เล่มที่ 21
พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

ต้นเสม็ด

            มนุษย์เกี่ยวข้องกับพืชพรรณตั้งแต่เริ่มวิวัฒนาการของมนุษยชาติ ปัจจัยสี่อันจำเป็นต่อการดำรงชีพของมนุษย์คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ได้จากพืชเป็นส่วนใหญ่ มนุษย์นำพืชมาใช้ประโยชน์หลายรูปแบบ แตกต่างกันไปตามสภาพสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมของกลุ่มชนแต่ละท้องถิ่น นอกจากการใช้ประโยชน์พืชโดยตรงแล้ว มนุษย์ยังนำพืชมาใช้ทางด้านพิธีกรรมทางศาสนา ความเชื่อถือโชคลาง งานนักขัตฤกษ์ ฯลฯ หรือนำมาใช้ในงานหัตถกรรมพื้นบ้าน การใช้ประโยชน์พืชดังกล่าว  ได้ถ่ายทอดต่อกันมาจากบรรพชนหลายรุ่น จนกลายเป็นความรู้ หรือภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือภูมิปัญญาพื้นบ้าน (traditional knowledge หรือ folk knowledge) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านแบบหนึ่ง ของกลุ่มชนท้องถิ่น ภูมิปัญญาพื้นบ้านส่วนใหญ่ ได้จากการบอกเล่าจากชนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง  ความรู้เหล่านี้เกิดจากประสบการณ์ และการลองแบบถูก-ผิด ที่ได้สั่งสมติดต่อกันมาเป็นเวลานาน แต่การจดบันทึกภูมิปัญญาพื้นบ้านไว้เป็นหลักฐาน ยังมีปรากฏอยู่น้อยมาก นอกจากคำบอกเล่า จากความทรงจำของกลุ่มชนพื้นบ้าน ดังนั้นการถ่ายทอดความรู้ และวัฒนธรรมพื้นบ้าน จึงขาดตอน หรือขาดตกบกพร่องขึ้นได้ง่า ยในกลุ่มชนพื้นบ้าน โดยเฉพาะในชุมชนที่มีการพัฒนา โดยวัฒนธรรมเมืองหลั่งไหลเข้ามามีบทบาทแทนวัฒนธรรมพื้นบ้าน ที่นับวันจะเสื่อมสูญไป

            ในยุคโลกาภิวัฒน์ วัฒนธรรม และความรู้พื้นบ้าน ในการใช้ประโยชน์พืช ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ยังคงเหลืออยู่บ้าง ตามกลุ่มชนพื้นบ้าน ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลจากสังคมเมือง กลุ่มชนหลายแห่ง มีความผูกพันกับพืชมานาน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มตน ดังเช่น วัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การบริโภคพืชผัก จำพวกสะตอและลูกเนียงทางภาคใต้ การผลิต เครื่องดนตรีประเภทเป่าที่เรียกว่า "แคน" ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การผลิตเครื่องเขินของจังหวัดเชียงใหม่ การผลิตกระเป๋าย่านลิเภาของจังหวัดนครศรีธรรมราช ฯลฯ การผลิตดังกล่าว ได้พัฒนามาจากความรู้ และหัตถกรรมพื้นบ้านของกลุ่มชนในสังคมชนบท ดังนั้นเราสามารถสืบสาวเรื่องราวความเป็นมาของกลุ่มชนโบราณ และกลุ่มชนพื้นบ้าน แต่ละยุคแต่ละสมัยได้ โดยอาศัยความเกี่ยวข้องของพืชพรรณ ในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มชนพื้นบ้าน ในปัจจุบันนักวิชาการได้ตระหนักถึงความสำคัญ และความจำเป็นในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านไม่ให้เสื่อมสูญไป จึง เริ่มงานค้นคว้าวิจัย จดบันทึกความรู้ ในการใช้ประโยชน์พืชของกลุ่มชนพื้นบ้าน ตามแบบแผนของการศึกษาวิชาพฤกษศาสตร์พื้นบ้านอย่างจริงจัง