หน่วยงานที่มีการศึกษาวิจัยอัญมณี
โดยทั่วๆ ไปแล้ว อัญมณีเป็นสิ่งของเครื่องประดับ มีค่า มีราคา มากน้อยต่างๆ กัน เช่นเดียวกับเครื่องประดับอื่นๆ และจากเรื่องราวที่กล่าวมา ในด้านวิชาการอัญมณีศาสตร์พื้นฐานแล้ว จะเห็นได้ว่า มีข้อมูลเนื้อหาหลักเกณฑ์ของอัญมณี ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถยึดถือ ใช้เป็นหลัก เพื่อช่วยในการพิจารณาถึงคุณภาพ และความเป็นจริงของอัญมณี หรือเป็นอัญมณีประดิษฐ์แบบใดได้
โดยที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก การศึกษา ค้นคว้า และวิจัยเกี่ยวกับอัญมณี โดยเฉพาะการวิจัยด้านการเพิ่มคุณภาพอัญมณี จึงเป็นที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นที่ที่เหมาะสมคือ มีแหล่งอัญมณีธรรมชาติที่สำคัญ เช่น ทับทิม ไพลิน ฯลฯ มีวัตถุดิบเพียงพอที่จะใช้ทดลองศึกษาวิจัย หากประสบผลสำเร็จ ก็จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ในด้านอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และยังส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้ดียิ่งขึ้น กรมทรัพยากรธรณีเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่มีการสำรวจ ค้นคว้า วิจัย ตลอดจนให้บริการในการตรวจสอบอัญมณี หรือรัตนชาติ มานานกว่า ๔๐ ปี โดยมีฝ่ายวิเคราะห์วิจัยทางฟิสิกส์ กองวิเคราะห์ ให้บริการตรวจอัญมณี และฝ่ายสำรวจแร่รัตนชาติ กองเศรษฐธรณีวิทยา รับผิดชอบสำรวจแหล่งแร่รัตนชาติ รวมทั้งศึกษาวิจัยการเพิ่มคุณภาพอัญมณีด้วย
วิธีการเพิ่มคุณภาพหลอยโดยการอาบรังสี
นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานเพิ่มขึ้นหลายหน่วย ที่สนใจทำการศึกษาวิจัยการเพิ่มคุณภาพพลอย หรืออัญมณีต่างๆ ได้แก่
๑. กองฟิสิกส์ สำนักงานพลังงาน ปรมาณูเพื่อสันติ มีการศึกษาวิจัยการเพิ่มคุณภาพอัญมณี โดยวิธีการอาบรังสี
๒. กองการวิจัย กรมวิทยาศาสตร์บริการ มีโครงการวิจัย และพัฒนา การเพิ่มมูลค่าพลอย เพื่อการส่งออก
๓. สาขาวิจัยอุตสาหกรรมโลหะ และเซรามิก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มีการศึกษาวิจัยการปรับปรุงคุณภาพอัญมณี โดยใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์
๔. ภาควิชาฟิสิกส์ สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี มีการศึกษา และพัฒนาการสร้างเตาไฟฟ้าอุณหภูมิสูง สำหรับใช้ในการเผาพลอย และมีการศึกษาวิจัยการปรับปรุงคุณภาพอัญมณีด้วย
๕. ภาควิชาเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาธรณีวิทยา และภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันศึกษาวิจัย การสร้างเตาเผาพลอยโดยใช้แก๊ส
นอกจากเรื่องการค้นคว้าวิจัยแล้ว ยังมีสถาบันการศึกษาของเอกชนหลายแห่ง และของรัฐบางแห่ง ที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับอัญมณี ทั้งในด้านการตรวจสอบ วิเคราะห์ เจียระไน ออกแบบ การตลาด ฯลฯ ซึ่งทำให้การศึกษา ความรู้ และความเข้าใจในเรื่องอัญมณี มีการเผยแพร่กว้างขวางมากขึ้น