หน้าที่ของตับ
ตับมีหน้าที่สำคัญหลายประการ อันได้แก่ การสร้างน้ำดี ซึ่งออกมาในลำไส้ ช่วยให้อาหารประเภทไขมันถูกย่อย และดูดซึมง่ายขึ้น เก็บสำรองอาหาร โดยเก็บเอากลูโคส (GLUCOSE) ไปสะสมไว้ในเซลล์ตับ ในสภาพของกลัยโคเจน (GLYCOGEN) และจะเปลี่ยนกลัยโคเจนกลับออกมาเป็นกลูโคสในกรณีที่ร่างกายต้องการใช้ได้ทันที สะสมวิตามินเอ ดี และวิตามินบีสิบสอง นอกจากนี้ยังกำจัดสารพิษที่ลำไส้ดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือด เมื่อสารพิษผ่านตับ ตับก็จะทำลาย สารพิษบางชนิดตับทำลายไม่ได้ตรงกันข้ามจะไปทำลายเซลล์ตับ เช่นแอลกอฮอล์ (ALCOHOL) คาร์บอนเตตราคลอไรด์ (CARBON TETRACHLORIDE) และคลอโรฟอร์ม (CHLOROFORM) เป็นต้น ตับจะทำหน้าที่สร้างวิตามินเอ จากสารแคโรตีน (สารสีส้มที่มีอยู่ในแครอต และมะละกอ) ธาตุเหล็กและทองแดงจะถูกเก็บสะสมอยู่ที่ตับ เช่นเดียวกับวิตามิน เอ ดี และบีสิบสอง สร้างองค์ประกอบในการแข็งตัวของเลือด อาทิเช่น ไฟบริโนเจน (FIBRINOGEN) และโปรธรอมบิน (PROTHROMBIN) เป็นต้น และยังสร้างสารป้องกันการแข็งตัวของเลือด อันได้แก่ เฮปาริน (HEPARIN) ทำหน้าที่ในการกินและทำลายเชื้อโรคโดยมีเซลล์แมกโครฟาจ (MACROPHAGE) ที่อยู่ในตับ ซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า คุฟเฟอร์เซลล์ (KUPFFER'S CELL) และหน้าที่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือเป็นแหล่งพลังงานสร้างความร้อนให้แก่ร่างกาย
ในขณะที่ทารกยังอยู่ในครรภ์ ตับจะทำหน้าที่เป็นอวัยวะสร้างเม็ดเลือดแดง ตับจะยุติหน้าที่นี้ โดยให้ไขกระดูกทำหน้าที่แทนในเวลาต่อมา นอกจากจะเป็นที่สร้างเม็ดเลือดแดงในระยะแรกแล้ว ในภาวะปกติคุฟเฟอร์เซลล์ที่บุเป็นผนังของแอ่งเลือดหรือไซนูซอยด์ (SINUSOID) จะทำหน้าที่ทำลายเม็ดเลือดด้วย ตับเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของร่างกายทำหน้าที่สำคัญมากมาย ถ้าเซลล์ตับถูกทำลายเสื่อมสภาพไปจะมีผลต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตามตับเป็นอวัยวะที่มหัศจรรย์ในร่างกายแม้ว่ามีเซลล์ตับที่ดีเหลืออยู่เพียงร้อยละ 10-15 แต่ตับก็ยังสามารถรับภาระหน้าที่ต่างๆ ของตนเองที่จะประคับประคองชีวิตได้
วิธีทดสอบตรวจดูการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ :วิธีอีไลซา
การทดสอบสมรรถภาพตับ
เราจะทดสอบสมรรถภาพตับ โดยการทดสอบหลายวิธีทางห้องชันสูตร แต่ละวิธีจะทดสอบหน้าที่ หรือสมรรถภาพตับได้แต่เพียงจำกัด ไม่อาจทดสอบหน้าที่มากมายทุกประการ เมื่อตับเสื่อมสภาพ ก็มิได้ทำให้การทำหน้าที่ต่างๆ ของตับเสื่อมไปในอัตราที่เท่าเทียมกัน นอกจากนั้นยังมีอวัยวะอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ร่วมและทำหน้าที่เสริมกับตับอีกด้วย ดังนั้นเมื่อมีผลการทดสอบผิดปกติก็ไม่ได้หมายความแน่ชัดว่าตับเสื่อมสภาพไป หรือในบางครั้งผลการทดสอบปกติก็ไม่ได้หมายความแน่ชัดชัดว่าตับเสื่อมสภาพไป หรือในบางครั้งผลการทดสอบปกติก็ไม่ได้หมายความว่าตับจะปกติร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม ด้วยเหตุนี้การทดสอบจึงต้องกระทำกันเป็นชุด ในบางกรณีต้องใช้เข็มแทงเข้าไปในตับ เพื่อเอาเนื้อมาตรวจชันสูตรอีกด้วย การทดสอบต่างๆ เป็นเพียงดังนี้ ชี้แนะถึงความเสื่อมสลายที่เกิดขึ้นภายในตับเท่านั้น อย่างไรก็ตามการทดสอบสมรรถภาพตับ จะมีประโยชน์ในกรณีต้องการที่จะชันสูตรว่า ตับมีพยาธิสภาพ หรือเป็นโรคหรือไม่ เพื่อแยกประเภทของดีซ่าน หรืออาการเหลือง เพื่อติดตามการดำเนินของโรค และติดตามผลการรักษาโรคตับ
การทดสอบสมรรถภาพของตับที่กระทำกันอยู่เป็นประจำนั้น ได้แก่ การทดสอบเกี่ยวกับสารบิลิรูบิน (BILIRUBIN) และสารที่เกี่ยวข้องกับบิลิรูบิน และการทดสอบที่บ่งถึงมีการคั่งของน้ำดี การทดสอบเกี่ยวกับความสามารถในการขับถ่ายของเสียของตับ การทดสอบเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของเซลล์ตับโดยการทดสอบปริมาณโปรตีน (อัลบูมิน (ALBUMIN) โกลบุลิน (GLOBULIN) และองค์ประกอบในการแข็งตัวของเลือด) การทดสอบเกี่ยวกับการครองธาตุคาร์โบไฮเดรต ที่เรียกกันว่า กาแลกโทส โทเลอรานซ์ เทสต์ (GALACTOSE TOLERANCE TEST) การทดสอบหาปริมาณเอนไซม์ อะมิโนทรานสเฟอเรส (AMINO TRANSFERASE) ซึ่งเราจะคุ้นกันในนามของเอสจีโอที และเอสจีพีที การทดสอบหาเอนไซม์ไอโซซิเตรต (ENZYME ISOCITRATE) ดีไฮโดรจีเนส (DEHYDRO- GENASE) และแลกเทส ดีไฮโดรจีเนส (LAC- TATE DEHYDROGENASE) การทดสอบหา เอนไซม์อัลคาไลน์ฟอสฟาเตส เป็นต้น การ ทดสอบเอนไซม์ต่าง ๆ นี้ เป็นการทดสอบที่จะ แสดงถึงการเสื่อมสมรรถภาพของเซลล์ตับด้วย สำหรับในผู้ป่วยโรคตับอักเสบ การทดสอบที่ ปฏิบัติกันอยู่เป็นประจำ ได้แก่ การทดสอบที่ เกี่ยวกับบิลิรูบิน (BILIRUBIN) การทดสอบ หาระดับเอนไซม์ที่แสดงถึงการเสื่อมสมรรถภาพ ของเซลล์ตับ