เล่มที่ 40
เห็ด
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
หน้าที่ของเห็ดในระบบนิเวศ

            ระบบนิเวศ (ecosystem) หมายถึง หน่วยของกลุ่มสิ่งมีชีวิตและปัจจัยสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่กว้างพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่มีความผูกพันกัน จนก่อให้เกิดเป็นระบบของการถ่ายทอดพลังงานและสารอาหาร

            ในระบบนิเวศนั้น พืชทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตอินทรียวัตถุ จึงเรียกว่า ผู้ผลิต (producer) ส่วนสัตว์ทำหน้าที่ใช้ประโยชน์ จากผลิตผลของพืช จึงเรียกว่า ผู้บริโภค (consumer) ซึ่งแยกย่อยออกไปอีกหลายระดับ ได้แก่ สิ่งมีชีวิตกินพืช (herbivore)  สิ่งมีชีวิตกินสัตว์ (carnivore) สิ่งมีชีวิตกินพืชและสัตว์ (omnivore) และสัตว์กินซากสัตว์ (scavenger)

            ในส่วนของจุลินทรีย์ อันได้แก่ แบคทีเรียแอกทิโนไมซิส (actinomyces) รา (fungi) และไส้เดือนฝอย (nematode) เป็นกลุ่มซึ่งทำหน้าที่ย่อยสลายอินทรียสารให้มีขนาดเล็กลงกลายเป็นธาตุอาหารกลับคืนสู่สิ่งแวดล้อม จึงมีชื่อเรียกว่า ผู้ย่อยสลาย (decomposers) แบคทีเรียและราชนิดต่างๆ จะปล่อยน้ำย่อยออกมาจากเซลล์เพื่อสลายเซลลูโลสหรือเนื้อเยื่ออินทรียสารอื่นๆ ทำให้ได้พลังงานและธาตุอาหารออกมาใช้ในกลุ่มของผู้ย่อยสลายเองส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งกลับคืนสู่สภาพแวดล้อม ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อไป

            เนื่องจากเห็ดคือรากลุ่มหนึ่ง ดังนั้น ในระบบนิเวศ เห็ดจึงทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลาย โดยผลลัพธ์จากการย่อยสลาย มักอยู่ในรูปธาตุอาหารต่างๆ ที่เห็ดนำไปใช้ในการเติบโต ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาให้ลึกลงไปถึงการได้มาซึ่งอาหารของเห็ด หรือพิจารณาจากสิ่งที่เห็ดขึ้นอยู่เป็นหลัก จะสามารถแบ่งเห็ดออกได้เป็น ๓ กลุ่ม คือ เห็ดปรสิตกับสิ่งมีชีวิตอื่น เห็ดแซปโพรไฟต์ และเห็ดที่อยู่แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น

๑. เห็ดปรสิตกับสิ่งมีชีวิตอื่น (Parasitic mushroom)

            เห็ดกลุ่มนี้สามารถเจริญบนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และทำให้เกิดโรคกับสิ่งมีชีวิตนั้นได้ เช่น เห็ดที่พบอยู่บนลำต้น กิ่ง และก้านของพืช ที่มีชีวิต ก่อให้เกิดโรคลำต้นเน่า ไส้เน่าหรือแก่นไม้ผุ (heart rot) และรากเน่า อาการของโรคอาจรุนแรงจนทำให้พืชตายทั้งต้น ซึ่งจะกล่าวต่อไปในหัวข้อโทษของเห็ด

๒. เห็ดแซปโพรไฟต์ (Saprophytic mushroom)

