ตับอักเสบ อี
จากการศึกษาทางระบาดวิทยา การเฝ้าระวังโรคอย่างมีระบบ และต่อเนื่อง ในหลายประเทศ การศึกษาวิธีการแพร่โรค และการศึกษาทางด้านอาการวิทยา ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ว่า ตับอักเสบชนิดไม่ใช่เอ และไม่ใช่บีนั้น มีอยู่ ๒ รูปแบบดังได้กล่าวได้แล้วคือ รูปแบบที่หนึ่งจะติดต่อแพร่โรคโดยการได้รับเลือด ผลิตภัณฑ์เลือด หรือโดยการใช้เข็ม - กระบอกฉีดยาร่วมกัน ในกลุ่มฉีดยาเสพติด ซึ่งเรียกชื่อภาษาอังกฤษในทางการแพทย์ว่า "พาร์เอนเตอรัล" นั้น ได้รับการจำแนกในเวลาต่อมาว่า เป็นตับอักเสบ ซี สำหรับอีกรูปแบบหนึ่งพบว่า อาจระบาดอยุ่ตามชุมชนเล็กๆ หรือ "สปอราติก" และการแพร่โรคเกิดขึ้นโดยการกินหรือที่เรียกว่า "เอนเตอริก" หรือตับอักเสบ อี นั่นเอง
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้มีการทดลองถ่าย เชื้อ "ไวรัสตับอักเสบ อี" ที่ได้จากมนุษย์ไปยังลิงเป็นผลสำเร็จ และเชื้อที่ก่อโรคพบว่าเป็น "อนุภาคที่คล้ายไวรัส" ขนาดประมาณ ๒๗-๓๔ นาโนเมตร มีคุณสมบัติทางเคมีเป็น อาร์เอ็นเอ เซรุ่มที่ได้จากผู้ที่ป่วยเป็นโรคตับอักเสบ ชนิดไม่ใช่เอ ไม่ใช่บี ชนิดที่ติดต่อโดยการกินนี้ เมื่อนำไปทำปฏิกิริยากับ "อนุภาคที่คล้ายไวรัส" ดังกล่าวพบว่า ทำปฏิกิริยาจำเพาะต่อกัน ในขณะนี้ข้อมูลบ่งชี้ว่า อนุภาคดังกล่าวนั้น อาจจะจัดไว้ได้ในกลุ่มของ "คัลลิซิไวรัส" (CALICIVIRUS) แต่ก็มีลักษณะบางอย่างที่ใกล้ชิดกับ เอนเตโรไวรัส-๗๒ หรือไวรัสตับอักเสบ เอ ด้วย
ไวรัส อี นี้ จะก่อให้เกิดการระบาดของโรคตับอักเสบในหนุ่มสาว และผู้ใหญ่วัยกลางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น อินเดีย ปากีสถาน เนปาล พม่า เม็กซิโก รัสเซีย และแอฟริกา ระยะฟักตัวประมาณ ๓-๖ สัปดาห์ เป็นที่น่าสังเกตว่า หากหญิงมี- ครรภ์เป็นโรคตับอักเสบชนิดนี้อัตราตายอาจสูง ถึงร้อยละ ๒๐ สำหรับในประชากรทั่ว ๆ ไป อัตราตายจากตับอักเสบ อี มีเพียงร้อยละ ๑-๒ เท่านั้น
สำหรับคำถามที่ว่า ไวรัสตับอักเสบ อี จะ ติดโดยทางอื่นๆ นอกจากทางการรับประทานหรือไม่ และเมื่อเป็นแล้ว จะเป็นพาหะอมโรคหรือไม่ หรือจะกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรังหรือไม่นั้น ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถที่จะยืนยันได้ จำเป็นจะต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกต่อไป