เล่มที่ 20
อัญมณี
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
อัญมณีประดิษฐ์

            คือ อัญมณีที่ทำขึ้นโดยวิธีการใดๆ เพื่อใช้แทน หรือเลียนแบบ หรือเพิ่มคุณภาพอัญมณี ที่เกิดตามธรรมชาติ แบ่งออกเป็น ๕ ประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้คือ

๑. อัญมณีสังเคราะห์ (Synthetic gemstone)

            เป็นอัญมณีที่ทำขึ้นด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ โดยมีส่วนประกอบทางเคมี คุณสมบัติทางกายภาพ ทางแสง เหมือนกับอัญมณีธรรมชาติ การตรวจแยกอัญมณีสังเคราะห์ออกจากอัญมณีธรรมชาติ ไม่สามารถทำได้ง่ายด้วยตาเปล่า หรือวิธีการธรรมดา ต้องใช้ความรู้ ประสบการณ์ และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เข้าช่วย มนุษย์สามารถสังเคราะห์อัญมณีขึ้นให้เหมือนกับอัญมณีธรรมชาติ ที่มีราคาสูงได้เกือบทุกชนิด เช่น เพชรสังเคราะห์ ทับทิมสังเคราะห์ แซบไฟร์สังเคราะห์ มรกตสังเคราะห์ สปิเนลสังเคราะห์ เป็นต้น

แท่งอัญมณีสังเคราะห์

อัญมณีเลียนแบบบุษราคัม

๒. อัญมณีเทียม (Artificial gemstone)

            เป็น อัญมณีที่ทำขึ้นด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ โดยมีส่วนประกอบทางเคมี คุณสมบัติทางกายภาพ ทางแสงเฉพาะตัว ไม่เหมือนอัญมณีใดๆ แต่มีสี และลักษณะต่างๆคล้ายเพชรหรือพลอยบางชนิด เช่น เพชรรัสเซีย (Cubic Zirconia) จีจีจี (GGG) แย็ก (YAG) สทรอนเชียมไททาเนต (Strontium titanate) แก้ว พลาสติก เป็นต้น อัญมณีเทียม ไม่พบว่าเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ยกเว้นแก้ว การตรวจแยกอัญมณีเทียมออกจากอัญมณีชนิดอื่นๆ สามารถทำได้โดยไม่ยุ่งยากมากนัก เพราะอัญมณีเทียมชนิดต่างๆ มีคุณสมบัติเฉพาะตัวอยู่แล้ว แต่ก็ต้องใช้ความรู้ ประสบการณ์ และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เข้าช่วยด้วย

๓. อัญมณีเลียนแบบ (Imitation or Simulant)

            เป็นอัญมณีที่ทำขึ้น เพื่อการเลียนแบบ โดยมีลักษณะบางประการ หรือทั้งหมด คล้ายหรือเหมือนอัญมณีธรรมชาติมาก บางครั้งจะเหมือนมาก จนยากที่จะแยกได้ด้วยตาเปล่า อัญมณีธรรมชาติ อัญมณีสังเคราะห์ อัญมณีเทียม สามารถนำมาใช้ทำเป็นอัญมณีเลียนแบบได้ทั้งหมด เช่น ใช้แร่เซอร์เพนทีน แร่คาลซิโดนี สีเขียว ซึ่งเป็นอัญมณีธรรมชาติ ทำเป็นอัญมณีเลียนแบบหยก ใช้แซปไฟร์ไร้สีสังเคราะห์ ซึ่งเป็นอัญมณีสังเคราะห์ ทำเป็นอัญมณีเลียนแบบเพชร ใช้คิวบิกเซอร์โคเนีย แย็ก จีจีจี ซึ่งเป็นอัญมณีเทียม ทำเป็นอัญมณีเลียนแบบเพชร ใช้แก้ว พลาสติก ซึ่งเป็นอัญมณีเทียม ทำเป็นอัญมณีเทียมเลียนแบบอัญมณีอื่นๆ แทบทุกชนิด การตรวจแยกอัญมณีเลียนแบบ ในบางครั้งสามารถทำได้ง่าย ด้วยตาเปล่า หรือวิธีการธรรมดา แต่บางครั้งก็อาจต้องใช้ความรู้ ประสบการณ์ และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย

๔. อัญมณีประกบ (Assembled stone)

            เป็น อัญมณีที่ทำขึ้นโดยใช้ชิ้นส่วนของอัญมณีธรรมชาติประกบ หรือปะเข้ากับอัญมณีสังเคราะห์ เช่น ใช้ไพลินจริงประกบกับไพลินสังเคราะห์ ทับทิมจริงประกบกับทับทิมสังเคราะห์ ฯลฯ (เพื่อหลอกลวง) ใช้ชิ้นส่วนของอัญมณีธรรมชาติประกบกับอัญมณีเลียนแบบ เช่น ใช้โกเมนประกบกับแก้ว มรกตประกบกับแก้ว ฯลฯ (เพื่อหลอกลวง) ใช้ชิ้นส่วนของอัญมณีธรรมชาติประกบกับอัญมณีธรรมชาติ เช่น ใช้หยกจริงประกบกับหยกจริง เบริลจริงประกับกับเบริลจริง ฯลฯ เพื่อให้ได้ขนาดใหญ่ขึ้น หรือเพื่อหลอกลวง ใช้โอปอประกบ ๒ ชั้น หรือ ๓ ชั้น เพื่อปรับปรุงสี ความเป็นประกาย และ/หรือปรากฏการณ์ และเพื่อความคงทนถาวรขึ้น การตรวจแยกอัญมณีประกบสามารถทำได้ง่ายด้วยตาเปล่า หรือวิธีการธรรมดา อัญมณีที่ไม่อยู่ในตัวเรือนแล้ว จะตรวจสอบได้ง่ายมากกว่าอัญมณีที่อยู่ในตัวเรือน

๕. อัญมณีเพิ่มคุณภาพ (Enhanced gemstone)

            เป็นอัญมณีที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงลักษณะภายนอก หรือภายใน โดยกรรมวิธีต่างๆ เพื่อทำให้ได้อัญมณีที่ดูสวยงามคงทนมากขึ้น เช่น อัญมณีเคลือบสี (Coated gemstone) อัญมณีเคลือบซึมสี (Color-diffused gemstone) อัญมณีอาบรังสี (Irradiated gemstone) อัญมณีย้อมสี (Dyed gemstone) อัญมณีอุด (Fracture filling gemstone) เป็นต้น สำหรับอัญมณีเผาหรือหุง (Heat- treated gemstone) บางชนิด เช่น คอรันดัม เป็นที่ยอมรับกันว่า เป็นอัญมณีแท้