สิ่งของเครื่องใช้และพรรณไม้ที่เป็นตัวแทนบริวาร ในพิธีสืบชะตาแม่น้ำน่าน
พฤกษศาสตร์พื้นบ้านในประเทศไทย การศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้านในประเทศไทย อยู่ในระยะเริ่มต้น ข้อมูลที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์พืช โดยผ่านการค้นคว้าวิจัยตามแบบแผน มีน้อยมาก เท่าที่มีการจดบันทึกเป็นหลักฐานอยู่บ้าง ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับพืชสมุนไพร ในตำรับยาไทยโบราณ ข้อจำกัดของการศึกษาพฤกษศาสตร์ พื้นบ้านในประเทศไทยก็คือ ประเทศไทยยังขาด ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ของ ทรัพยากรพืช ทั้งยังขาดแคลนนักพฤกษศาสตร์ที่ เชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ทางด้านการจำแนก พรรณพืช และขาดแคลนนักพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน (Ethnobotanist) ผู้มีประสบการณ์สามารถจำแนก พืชในละแวกชุมชนของตนเองได้
ข้อมูลพื้นฐานทรัพยากรพรรณพืชของประเทศใดประเทศหนึ่ง จะปรากฏอยู่ในหนังสือพรรณพฤกษชาติ (flora) ประเทศไทยยังไม่เคยมีหนังสือพรรณพฤกษชาติของประเทศฉบับสมบูรณ์มาก่อน ในขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ตีพิมพ์หนังสือพรรณ พฤกษชาติของประเทศมานานแล้ว โดยนัก พฤกษศาสตร์ชาวตะวันตก ได้แก่ หนังสือพรรณพฤกษชาติของประเทศอินเดีย พม่า แหลมมลายู ภูมิภาคอินโดจีน และชวา หนังสือพรรณพฤกษชาติของประเทศไทยตอนแรก ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ - พ.ศ. ๒๕๓๘ ตีพิมพ์หนังสือไปได้เพียงประมาณร้อยละ ๓๐ ของจำนวนพืชที่มีท่อลำเลียง (vascular plants) ทั้งหมดของประเทศ ซึ่งมีประมาณไม่ต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ ชนิด ดังนั้นประเทศไทยยังขาดข้อมูลพื้นฐานพรรณพฤกษชาติอยู่อีกมาก อันเป็นข้อจำกัดที่สำคัญประการหนึ่ง ในการศึกษา ค้นคว้าพฤกษศาสตร์พื้นบ้านในประเทศไทย
การศึกษาทางพฤกษศาสตร์พื้นบ้านในประเทศไทยที่ผ่านมา ผลงานส่วนใหญ่ปรากฏเป็นเพียงรายงานเบื้องต้น เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์พืช ของกลุ่มชนพื้นบ้าน โดยเฉพาะการใช้พืชสมุนไพร และพืชอาหาร นอกจากนี้มีรายงานไม่กี่เรื่องที่ กล่าวถึง พืชที่มีพิษ พืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบในงาน หัตถกรรมพื้นบ้าน และพืชโบราณที่ปรากฏอยู่ใน จารึก หรือถูกกล่าวขานในวรรณคดีไทยหรือนิทาน พื้นบ้านในยุคสมัยต่างๆ ส่วนงานค้นคว้าวิจัย พฤกษศาสตร์พื้นบ้านตามแบบแผนที่ได้มาตรฐาน โดยมีการสำรวจในพื้นที่พร้อมบันทึกรายละเอียด และทำการเก็บตัวอย่างพรรณไม้แห้งไว้เป็นหลักฐาน (voucher specimen) ยังมีน้อยมาก เท่าที่ปรากฏ มีผลงานเพียงไม่กี่เรื่อง ได้แก่ การศึกษาเกี่ยวกับ การใช้พืชสมุนไพรของชาวเขาบางเผ่าทางภาคเหนือ โดยนักวิชาการชาวต่างประเทศ
งานค้นคว้าวิจัยทางพฤกษศาสตร์พื้นบ้านในประเทศไทยมีขอบเขตกว้าง ขึ้นกับวัตถุประสงค์ และความชำนาญเฉพาะเรื่องของผู้วิจัย แต่ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาการใช้พืชพรรณกลุ่มใดของกลุ่มชนพื้นบ้าน นักวิจัยด้านนี้จำเป็นต้องมีความรู้ และ ประสบการณ์ทางพฤกษศาสตร์จำแนกพวกเป็น พื้นฐานอยู่บ้าง เพื่อช่วยในการปฏิบัติงานภาคสนาม เป็นไปได้รวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น นักวิจัย ควรถือหลักปฏิบัติงานในท้องที่ดังต่อไปนี้
ก. สำรวจพืชพรรณที่ผู้คนนำมาใช้ตามชุมชนพื้นบ้าน ทั้งพืชที่ใช้บริโภค อุปโภค หรือใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา ความเชื่อถือ ฯลฯ และเก็บตัวอย่างพรรณไม้แห้ง (herbarium specimen) ไว้เป็นหลักฐานอ้างอิงในการตรวจสอบชนิดพืช และชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง
ข. บันทึกชื่อพื้นเมือง รายละเอียดรูปพรรณของพืช ถิ่นกำเนิด ประโยชน์หรือโทษของพืช
ค. บันทึกส่วนของพืชที่นำมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะพืชสมุนไพร ต้องระบุว่า ใช้ส่วนราก หัว เหง้า เปลือก ยางหรือชันไม้ แก่นไม้ กิ่งไม้ ใบ ดอก ผล หรือเมล็ด และวิธีการนำมาใช้ การปรุง การผลิต ฯลฯ
ง. บันทึกชื่อ อายุ เพศ และความรู้ของผู้คนพื้นบ้าน ที่ให้ข้อมูล หรือให้ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาพื้นบ้าน และควรสอบถามผู้อื่นในชุมชนเดียวกันซ้ำมากกว่า ๑ ราย เพื่อความแน่นอนว่า มีการใช้พืชดังกล่าวในรูปแบบเดียวกัน
จ. บันทึกสภาพของชุมชนพื้นบ้าน ลักษณะการตั้งถิ่นฐาน และความเป็นอยู่ของชุมชน ช่วงเวลาของการตั้งถิ่นฐาน การทำเกษตรกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อถือต่างๆ |