ตับอักเสบ บี
โรคนี้มีชื่อเดิมหลายชื่อ เช่น ตับอักเสบ หลังจากฉีดเซรุ่ม ตับอักเสบระยะฟักตัวนาน ตับอักเสบที่เกี่ยวกับการถ่ายเลือด ต่อมาจึงได้ชื่อสากลว่า ตับอักเสบ บี
ภาพแสดงไวรัสตับอักเสบ บี และส่วนประกอบที่พบในเลือดผู้ติดเชื้อ
ตามบันทึกเหตุการณ์ที่สำคัญปรากฏว่า โรคนี้ระบาดอย่างกว้างขวาง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ที่เมืองเบรเมน ประเทศเยอรมนี โดยติดจากการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ เนื่องจากหนองฝีที่นำมาใช้ได้มีน้ำเหลืองของมนุษย์ ที่มีเชื้อไวรัสของตับอักเสบ บี ปนเปื้อนอยู่ด้วย การระบาดต่างๆ ในระยะต่อมาพอจะมีหลักฐานที่พบจากการสอบสวนย้อนหลังกลับไปได้ว่า ติดโรคจากเข็ม ฉีดยาและกระบอกฉีดยาที่ไม่สะอาด หรือติด จากการได้รับเลือดหรือผลิตภัณฑ์จากเลือดเป็น ส่วนใหญ่
การติดต่อของไวรัสตับอักเสบชนิด บี นี้ ได้มีการศึกษาทดลองถ่ายเชื้อให้แก่มนุษย์ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ผลของการศึกษาเชื่อกันว่า โรคนี้ติดต่อกันได้ โดยการฉีดเท่านั้น แต่การศึกษา ในระยะต่อมาพบว่า การสัมผัสใกล้ชิดมากๆ เป็นระยะเวลานาน ก็อาจจะติดเชื้อได้
การศึกษาเกี่ยวกับตับอักเสบ บี นี้ ได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ภายหลังที่บลุมเบอร์กพบออสเตรเลีย แอนติเจน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ก็สามารถถ่ายเชื้อให้ลิงชิมแปนซี จนทำให้ติดเชื้อได้สำเร็จ ซึ่งเป็นกุญแจที่สำคัญในการศึกษาพยาธิกำเนิด และการพัฒนาวัคซีนป้องกันตับอักเสบ บี ในเวลาต่อมา
ไวรัสตับอักเสบ บี ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๑๓ มีคณะนักวิจัยได้ศึกษารูปลักษณ์ของไวรัสตับอักเสบ บี พบว่า มีอยู่ ๓ รูปลักษณ์ด้วยกัน คือ แบบรูปทรงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๐ นาโนเมตร รูปทรงแท่งขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๐x๕๐- ๒๓๐ นาโนเมตร และรูปทรงกลมขนาดใหญ่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๔๒ นาโนเมตร ซึ่ง เรียกกันว่า "อนุภาคของเดน" ซึ่งหมายถึง อนุภาคของไวรัสตับอักเสบ บี นั่นเอง ปัจจุบันไวรัสตับอักเสบ บี นี้ได้ถูกจำแนกไว้ในกลุ่มของเฮปาดนาไวรัส (Hepadnavirus) หรือ เฮปา- ดีเอ็นเอ-ไวรัส
โดยสรุป ไวรัสตับอักเสบ บี เป็นไวรัสที่มีกรดยีโนมเป็นดีออกซีไรโบนิวคลิอิกหรือดีเอ็นเอ (DNA) มีขนาด ๔๒ นาโนเมตร ตรวจพบได้ในเลือดหรือเซรุ่มของผู้ที่ป่วยเป็นโรคตับอักเสบบี ในระยะเฉียบพลัน หรือในระยะที่เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง หรือในภาวะพาหะเรื้อรัง นอกจากในเลือดจะพบได้ในสารน้ำของร่างกายทุกชนิดภายในอนุภาคที่สมบูรณ์จะพบส่วนประกอบดังต่อไปนี้
