ความสวยงาม (Beauty)
จัดเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุด ในการพิจารณาถึงคุณค่า และราคาของอัญมณี แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับสายตาของผู้พิจารณา และมักจะเป็นสิ่งที่ยากต่อการกำหนดเจาะจงตายตัวลงไปได้ บางคนอาจจะมองความสวยงามของอัญมณีอยู่ที่สี ในขณะที่บางคนมองความสวยงามอยู่ที่ประกาย ความโปร่งใส ความใสสะอาด ประกายวาว หรือไฟ ที่เป็นผลส่วนใหญ่มาจากการเจียระไนที่ดี ได้สัดส่วน โดยทั่วไปแล้วความสวยงามของอัญมณีส่วนใหญ่ จะเป็นผลมาจากคุณสมบัติหลายๆ อย่างรวมกัน เช่น เพชร ความสวยสดงดงามของเพชร จะพิจารณาตัดสินกันที่ความบริสุทธิ์ สดใส ไร้มลทิน ความไม่มีสี ประกายวาว และการกระจายแสงสี (ไฟ) ในขณะที่คุณภาพ และลักษณะของการเล่นสี จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ในการตัดสินถึงความสวยงามของโอปอ อย่างไรก็ตามสิ่งที่โดยทั่วไปถือกันว่า เป็นความสวยงาม หรือเป็นที่ต้องการ ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลเวลา ตามสภาพศิลปวัฒนธรรม หรือตามความนิยมจากระบบหนึ่งไปสู่อีกระบบหนึ่ง
ความคงทนถาวร (Durability)
เป็คุณสมบัติที่สำคัญในการพิจารณาถึงความเป็น อัญมณี แต่ไม่ได้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก ในการพิจารณาตัดสินถึงคุณค่า และราคาของอัญมณี ความคงทนถาวรของอัญมณี จะขึ้นอยู่กับคุณสมบัติทางกายภาพ ๓ ประการคือ ความแข็ง ความเหนียว และความมีเสถียรภาพทางเคมี ดังนั้น ความคงทนถาวรเป็นสิ่งที่จะแสดงให้เห็นว่า อัญมณีชนิดใดเหมาะสมเพียงใด สำหรับการสวมใส่ในชีวิตประจำวัน และเป็นคุณสมบัติที่สำคัญในมุมมองของผู้สวมใส่อัญมณี
ความหายาก (Rarity)
เป็นคุณสมบัติที่ สำคัญอีกประการหนึ่ง ในการพิจารณากำหนดคุณค่า และราคาของอัญมณี เพราะคุณค่า และราคาของอัญมณี โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความหายาก หรือความมีจำกัด ดังนั้น ถ้าอัญมณีชนิดใดที่มีปริมาณจำกัดเข้าสู่ตลาดการค้า จะมีคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่สามารถเป็นเจ้าของอัญมณีนั้นๆ ได้ เมื่อคนที่ต้องการมีมาก จึงทำให้มีค่ามีราคาสูงขึ้น นอกจากนี้แล้ว ความหายากของอัญมณีใดๆ อาจจะเนื่องมาจากขนาด ความโปร่งใส คุณสมบัติ ลักษณะทางแสงที่พิเศษ หรือมีสีที่สุดสวย เป็นต้น เมื่อเปรียบเทียบกับความสวยงาม และความคงทนถาวรแล้ว ความหายากไม่ได้เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัว ภายในตัวอัญมณีเอง แต่เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับอารมณ์ ความนิยม และความต้องการของมนุษย์
แร่ที่จัดเป็นอัญมณีได้มีอยู่ประมาณ ๙๐ ชนิด แต่มีประมาณ ๒๐ ชนิด ที่มีความสำคัญ และได้รับความนิยมโดยทั่วไป เช่น เพชร ทับทิม ไพลิน มรกต โอปอ หยก ไพฑูรย์ ฯลฯ
หินที่จัดเป็นอัญมณีได้ เช่น ลาพิส-ลาซูลี (มณีสีคราม) ออบซิเดียน (แก้วภูเขาไฟ) ยูนาไคต์ (แกรนิตชนิดหนึ่ง) โมลดาไวต์ (อุลกมณี-ดาวตกชนิดหนึ่ง) โอนิกซ์มาร์เบิล (หินอ่อน) ฯลฯ
สารอินทรีย์ที่จัดเป็นอัญมณี เช่น ไข่มุก กัลปังหา อำพัน งา เปลือกหอย (หอยมุกไฟ โอเพอร์คูลัม หอยสังข์ หอยงวงช้าง) ถ่านหิน (เจต) ฯลฯ
การแบ่งกลุ่มอัญมณี
ปกติแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
๑. เพชร (Diamonds) ทั้งชนิดใสไม่มีสี และชนิดที่มีสีต่างๆ
๒. พลอย (Colored stones) หมายถึง อัญมณี ต่างๆ เช่น ทับทิม ไพลิน มรกต ควอตซ์ หยก ฯลฯ แต่ไม่รวมถึงเพชร