เล่มที่ 20
อัญมณี
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
คุณภาพของอัญมณี

            การพิจารณาคุณภาพของอัญมณี ก็เพื่อที่จะทราบถึงคุณสมบัติ คุณค่า และราคา ของอัญมณีนั้นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับความนิยมของคน คุณสมบัติตามธรรมชาติของอัญมณีแต่ละประเภท คุณสมบัติเฉพาะตัวของอัญมณีแต่ละชนิด นอกจากนี้คุณภาพของอัญมณีแต่ละประเภท แต่ละชนิด แต่ละเม็ด ก็จะไม่เหมือนกัน มีความแตกต่างกันในรายละเอียดบ้างไม่มากก็น้อย โดยทั่วไปมีหลักเกณฑ์พื้นฐานในการพิจารณาคุณภาพของอัญมณี ดังนี้

ทับทิมก่อนเผา 

ทับทิมที่เผาแล้ว  

การเจียระไนพลอย

สี (Color)

            เป็นองค์ประกอบสำคัญอันดับแรก ในการพิจารณาประเมินคุณภาพของพลอย ซึ่งมีรายละเอียดที่จะต้องพิจารณาหลายประการ เช่น รสนิยมแต่ละบุคคล แต่ละยุคสมัย แต่ละชนชาติ ความสามารถส่วนบุคคลในการมองสีต่างๆ เป็นต้น สำหรับเพชรถือเอาความไม่มีสีเป็นสำคัญ ส่วนพลอยถือเอาสีของตัวพลอย ความมืด-สว่าง และความเข้มของสีพลอย เป็นสำคัญ

ความสดใสไร้มลทิน (Clarity)

            เป็นองค์ประกอบสำคัญอันดับแรกในการพิจารณาประเมินคุณภาพของเพชร ซึ่งมีรายละเอียดที่จะต้องพิจารณาหลายประการ เช่น ตำหนิภายนอก มลทินภายใน ซึ่งมลทินภายในนั้น จะต้องพิจารณาเป็นกรณีพิเศษเกี่ยวกับจำนวน ความมากน้อย ขนาด ที่ตั้ง และชนิดของมลทินเหล่านั้น เพชรและพลอยส่วนใหญ่ที่สะอาดสดใสไร้มลทิน หาได้ยากมาก

การเจียระไน (Cutting)

            เป็นการพิจารณาถึง รูปร่าง แบบ สัดส่วน และฝีมือของการเจียระไน การเจียระไนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ คือ ช่วยเพิ่มความงามของสี ความใส ประกายของเพชรและพลอยให้มีมากขึ้น

น้ำหนัก (Carat weight)

            น้ำหนักมาตรฐานในการซื้อขายอัญมณี มีหน่วยเป็น กะรัต (Carat) ๑ กะรัตมีน้ำหนักเท่ากับ ๐.๒๐๐ กรัม และใน ๑ กะรัต ยังถูกแบ่งย่อยออกได้เป็น ๑๐๐ จุด หรือสตางค์ ดังนั้น ๑ จุด หรือ ๑ สตางค์ จะมีน้ำหนักเท่ากับ ๐.๐๐๒ กรัม โดยทั่วไปอัญมณีที่มีขนาดใหญ่จะหายาก ทำให้ราคาต่อกะรัตสูงขึ้น

หลักเกณฑ์ทั้ง ๔ เรียกว่า ๔ C