๑. ส่วนแกนกลางของอนุภาค (core) มีคุณสมบัติเป็นแอนติเจนเรียกกันว่า เฮพาไตติส บี คอร์ แอนติเจน (HBc antigen) หรืออาจเรียกสั้นๆ ว่า "ซี-แอนติเจน" ซึ่งมีขนาด ๒๗ นาโนเมตร ภายในแกนกลางนี้ จะมี "ดีเอ็นเอ" และเอนไซม์ "ดีเอ็นเอ โปลีเมอเรส" ด้วยซี-แอนติเจนมักตรวจไม่พบในเลือดผู้ป่วย หรือผู้ที่เป็นพาหะอมเชื้อ เพราะมีเปลือกหุ้มอยู่ เปลือกที่ว่านั้นคือ เฮพาไตติส บี เซอร์เฟส แอนติเจน
๒. ส่วนประกอบของไวรัสที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งนั้น เป็นเพียงโปรตีนของไวรัส ที่เซลล์ตับสร้างขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นเปลือกหุ้ม ไม่มีส่วนของยีนของไวรัสอยู่เลย ส่วนประกอบนี้เนื่องจากอยู่ที่พื้นผิวของไวรัสจึงเรียกว่า เฮพาไตติสบี เซอร์เฟซ แอนติเจน ((Surface antigen) หรือเรียกย่อว่า เอชบี เอส แอนติเจน อาจเรียกสั้นๆ ว่า "เอส-แอนติเจน (S-antigen)" มีผู้พยายามเรียกเป็นภาษาไทยว่า "แอนติเจนพื้นผิว" เหมือนกัน
๓. เอชบีอีแอนติเจน (HBe antigne) เป็นโปรตีนของไวรัสอีกชนิดหนึ่งที่พบในเลือดของคนที่ตรวจพบว่า มี "เอส-แอนติเจน" อาจเรียกสั้นๆ ว่า อี-แอนติเจน ซึ่งจะพบในบางรายเท่านั้นไม่ได้พบทุกราย โปรตีนชนิดนี้มักจะไปเกาะอยู่กับโปรตีนอื่นๆ ในเซรุ่มของมนุษย์ถ้ามีเชื้อไวรัสเป็นจำนวนมากในเลือด จึงจะตรวจพบ "อี-แอนติเจน" ดังนั้นถ้าตรวจพบ "อี" แสดงว่ามีแนวโน้มที่จะแพร่เชื้อได้ในอัตราที่สูงมาก
๔. ดีเอ็นเอ โพลีเมอเรส เป็นเอนไซม์พบอยู่ในแกนกลางของอนุภาคของไวรัส สามารถตรวจพบได้ในเซรุ่มของผู้ที่มี "เอส-แอนติเจนบวก" บางรายมักพบร่วมกับ "อี-แอนติเจน" หากตรวจพบจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า แพร่โรคไปยังผู้อื่นได้ในอัตราที่สูงเช่นกัน
แอนติบอดีที่สร้างขึ้นสนองตอบต่อแอนติเจนชนิดต่างๆ ได้แก่
๑. แอนติ-เอชบีซี (Anti-HBc)
จะปรากฎในเลือดผู้ป่วยเร็วกว่าชนิดอื่น ภายหลังที่มีการติดเชื้อและตรวจพบต่อไปได้อีกนาน
๒. แอนติ-เอชบีอี (Anti-HBe)
จะปรากฎในเลือดของผู้ป่วยระยะต่อมาจากแอนติเอชบีซี เมื่อโรคทุเลา ส่วนใหญ่จะพบแอนติเอชบีอี และขณะที่ตรวจพบนั้น อี-แอนติเจนก็จะหายไปด้วย
๓. แอนติ-เอชบีเอส (Anti-HBs)
พบภายหลังการติดเชื้อช้ากว่าแอนติบอดีสองชนิดแรกเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน มักเกิดขึ้นประมาณ 3 เดือน ซึ่งในขณะนั้น เอส-แอนติเจนหายไปจากเลือดแล้ว มีคุณสมบัติป้องกันมิให้ติดเชื้อไวรัส บี อีก จะพบอยู่เป็นเวลานานหลายๆ ปี หลังการติดเชื้อ
ความทนทานของไวรัสตับอักเสบชนิด บีการทำลายเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด บี ทำได้ดังนี้คือ
๑.ความร้อน คือ ต้มให้เดือด ๑๐๐ °ซ. หรือนึ่งที่ ๑๒๑ °ซ. ภายใต้ความดัน ๑๕ ปอนด์ ต่อหนึ่งตารางนิ้ว ประมาณครึ่งชั่วโมง หรืออบ ในตู้อบร้อน ๑๗๐ °ซ. ประมาณ ๑ ชั่วโมง
๒.อบด้วยก๊าซอีธีลิน ออกไซด์
๓.แช่ในสารเคมี เช่น โซเดียม ไฮโปคลอไรด์ (น้ำยาไฮโป ๐.๕%) ๓๐ นาที ฟอร์มาลิน ๔๐% ๑๒ ชั่วโมง ฟอร์มาลิน ๒๐% ใน ๗๐% แอลกอฮอล์ ๑๘ ชั่วโมง