            เห็ดแซปโพรไฟต์หรือเห็ดกินซากสิ่งมีชีวิต คือ เห็ดที่ขึ้นอยู่บนเศษซากพืช ได้แก่ ซากใบไม้ กิ่งไม้ ขอนไม้ ฮิวมัส มูลสัตว์ (โดยเฉพาะสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหาร) ซากแมลง และซากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น ขนสัตว์ ขนนก เขาสัตว์ กีบตีนสัตว์ เห็ดส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ เห็ดจะผลิตเอนไซม์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลายเซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส และลิกนินออกมา เพื่อย่อยผนังเซลล์พืชที่มีเซลลูโลสร้อยละ ๕๐-๗๐ เฮมิเซลลูโลสร้อยละ ๑๐-๒๐ และลิกนินร้อยละ ๑๐-๒๐ ของเนื้อไม้โดยน้ำหนัก ทำให้สารประกอบที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น บางอย่างหรือทั้งหมดเกิดการย่อยสลายเป็นโมเลกุล ที่มีขนาดเล็ก ส่งผลให้เนื้อไม้ค่อยๆ เปลี่ยนรูป เกิดการเน่าเปื่อยหรือผุพัง (wood decay) จนในที่สุดกลายเป็นแร่ธาตุซึ่งบางส่วนถูกเห็ดดูดไปใช้เป็นอาหาร และบางส่วนกลับคืนสู่สิ่งแวดล้อม

การเน่าเปื่อยหรือผุพังของเนื้อไม้มี ๒ แบบ คือ ไวต์รอต (white rot) และบราวน์รอต (brown rot) โดยขึ้นอยู่กับความสามารถ ในการผลิตเอนไซม์ของเห็ด ดังนี้  



เห็ดตีนปลอก ที่ทำให้ขอนไม้
เกิดการย่อยสลายแบบไวด์รอต

๑) การผุพังแบบไวต์รอต

            เห็ดสามารถผลิตเอนไซม์ที่ย่อยสลายเซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส และลิกนิน ในเนื้อไม้ได้ทั้งหมด ทำให้เนื้อไม้ที่เหลืออยู่ อ่อนนิ่มเป็นสีขาว สามารถจับฉีกแยกออกจากกันเป็นเส้นได้โดยง่าย คล้ายกับชานอ้อย ตัวอย่างของเห็ดไวต์รอต ได้แก่ เห็ดหูหนู เห็ดตีนปลอก (Lentinus sajor-caju) เห็ดบดหรือเห็ดลม เห็ดหอม และเห็ดขอนสีส้ม (Pycnoporus sanguineus) 

๒) การผุพังแบบบราวน์รอต

            เห็ดจะสร้างเอนไซม์ที่ย่อยสลายได้เฉพาะเซลลูโลสและเฮมิเซลลูโลสเท่านั้น แต่จะเหลือลิกนินไว้ จึงทำให้เนื้อไม้ที่ผุ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงและมีรอยแตกในเนื้อไม้ทั้งตามขวางและตามยาว ซึ่งจะหลุดออกจากกันเป็นก้อนสี่เหลี่ยมเล็กๆ ได้โดยง่าย ถ้าบีบเนื้อไม้ที่ผุด้วยปลายนิ้วจะละเอียดเป็นผง เปรียบคล้ายกับก้อนถ่าน ตัวอย่างของเห็ดบราวน์รอต ได้แก่ Daedalea quercina, Gloeophyllum sp. และ Fomitopsis sp.



ขอนไม้ที่ถูกย่อยสลายแบบบราวน์รอต

            ในจำนวนเห็ดที่กินซากสิ่งมีชีวิตที่รู้จักกันในโลกนี้ เห็ดที่จัดว่าเป็นไวต์รอตมีประมาณร้อยละ ๙๘ ที่เหลือคือเห็ดบราวน์รอต ซึ่งส่วนใหญ่ทำให้เกิดการผุพังของเนื้อไม้สน (conifer)



เห็ด Daecalea quereina ทำให้เกิดการย่อยสลายแบบบราวน์รอต

วงแหวนนางฟ้า (fairy ring)

