ลักษณะคำสั่งสอนทั่วไปในพระไตรปิฎก (จะนำมากล่าวโดยสังเขปเพียง ๙ ข้อ) ๑. ให้มีระเบียบวินัย มีจรรยามารยาท มีสมบัติผู้ดี (พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ตลอดเล่มกับในเล่มอื่นๆ ทั่วไป) ๒. ให้มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และต่อโลก (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๕ - ๖ หน้า ๓ - ๔ มงคลสูตร เล่ม ๑๑ ข้อ ๑๗๒ - ๒๐๖ หน้า ๑๙๔ - ๒๐๗ สิงคาลกสูตร เล่ม ๒๑ ข้อ ๑๘๖ หน้า ๒๔๓) โดยเฉพาะจากเล่ม ๒๑ ขอนำใจความย่อมากล่าวดังนี้ : ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญามาก ย่อมไม่คิดเบียดเบียนตน ผู้อื่น ทั้งตนและผู้อื่น เมื่อคิดย่อมคิดสิ่งเกื้อกูล แก่ตนเอง แก่ผู้อื่น แก่ทั้งตนเองและผู้อื่น และ แก่ โลกทั้งโลก ๓. ให้กตัญญูรู้คุณ และกตเวที ตอบแทนคุณท่านผู้มีพระคุณ ให้บำรุงเลี้ยงมารดาบิดา (พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ สิงคาลกสูตร : เล่ม ๒๕ มงคลสูตร : และเล่ม ๒๐ ข้อ ๑๖๔ หน้า ๑๐๙) ๔. ให้มีความขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้าน เอาชนะความทุกข์ยาก และอุปสรรค (พระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๘๔๓ หน้า ๓๑๕ และใกล้เคียง เช่นว่า จะล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร คนหมั่นขยันย่อมหาทรัพย์ได้ เป็นต้น) นอกจากนี้ ยังมีคำสอนเรื่องความเพียรอีกมากกว่าพระไตรปิฎกเล่มอื่นๆ เพราะความเพียรเป็นเหตุให้บรรลุความสำเร็จผลอันสำคัญประการหนึ่ง ๕. ให้มีความซื่อสัตย์สุจริต ละอายใจ และรังเกียจกลัวที่จะทำความชั่วใดๆ ถือว่า ถ้าใครมีคุณธรรมคือ ความละอายใจ และความ รังเกียจ กลัวต่อการทำความชั่วนี้ ผู้นั้นได้ชื่อว่า มีคุณธรรมของเทวดา และมีคุณธรรมระดับใช้ปกครองโลกได้ทั้งโลก ที่เรียกว่า โลกบาล (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๖ หน้า ๓ และเล่ม ๒๐ ข้อ ๒๕๕ หน้า ๖๕ ว่าด้วยเรื่องเทวธรรม คือ ธรรมะที่ทำคนให้เป็นเทวดา โดยไม่ต้องรอให้ตายเสียก่อน และธรรมะที่เป็นโลกบาลคือ (คุ้มครองโลก) ) ๖. ให้มีความอดทนอดกลั้น ไม่อ่อนแอ ไม่วู่วาม เช่น อดทนต่อความลำบากตรากตรำ อดทนต่อทุกขเวทนา อดทนต่อถ้อยคำล่วงเกิน เป็นต้น (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๒๔ หน้า ๔๐ ; ข้อ ๖ หน้า ๔ ; เล่ม ๒๐ ข้อ ๔๑๐ หน้า ๑๑๘ ; เล่ม ๑๕ ข้อ ๘๔๕ หน้า ๓๑๖) ๗. ให้มีเมตตาคือ ไมตรีจิต คิดจะให้เป็นสุข ให้มีกรุณาคือ คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ให้มีมุทิตา พลอยยินดี เมื่อผู้อื่นได้ดี ไม่ริษยา และให้มีอุเบกขา รู้จักวางใจเป็นกลาง ไม่ลำเอียง ตามความเหมาะสม และถือว่า เป็นพรหมวิหารธรรมคือ ธรรมประจำใจของผู้ใหญ่ หรือผู้ประเสริฐ คนธรรมดา ถ้ามีคุณธรรมเหล่านี้ ก็เป็นพระพรหมโดยคุณธรรมได้ (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๑ ข้อ ๑๙๐ หน้า ๒๔๙) ๘. ให้รู้จักทำใจให้สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ความสงบนี้เรียกว่า สมถะ บ้าง เรียกว่า สมาธิ บ้าง ๙. ให้รู้จักทำปัญญาให้เกิดขึ้น ด้วยการคิด ด้วยการฟัง อ่าน หรือศึกษาเล่าเรียน ด้วยการลงมือปฏิบัติ หรืออบรมให้เกิดปัญญา ปัญญานี้เรียกว่า ญาณความรู้บ้าง วิปัสสนา ความเห็นแจ่มแจ้งบ้าง คำสอนทั้งข้อ ๘ และข้อ ๙ นี้เป็นข้อปฏิบัติอบรมจิตใจให้บริสุทธิ์ สะอาด ผ่านคลายความโลภ หรือเห็นแก่ได้เห็นแก่ตัว ผ่อนคลายความโกรธ และผ่อนคลายความหลง เป็นเหตุให้ระงับดับความทุกข์ได้ คำสอนทั้ง ๒ ข้อคือ ข้อ ๘ กับข้อ ๙ เรื่องให้ทำจิตให้สงบ และเรื่องทำให้เกิดปัญญานี้ถือว่า เป็นคำสอนให้ปฏิบัติ เพื่อคลายทุกข์ บางครั้งพระพุทธเจ้าทรงย่ออริยมรรคมีองค์ ๘ มีความเห็นชอบ เป็นต้น มีความตั้งใจมั่นชอบเป็นข้อสุดท้ายลงในคุณธรรมเพียง ๒ ข้อคือ สมถะ หรือสมาธิข้อหนึ่ง กับวิปัสสนา หรือปัญญาอีก ข้อหนึ่ง (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๒๗๕ หน้า ๗๗ - ๗๘ ; เล่ม ๑๙ ข้อ ๑๙๔ หน้า ๗๘ และข้อ ๑,๖๕๔ หน้า ๕๒๐) |