่คนในสมัยปัจจุบันเห็นความสำคัญ และพยายามให้การศึกษา เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสุขภาพอนามัย และระบบประชาธิปไตย เป็นต้น ซึ่งปรากฏว่า พระพุทธเจ้า ทรงแนะนำสั่งสอนไว้แล้ว เมื่อย้อนหลังไปกว่า ๒,๕๐๐ ปี ดังจะนำมากล่าวเพียงเล็กน้อย ต่อไปนี้

เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

            ๑. ทรงชักชวนให้ปลูกสวน ปลูกป่า เป็นการได้บุญคู่เคียงไปกับงานด้านสังคมสงเคราะห์อื่นๆ เช่น สร้างสะพาน ให้น้ำใช้น้ำดื่ม ให้ที่อยู่อาศัย (วนโรปสูตร พระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๑๔๖ หน้า ๔๖)

            ๒. ทรงห้ามพระภิกษุตัดหรือทำลายต้นไม้ (พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ข้อ ๓๕๔ หน้า ๒๓๓)

            ๓. ทรงห้ามพระภิกษุก่อสร้างที่อยู่อาศัยตามชอบใจ ต้องให้สงฆ์คือ ภิกษุ ๔ รูปชี้ไปแสดงที่ให้ก่อน สงฆ์ในวัดจึงเท่ากับเป็นเจ้าหน้าที่สำนักผังเมืองของสมัยนี้ (พระไตรปิฎก เล่ม ๑ ข้อ ๕๐๒ หน้า ๓๓๘ และข้อ ๕๒๓ หน้า ๓๕๘)

            ๔. ทรงห้ามพระภิกษุเผาป่า (พระไตรปิฎก เล่ม ๗ ข้อ ๑๗๖ หน้า ๖๘)

            ๕. ทรงกำหนดข้อปฏิบัติเกี่ยวกับ ที่อยู่อาศัยที่เรียกว่า เสนาสนวัตร เกี่ยวกับส้วม ที่เรียกว่าวัจจกุฎีวัตร ให้ช่วยกันรักษาความสะอาด ไม่ปล่อยให้สกปรกรกรุงรัง (พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๔๓๐ - ๔๓๑ หน้า ๒๓๖ - ๒๓๙ และ ข้อ ๔๓๖ - ๔๓๗ หน้า ๒๔๓ - ๒๔๕)
สมเด็จพระสังฆราช ทรงสนับสนุนให้ประชาชนร่วมใจกันปลูกป่า ปลูกสวน ซึ่งเป็นข้อหนึ่งในคำสอนที่นำสมัยของพระไตรปิฎก
สมเด็จพระสังฆราช ทรงสนับสนุนให้ประชาชนร่วมใจกันปลูกป่า ปลูกสวน
 ซึ่งเป็นข้อหนึ่งในคำสอนที่นำสมัยของพระไตรปิฎก
เกี่ยวกับสุขภาพอนามัย

            ๑. ทรงห้ามพระภิกษุถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ บ้วนน้ำลายลงในน้ำ (พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ข้อ ๘๗๘ หน้า ๕๖๙)

            ๒. ทรงห้ามพระภิกษุฉันอาหารในภาชนะเดียวกัน

            ๓. ทรงห้ามพระภิกษุดื่มน้ำในถ้วยหรือที่ใส่น้ำเดียวกัน (พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๑๐๙ หน้า ๔๐)

            ๔. ทรงห้ามรับผู้เป็นโรคพึงรังเกียจ เช่น โรคเรื้อน เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา (พระไตรปิฎกเล่ม ๔ ข้อ ๑๐๑ หน้า ๑๕๐)

            ๕. ทรงเน้นเรื่องความรู้ประมาณในการบริโภคอาหาร ว่าเป็นหลักสำคัญประการหนึ่งของพระพุทธศาสนา (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๒๔ หน้า ๔๐)

            ทรงชี้โทษของการอดอาหารว่า เป็นการทรมานตนให้ลำบาก ได้ทรงทดลองปฏิบัติมาแล้ว และไม่เกิดผลดีอะไร แต่การรู้ประมาณในการบริโภคอาหารที่ทรงสั่งสอนไว้นี้ กลายมาเป็นเรื่องสำคัญในสมัยปัจจุบัน ซึ่งเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย ของบุคคลทั่วไป

คำสอนในพระไตรปิฎก ทรงสอนให้รักษาสุขภาพอนามัยส่วนตัว เช่น ทรงห้ามพระภิกษุฉันอาหารในภาชนะเดียวกัน
เกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม และศีลธรรม

            แม้พระพุทธศาสนาจะมีคำสอนหลักธรรมชั้นสูง ให้พ้นทุกข์ได้ เพราะขจัดหรือทำลายความโลภ โกรธ หลง ของแต่ละบุคคล ให้เบาบาง จนถึงสงบระงับโดยสิ้นเชิง แต่พระพุทธศาสนาก็มีคำสอนให้เหมาะแก่คนทุกระดับชั้น ที่สามารถศึกษาแล้ว ประพฤติปฏิบัติตามให้ได้รับผลดี ตามความสามารถที่จะปฏิบัติได้ ดังนี้:-

