เล่มที่ 17
โรคตับอักเสบจากไวรัส
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
อาการของโรคตับอักเสบ บี

โรคนี้พบได้ทุกอายุ และจะพบได้บ่อยกว่าตับอักเสบ เอ โรคนี้จะพบได้กระจัดกระจายไม่ระบาดเป็นกลุ่ม ดังเช่นตับอักเสบ เอ

อาการเริ่มแรกของโรคจะคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ไม่รวดเร็ว โดยเริ่มมีไข้ต่ำๆ หรืออาจไม่มีอาการนำเลยก็ได้ ต่อมาจะค่อยๆ มีอาการมากขึ้นตามลำดับ โดยมีไข้สูงขึ้น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน และค่อยๆ มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง เป็นดีซ่าน

            ในรายที่เป็นตับอักเสบ บี เรื้อรัง อาจจะไม่มีอาการเลยก็ได้ หรือปรากฏเพียงอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ เจ็บบริเวณตับในระยะหลังๆ เท่านั้น อาการอ่อนเพลียเป็นอาการที่สำคัญในผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรัง บางคนกว่าจะทราบว่าเป็นตับอักเสบเรื้อรัง ก็เมื่อโรคได้ดำเนินไปจนเป็นตับแข็งแล้วก็มี โดยไม่เคยปรากฏอาการดีซ่านมาก่อน ในผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรังนี้อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดข้อ หรือไตอักเสบ เป็นต้น

            โรคตับอักเสบ บี ชนิดเฉียบพลันนั้นประมาณร้อยละ ๗๐-๘๕ จะทุเลา และหายสนิท ในระยะประมาณ ๔-๖ สัปดาห์ ส่วนที่เหลือส่วนหนึ่งโรคมีความรุนแรงถึงแก่ชีวิต หรืออาจมีภาวะแทรกซ้อนได้หลายชนิด เช่น ทุเลาแล้วกลับเป็นซ้ำ มีอาการคั่งของน้ำดี มีการอักเสบของตับอย่าง รุนแรง เป้นต้น อีกส่วนหนึ่งจะกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรังหลายรูปแบบ ซึ่งจะดำเนินต่อไป เป็นตับแข็ง หรือมะเร็งตับ และอีกส่วนหนึ่งจะกลายเป็นพาหะเรื้อรัง โดยที่ไม่แสดงอาการเจ็บป่วย แต่จะมีเชื้ออยู่
อาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคตับอักเสบ

การรักษาและดูแลผู้ป่วย

            ๑.ผู้ป่วยโรคตับอักเสบ บี ชนิดเฉียบพลัน และไม่มีภาวะแทรกซ้อนนั้น ให้รักษาแบบทั่วไป แนะนำให้พักผ่อนนานประมาณ ๔ สัปดาห์ และงดออกกำลังกายหนัก หลังจากหายป่วยแล้วประมาณ ๒-๓ เดือน ให้อาหารที่มีแคลอรีอย่าง เพียงพอ และหลีกเลี่ยงสารหรือยาที่เป็นพิษต่อตับ งดดื่มสุรา และให้การรักษาตามอาการดังเช่นที่ ได้บรรยายไว้ในโรคตับอักเสบ เอ

            ๒.สำหรับกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อน จะต้องได้รับการพิจารณาดูแลรักษาเป็นรายๆ ไป แล้วแต่ว่าจะมีภาวะแทรกซ้อนอย่างใด

            ๓.การรักษาผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังจาก เชื้อตับอักเสบ บี ให้รักษาตามอาการ สำหรับการรักษาด้วยยานั้น ยังอยู่ในระยะทดลองการใช้อินเตอร์เฟอรอนรักษา เป็นวิธีการที่พบว่า ได้ผลดีที่สุด

            ๔.การปฏิบัติต่อผู้เป็นพาหะเรื้อรังที่ไม่มีอาการ

            ๔.๑ ควรตรวจเอนไซม์ อะมิโนทรานสเฟอเรส ถ้าพบว่า ระดับปกติให้ตรวจซ้ำทุก ๖-๑๒ เดือน ถ้าระดับผิดปกติให้ตรวจทุก ๓ เดือน ตรวจหาระดับอัลฟาฟีโตโปรตีน (Alpha fetoprotein-AFP) ทุก ๓-๖ เดือน หากได้ผลผิดปกติ ควรได้รับการตรวจตับ โดยเครื่องอัลตราซาวนด์ หรือเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อพยายามตรวจหาความผิดปกติของตับให้ได้เร็วที่สุด

            ๔.๒ ผู้ที่เป็นพาหะควรตรวจหาเซอร์เฟสแอนติเจน และอัลฟาฟีโตโปรตีนทุกปี

            ๔.๓ แนะนำผู้อยู่ร่วมบ้านเดียวกันให้ ตรวจเลือดหา เซอร์เฟส แอนติเจน และแอนติบอดี ต่อเอชบีซี (Anti-HBc) เพื่อค้นหาผู้อื่นที่อาจเป็นพาหะ ควรตรวจบุตรทุกคน ถ้ามีบุตรเกิดใหม่จากมารดาที่เป็นพาหะ ให้ฉีดวัคซีน หรือวัคซีนร่วมกับอิมมูโนโกลบุลินจำเพาะตั้งแต่แรกเกิด

            ๔.๔ ผู้ที่เป็นพาหะจะประกอบธุรกิจประจำวันได้ตามปกติ ให้ออกกำลังกาย บริหารกายได้ แต่ไม่ให้หักโหม และห้ามดื่มสุรา

            ๔.๕ มิให้ใช้ของใช้ส่วนตัวที่อาจเปื้อนเลือด เช่น แปรงสีฟัน มีดโกนหนวดร่วมกับผู้อื่น

            ๔.๖ ควรแจ้งให้แพทย์ หรือทันตแพทย์ทราบว่า ตนเป็นพาหะ เพื่อแพทย์ ทันตแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ ให้ระมัดระวังเรื่องการติดโรคจากตน และยังจะได้เลี่ยง ในการสั่งยาที่อาจจะเป็นพิษต่อเซลล์ตับ