เล่มที่ 21
พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
น้ำถุ้งหรือน้ำทุ่ง
น้ำถุ้งหรือน้ำทุ่ง

เฉลว
เฉลว

กระติบข้าว
กระติบข้าว
พืชที่ใช้ในงานหัตถกรรมพื้นบ้าน

            กลุ่มชนพื้นบ้านใช้พืชเป็นวัตถุดิบในงานจักสาน หรือทำเครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร เครื่องมือจับหรือดักสัตว์ และภาชนะใช้สอยในครัวเรือน สำหรับไว้ใช้สอยเท่าที่จำเป็น ในการดำรงชีวิตประจำวัน เครื่องมือ หรือภาชนะเหล่านั้น จะมีลักษณะเฉพาะถิ่น ที่บ่งบอกถึงงานฝีมือของกลุ่มชนต่างๆ เครื่องมือเครื่องใช้บางอย่าง มีการผลิตอย่างประณีต หรือมีลวดลายสวยงาม อันเป็นงานฝีมือพื้นบ้าน ที่ได้รับการถ่ายทอดต่อกันมาหลายรุ่น เครื่องใช้ หรือภาชนะพื้นบ้านบางอย่าง ได้กลายมาเป็นของใช้ สำหรับคนชั้นสูง

            เครื่องมือเครื่องใช้หรือภาชนะที่มีลักษณะเฉพาะถิ่น เช่น กระเป๋าและตะกร้าย่านลิเภาของจังหวัดนครศรีธรรมราช ใช้เฟินเถาของสกุลย่านลิเภา (Lygodium) เสื่อกระจูด หรือสาดกระจูดของภาคใต้ใช้ต้นของกระจูด (Lepironia articulata) "หมาหรือหมาจาก" เป็นภาชนะตักน้ำในบ่อทางภาคใต้ ทำด้วยกาบหมากของต้นหมาก (Areca catechu) หรือกาบของต้นหลาวชะโอน (Oncosperma tigillaria) ส่วนภาชนะตักน้ำในบ่อทางภาคเหนือเรียก "น้ำถุ้งหรือน้ำทุ่ง"  สานด้วยไม้ไผ่ แล้วยาด้วยชันและน้ำมันยาง มีไม้ไขว้กันด้านบนตรงปากสำหรับเกี่ยวขอ ไม้ไผ่บางชนิดที่ลำขนาดใหญ่ ปล้องยาว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๕-๒๕ เซนติเมตร มักจะถูกนำมาใช้เป็นกระบอกบรรจุน้ำ ขนถ่ายน้ำ หรือใช้ในระบบประปาจากแหล่งน้ำธรรมชาติตามหมู่บ้านชาวเขาทางภาคเหนือ เช่น ไผ่หก (Dendrocalamus hamiltonii) ไผ่บงใหญ่ (Dendrocalamus brandisii) ไผ่เป๊าะ (Dendrocalamus giganteus) และไผ่ซางดอย (Dendrocalamus membranaceus)

            ไม้ไผ่เป็นวัสดุธรรมชาติอเนกประสงค์ ใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ และงานจักสานหลายประเภท

ประเภทที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค

            เช่น ก่องข้าว หรือกระติบข้าว แอบข้าว แอบยา แอบหมาก ตะกร้า กระบุง กระทาย กระเหล็บ กะโล่ ฯลฯ

ประเภทที่ใช้ในการจับดักสัตว์


            เช่น ลอบ ไซ เอ๋อ ข้องลอยหรือข้องเป็ด อีจู้ สุ่ม ตุ้มปลาไหล ฯลฯ

ประเภทที่ใช้เกี่ยวกับประเพณีความเชื่อและศาสนา


            เช่น ก๋วยน้อย ก๋วยหลวง ตานสลาก เฉลว เป็นต้น