            ๑. ประโยชน์ปัจจุบัน (ทิฏฐธัมมิกัตถะ) ได้แก่ ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และสังคมคือ สอนให้สามารถตั้งตัวได้ทางเศรษฐกิจ และสังคม

            ๒. ประโยชน์อนาคต (สัมปรายิกัตถะ) ได้แก่ ประโยชน์ที่มีศีลธรรมเป็นพื้นฐาน ทำให้ประโยชน์ปัจจุบัน ยั่งยืนก้าวหน้าไปถึงอนาคต ไม่ล่มจมตกต่ำ

            ๓. ประโยชน์อย่างยิ่ง (ปรมัตถะ) คือ ความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ด้วยอาศัยคุณธรรมคือ การเว้นความชั่ว (ศีล) การประพฤติความดีทำจิตให้สงบ (สมาธิ) และการชำระจิตใจให้สะอาด (ปัญญา)

            ประโยชน์ทั้ง ๓ ระดับนี้เหมือนการตั้งอาหารไว้ ให้เลือกบริโภคตามความพอใจ ใครสามารถประพฤติปฏิบัติได้ในระดับใด ก็เลือกปฏิบัติ และได้ผลในระดับนั้น (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ข้อ ๑๔๔ - ๑๔๕ หน้า ๒๘๙ - ๒๙๘ และเล่ม ๙ กูฏทันตสูตร ข้อ ๑๙๙ - ๒๓๘
หน้า ๑๖๒ - ๑๙๑ และเล่ม ๑๒ จูฬสาโรปมสูตร ข้อ ๓๕๓ - ๓๖๐ หน้า ๓๗๔ - ๓๘๕)

            มีข้อที่ควรกล่าวเป็นพิเศษในเรื่องนี้ ก็คือ ทางพระพุทธศาสนามิได้มองข้ามปัญหาเศรษฐกิจ ว่าเป็นปัญหากระทบถึงสังคม และศีลธรรมด้วย ในกูฏทันตสูตรที่อ้างถึงไว้แล้ว พระพุทธเจ้า จึงทรงแนะนำให้จัดเศรษฐกิจให้ดีให้ประชาชน มีความสุขถ้วนหน้า

คำอ่านพระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับอักษรโรมัน (ตัวอย่างคำอ่าน ๙ บรรทัด)
เกี่ยวกับระบบประชาธิปไตย

            ในพระวินัยปิฎกมีข้อความที่เกี่ยวข้องพระพุทธเจ้า ทรงมอบความเป็นใหญ่ให้แก่สงฆ์ ในการควบคุมกิจการสำคัญ ทางพระพุทธศาสนา เช่น การรับคนเข้ามาอุปสมบท หรือบวชเป็นพระภิกษุ และกิจกรรมอื่นๆ ผู้ร่วมประชุมมีสิทธิออกเสียงคัดค้าน หรือเห็นด้วย ทั้งที่ในสมัยพุทธกาลยังไม่มีประเทศใด หรือรัฐใด มีการปกครองระบบประชาธิปไตย ส่วนใหญ่จะเป็นระบบราชาธิปไตย ที่เรียกว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ พระมหากษัตริย์ ทรงมีอำนาจสมบูรณ์ในการปกครอง อาจมีบางรัฐมีการปกครองโดยคณะกษัตริย์ เช่น กษัตริย์แคว้นวัชชี และแคว้นมัลละ ซึ่งการปกครองประเภทนี้เรียกว่า อภิชนาธิปไตยคือ มีชนชั้นสูงเป็นใหญ่ แต่การที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้สงฆ์เป็นใหญ่นั้น มิได้กำหนดชาติชั้นวรรณะ เมื่อเข้ามาบวชแล้ว ก็มีสิทธิในการเข้าประชุม มีสิทธิแสดงความคิดเห็น คัดค้านการเข้าประชุม มีสิทธิแสดงความคิดเห็น คัดค้าน หรือเห็นด้วย กับข้อเสนอ นอกจากนั้นยังมีข้อกำหนด ว่าด้วยองค์ประชุม ต้องมีพระภิกษุเท่านั้นเท่านี้รูป และมีข้อกำหนด เรื่องสถานที่ประชุม ภายในสีมา (เขตแดน) นอกจากนั้นเมื่อพระพุทธเจ้า ประทานความเป็นใหญ่ให้แก่สงฆ์แล้ว เมื่อมีปัญหา เรื่องการแต่งตั้งพระภิกษุผู้ทำหน้าที่ต่างๆ ในกิจกรรมของสงฆ์ ก็ไม่ทรงแต่งตั้งเอง ทรงให้นำเรื่องเข้าเสนอ ขออนุมัติต่อสงฆ์ ก่อนมอบหมายหน้าที่

            ในสมัยที่อังกฤษปกครองประเทศอินเดีย อุปราชอังกฤษคือ มาร์ควิส ออฟ เซตแลนด์ (Marquis of Zetland) ได้เขียนหนังสือเรื่อง มรดกของอินเดีย (Legacy of India) กล่าวว่า เมื่อกว่าสองพันปีมาแล้ว ในการประชุมของพระสงฆ์ ในพระพุทธศาสนาในอินเดีย ได้มีรูปแบบการปฏิบัติแบบสภาผู้แทนของพวกเราเอง (ชาวอังกฤษ) ในปัจจุบัน