พฤกษศาสตร์พื้นบ้านกับงานส่งเสริมศิลปาชีพ ผ้าทอของศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม จังหวัดสกลนคร แม้ว่าประเทศไทยอุดมไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด และป่าประเภทต่างๆ และพื้นที่ตั้งของประเทศ มีความสำคัญทางด้านพฤกษภูมิศาสตร์ โดยเป็นถิ่นฐานของความหลากหลายทางชีวภาพ ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก แต่ข้อมูลทรัพยากรพรรณไม้พื้นเมืองของประเทศยังมีน้อย ในขณะที่พื้นที่ป่าไม้อันเป็นถิ่นกำเนิดของพืชนานาพรรณไม้ลดลงอย่างมาก เหตุการณ์ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความปริวิตกขึ้น ในการแสวงหาข้อมูลทรัพยากรพืชพื้นเมือง ทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต การขาดข้อมูลด้านพฤกษศาสตร์จำแนกพวก พฤกษนิเวศ และพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน เป็นประเด็นข้อขัดแย้งอย่างยิ่ง ต่อความสนใจในการพัฒนาพืชพื้นเมืองของประเทศ ที่มีแนวโน้มว่า จะมีคุณค่าทางเศรษฐกิจในอนาคต การสนับสนุน และส่งเสริมงานวิจัยด้านพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ข้อมูลพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน จำเป็นต่อการเพิ่มอัตราความเป็นไปได้ ในการค้นพบผลิตผลพืชชนิดใหม่ หรือพบแนวทางในการพัฒนาการใช้พืชพื้นเมือง ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแบบยั่งยืน เพราะการ ใช้ประโยชน์พืชตามประเพณีนิยมของกลุ่มชน อาจนำไปสู่ศักยภาพของการใช้ประโยชน์พืชแผนใหม่ โดยเฉพาะด้านเภสัชกรรมและหัตถกรรม พื้นบ้าน ยาแผนปัจจุบันที่ใช้ในวงการแพทย์หลาย ชนิด ได้รับการค้นพบและพัฒนามาจากพืช สมุนไพรพื้นบ้าน ที่คนพื้นเมืองได้ใช้สืบทอดกัน มาจากบรรพบุรุษ หัตถกรรมพื้นบ้านหลายรูปแบบ สามารถนำมาพัฒนาขึ้น เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน ดังเช่นหัตถกรรมไม้แกะสลัก การผลิตเครื่องเขินของจังหวัดเชียงใหม่ การผลิตภาชนะจักสานด้วยไม้ไผ่ หวาย การผลิตกระเป๋าย่านลิเภา และการ ผลิตเสื่อ หมวก กระสอบ ที่ทำจากต้นกระจูด ทางภาคใต้ ฯลฯ ล้วนสร้างงาน และส่งเสริมรายได้ ให้แก่คนพื้นบ้านนับหมื่น เป็นที่น่ายินดีแก่พสกนิกรชาวไทย เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงให้ความสำคัญต่องานส่งเสริมฟื้นฟูศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ในทุกภูมิภาคอย่างเท่าเทียมกัน ทรงสนพระราชหฤทัยในงานฝีมือพื้นบ้าน และพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน ในเรื่องวัตถุดิบพื้นบ้าน อันจะนำมาประกอบเป็นงานฝีมือได้ ช่วยให้งานศิลป- หัตถกรรมพื้นบ้านที่ล้ำค่าหลายสิ่งหลายอย่างที่ เกือบจะสูญหายไปพร้อมกับบรรพบุรุษ ได้กลับคืน สู่ยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นงานจักสานย่านลิเภา ไผ่ หรือหวาย งานแกะสลัก ศิลปะ และลวดลายไทยโบราณ ฯลฯ ใน พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้ง "มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" และทรงรับเป็นองค์ประธานกรรมการของมูลนิธิฯ ด้วย วัตถุประสงค์หลักของมูลนิธิฯ ก็คือ "เพื่อจัด หาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่ ชาวนา และเพื่อธำรงรักษา และสนับสนุนศิลปหัตถกรรม ไทยให้เป็นที่นิยมของชนทั่วไป" ปัจจุบันมีโครงการงานหัตถกรรมต่างๆ ของมูลนิธิฯ หลายสาขา งานค้นคว้าทางพฤกษศาสตร์พื้นบ้านในประเทศไทยที่จะดำเนินต่อไป โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพืชพรรณ และศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ย่อมจะมีส่วนสนับสนุนข้อมูลรายละเอียดแก่โครงการงานหัตถกรรม ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เพื่อนำไป พัฒนาส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมของประเทศ ให้เกิดประโยชน์เป็นที่นิยมกันทั่วไป และมีคุณค่า สูงขึ้นไม่มากก็น้อย |
บทความและภาพประกอบที่อยู่ในเว็บไซต์ของมูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ นี้ใช้สำหรับเพื่อสนับสนุนการผลิตหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
เป็นการเผยแพร่วิชาการให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป โดยจะนำไปแจกจ่ายให้โรงเรียนทั่วประเทศ และจำนวนหนึ่งนำออกจำหน่ายเพื่อนำเงินมาสมทบทุนในการจัดพิมพ์ต่อไป
ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ทั้งนี้มูลนิธิได้รับอนุญาตทั้งบทความและภาพประกอบจากผู้เขียนแล้ว หากมีประเด็นขัดข้องสงสัยในเรื่องลิขสิทธิ์อย่างใด ขอได้โปรดแจ้งให้
มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ทราบเพื่อพิจารณาแก้ไขความขัดข้องสงสัยนั้นต่อไป จะเป็นพระคุณยิ่ง
ลิขสิทธิ์เป็นของมูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
ห้ามนำข้อความและรูปภาพไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต