เล่มที่ 21
พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

พฤกษศาสตร์พื้นบ้านกับการอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้าน




ห้องสมุดธรรมชาติวิทยา เก็บพรรณไม้ต่างๆ ไว้จำนวนมาก

            พืชที่กลุ่มชนพื้นบ้านนำไปใช้ดังกล่าวแล้ว เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่ง ที่ใช้เป็นแนวทางในการศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน นักพฤกษศาสตร์พื้นบ้านอาจจะดำเนินงานค้นคว้าของตนเองเป็นเอกเทศ หรือดำเนินงานร่วมกับนักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญทางพฤกษศาสตร์จำแนกพวก นักพฤกษเคมี นักโบราณคดี ฯลฯ อย่างไรก็ตาม แหล่งที่จะสนับสนุนข้อมูลเบื้องต้น แก่การศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้านในประเทศไทย ได้แก่ พิพิธภัณฑ์หอพรรณไม้ และห้องสมุดธรรมชาติวิทยาของกรมป่าไม้ และกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้วิจัยสามารถเก็บรายละเอียดของชนิดพรรณไม้ ถิ่นกำเนิด เขตการกระจายพันธุ์ และประโยชน์ หรือโทษของพืชได้ จากตัวอย่างพรรณไม้แห้ง (herbarium specimen) ที่เก็บสะสมไว้ในพิพิธภัณฑ์ พรรณไม้แห้งเหล่านี้ ได้มาจากการเดินทางสำรวจทางพฤกษศาสตร์ของนักพฤกษศาสตร์ และพนักงานเก็บพรรณไม้รุ่นก่อนๆ ในป่าเขาทุกภูมิภาคของประเทศ และเก็บสะสมติดต่อกันมานานหลายทศวรรษ ผู้เก็บตัวอย่างพรรณไม้แห้ง ได้จดบันทึก รายละเอียด ชื่อพื้นเมือง ประเภทของพรรณไม้ ถิ่นกำเนิด และการใช้ประโยชน์พืชของชุมชนพื้นบ้านสมัยก่อนไว้ด้วย ในบางครั้ง นอกจากนี้เอกสารบันทึกรายละเอียดการเดินทางของนักสำรวจ หรือหมอสอนศาสนาชาวตะวันตก ที่ผ่านมาในภูมิภาคนี้ ตั้งแต่สมัยอยุธยา ก็นับว่า มีคุณค่าอย่างยิ่ง ต่อการศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้านในประเทศไทย โดยเฉพาะรายงานของนักพฤกษศาสตร์ชาวต่างประเทศ ที่ได้เดินทางเข้ามาสำรวจทางพฤกษศาสตร์ในประเทศไทย เมื่อต้นศตวรรษที่ ๒๐ ได้แก่ รายงานการเดินทางของ ดร.ซี.ซี.ฮอสเซียส (Dr. C.C. Hosseus) นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน และนายแพทย์ เอ.เอฟ.จี.เคอร์ (A.F.G. Kerr) นักพฤกษศาสตร์ชาวไอร์แลนด์

            ความรู้ด้านโบราณคดีจากการขุดค้นชุมชนโบราณ มีประโยชน์อย่างมากต่อการศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับ ภาชนะ และซากพืช (เช่น ฟางข้าว ใบไม้ ผล เมล็ด ฯลฯ) เป็นสื่อสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของกลุ่มชนโบราณกับพืชพรรณ ซึ่งเป็นข้อมูลสำหรับสืบสาวประวัติความเป็นมา และชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าในยุคสมัยนั้น ชนพื้นบ้านบางกลุ่มยังคงเอกลักษณ์ของชนเผ่าไว้ได้ ถึงปัจจุบัน มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาพื้นบ้าน และความรู้เกี่ยวกับการใช้พืชจากบรรพบุรุษ ในขณะที่อีกหลายกลุ่มชน ได้ สูญเสียความเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชนพื้นบ้านและ ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ประเทศไทยในปัจจุบันได้ สูญเสียภูมิปัญญาพื้นบ้านโดยปราศจากการจดบันทึก หรือถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ไปแล้วอย่าง มากมาย เนื่องจากความเจริญในด้านการพัฒนา สังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นรัฐบาล ควรส่งเสริมและสนับสนุน งานค้นคว้าวิจัยทาง พฤกษศาสตร์พื้นบ้านในประเทศไทยโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะการใช้พืชสมุนไพรและพืชอาหาร พื้นบ้าน ก่อนที่ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ได้รับการ ถ่ายทอดต่อกันมาของชนบางกลุ่มที่ยังหลงเหลืออยู่ จะมลายไปพร้อมกับเอกลักษณ์และวัฒนธรรม พื้นบ้าน ที่สั่งสมมาจากบรรพบุรุษหลายชั่วอายุคน