อาการของโรคตับอักเสบ เอ
โรคจะมีอาการเริ่มแรกอย่างปัจจุบันทันด่วนมากกว่าที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบชนิดอื่นๆ โดยมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว มีอาการอ่อนเพลียมาก คลื่นไส้อาเจียนในระยะแรกๆ ทำให้วินิจฉัยโรคผิดพลาด โดยคิดว่าเป็นโรคติดเชื้อของทางเดินอาหาร หลังจากมีอาการดังกล่าวแล้ว ๔-๕ วัน หรืออาจถึงหนึ่งสัปดาห์ จึงจะตรวจพบอาการได้ชัดเจนคือ เริ่มมีอาการดีซ่าน หรือตัวเหลือง ตาเหลือง ถ้าเหลืองมากจะคันตามผิวหนัง โรคดำเนินต่อไปอีกประมาณ ๑-๒ สัปดาห์ก็จะทุเลา โรคนี้เป็นแล้วมักจะหายขาด ไม่กลายเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง มีบางรายเหมือนกันที่โรครุนแรง จนทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้ไม่ก่อให้เกิดภาวะพาหะเรื้อรัง บุคคลทั่วไปจะไม่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ ในเลือด จึงไม่มีปัญหาในด้านการบริการโลหิต ดังเช่นตับอักเสบจากไวรัสชนิด บี ซี และดี
การตรวจทางห้องปฏิบัติการนั้น ตรวจเลือดจะพบระดับเอนไซม์ อะมิโนทรานสเฟอเรส สูง อาจถึงหลายพันหน่วย แต่พอเริ่มทุเลาระดับเอนไซม์ดังกล่าวก็จะลดลง และมักเป็นปกติภาย ใน ๔ สัปดาห์ ในผู้ป่วยเด็กระดับเอนไซม์ดังกล่าว จะลดลงเร็วกว่าผู้ใหญ่ การตรวจน้ำเหลืองในระยะปัจจุบัน หรือในระยะเริ่มฟื้นโรค จะพบแอนติบอดีชนิดไอจีเอ็มต่อไวรัส เอ และในระยะหลังๆ จะตรวจพบแอนติบอดีชนิดไอจีจี การทดสอบนี้นับว่า เป็นการทดสอบจำเพาะที่จะนำไปวินิจฉัยโรคได้ ส่วนการตรวจอุจจาระหาเชื้อ โดยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนนั้น ยังไม่ใช่วิธีปฏิบัติ โดยทั่วไปจะตรวจเฉพาะในห้องปฏิบัติการวิจัยบางแห่งเท่านั้น
อาหารที่รับประทานดิบๆ อาจมีเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ
สุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นอันตรายต่อตับ
การรักษา
การรักษา ส่วนมากจะเป็นการรักษาทั่วไป และประคับประคอง โดยให้พักผ่อนให้นานเพียงพอ อาจถึง ๔ สัปดาห์ ให้อาหารอ่อน เพื่อให้ย่อยง่าย และให้มีไขมันต่ำ เพื่อป้องกันอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง และอาเจียน แต่ต้องมีแคลอรีเพียงพอ หลีกเลี่ยงยาหรือสารที่เป็นอันตรายต่อตับ เช่น ยารักษาวัณโรค แอลกอฮอล์ (สุรา) ยารักษาความดันโลหิตประเภท เมธิลโดปา เป็นต้น ยาบำรุงตับอาจจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ เพราะมีแพทย์หลายท่านยังไม่เชื่อว่า ยาบำรุงตับหลายๆ ขนานที่มีอยู่จะช่วยให้ผู้ป่วยหายหรือฟื้นจากโรคเร็วขึ้น นอกจากนั้นการรักษาจะเป็นการรักษาโรคตามอาการ เช่น ให้ยา แก้อาเจียน ให้น้ำเกลือ ให้สารละลายน้ำตาล กลูโคสเข้าเส้นเลือด ให้ยาแก้คัน ถ้าคันมาก ให้ ยาคลายกังวลในกรณีที่นอนไม่หลับ เป็นต้น สำหรับสารหรือยาต้านไวรัส ในขณะนี้ยังไม่มี สารหรือยาต้านไวรัสที่จะใช้รักษาโรคนี้โดยเฉพาะ
การป้องกันตับอักเสบ เอ
การติดเชื้อตับอักเสบ เอ นี้ อาจเกิดขึ้นได้ โดยไม่ปรากฏอาการของโรค ประชากรวัยหนุ่มสาว และวัยกลางคนในประเทศที่มีการสาธารณสุขไม่ดี อาจติดโรคตามธรรมชาติ และไม่ปรากฎอาการ แต่มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
การป้องกันโรคสำหรับผู้ที่ขาดภูมิคุ้มกันโรคตับอักเสบ เอ
ในกรณีที่มีผู้เดินทางจากดินแดนปลอดโรคตับอักเสบ เอ หรือดินแดนที่มีอุบัติการณ์โรค ตับอักเสบ เอ ต่ำ (โอกาสที่จะมีภูมิคุ้มกันตาม ธรรมชาติต่ำ) ไปยังดินแดนที่มีโรคชุกชุม ให้ฉีดอิมมูโนโกลบุลินหนึ่งครั้ง ขนาด ๐.๐๒ ซีซี.ต่อ น้ำหนักตัว ๑ กิโลกรัมก่อนเดินทาง
ถ้าพักพิงอยู่เป็นเวลานานให้ฉีด ๐.๐๕ ซีซี. ต่อกิโลกรัมทุกๆ ๕-๖ เดือน
ในกรณีที่ไปสัมผัสโรคมา เช่น อยู่ร่วมชายคาเดียวกัน และใกล้ชิดกับผู้ป่วย เจ้าหน้าที่รักษาบริบาลผู้ป่วยตับอักเสบ เอ ในระยะที่มีการระบาดโดยทั่วไปในท้องถิ่น ให้ฉีดขนาด ๐.๐๒ ซีซี. ต่อน้ำหนักตัว ๑ กิโลกรัมครั้งเดียว
ขณะนี้ได้มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ เอ นี้ขึ้นแล้ว กำลังอยู่ในระหว่างการทดลองภาคสนาม เชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้ จะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรคตับอักเสบ เอ มาใช้กันอย่างกว้างขวาง