            เป็นเห็ดในกลุ่มของเห็ดกินซากสิ่งมีชีวิต จะพบปรากฏการณ์พิเศษที่มักมีผู้กล่าวถึงคือ การเกิดวงแหวนนางฟ้าบนพื้นดิน ที่มีสารอาหารอุดมสมบูรณ์ และมีการกระจายของสารอาหารอย่างสม่ำเสมอ เช่น สนามหญ้า เริ่มจากมีสปอร์ของเห็ด ๑ อัน มาตกบนดินบริเวณนั้น แล้วสปอร์จะงอกออกมาเป็นเส้นใย จากนั้นเส้นใยก็จะเติบโตยืดยาวพร้อมกับแตกแขนง แผ่กระจายออกไปทุกทิศทาง ด้วยอัตราเร็วที่เท่ากัน จนมีลักษณะเป็นวงกลม การเติบโตของเส้นใยเห็ดในดินที่มองไม่เห็นนี้ อาจใช้ระยะเวลานานเกือบปี แต่เมื่อถึงเวลาและภาวะที่เหมาะสม เส้นใยเห็ดจะใช้เวลาเพียงสั้นๆ ในการเติบโตเต็มที่ และสร้างดอกเห็ดเรียงกันเป็นวงบนพื้นดิน มองเห็นเป็นวงแหวนดอกเห็ด หรือเรียกว่า วงแหวนนางฟ้า



วงแหวนนางฟ้าของเห็ดกระโดง

            เห็ดที่สามารถสร้างวงแหวนนางฟ้าได้มีอยู่ประมาณ ๖๐ ชนิด เช่น Marasmius oreades ที่มีชื่อสามัญว่า เห็ดวงแหวนนางฟ้า (fairy ring mushroom) พบขึ้นอยู่ตามสนามหญ้า ในประเทศไทยมีเห็ดกินซากสิ่งมีชีวิตและเป็นเห็ดพิษชื่อ เห็ดหัวกรวดครีบเขียวอ่อน หรือเห็ดกระโดงตีนต่ำครีบเขียว (Chlorophyllum molybdites) ซึ่งสามารถสร้างวงแหวนนางฟ้าได้

๓. เห็ดที่อยู่แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น (Symbiotic mushroom)

            เห็ดในกลุ่มนี้แบ่งย่อยออกเป็น ๓ พวก คือ เห็ดเอกโทไมคอร์ไรซา เห็ดโคนหรือเห็ดปลวก และเห็ดไลเคน

๑. เห็ดเอกโทไมคอร์ไรซา (Ectomycorrhizal mushroom) คือ เห็ดที่อยู่ร่วมกับรากแขนงเล็กๆ ของพืช ในแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยเส้นใยเห็ดส่วนหนึ่งจะพันอยู่รอบๆ รากแขนง ซึ่งเห็นเป็นชั้นหรือเป็นแผ่นบางห่อหุ้มราก เรียกว่า แผ่นแมนเทิล (mantle sheath) และอีกส่วนหนึ่งแทงผ่านรากเข้าไปเจริญอยู่ในช่องว่างระหว่างเซลล์ของเซลล์ผิว (epidermis) และเซลล์คอร์เท็กซ์ (cortex) มีลักษณะคล้ายร่างแห จึงมีชื่อเรียกว่า Hartig net ซึ่งตั้งตามชื่อของ โรแบร์ท ฮาร์ทิช (Robert Hartig) นักโรคพืชชาวเยอรมันที่เชี่ยวชาญโรคของไม้ยืนต้น เส้นใยเห็ดจะไม่ผ่านเข้าไปในส่วนของเอนโดเดอร์มิส (endodermis) เส้นใยที่พันอยู่รอบๆ รากนี้มีส่วนที่แผ่กระจายออกไปในดินด้วย เพื่อทำหน้าที่ดูดน้ำและแร่ธาตุ แล้วส่งผ่านราก มาให้ต้นพืช พืชจึงสามารถสังเคราะห์อาหารได้มากขึ้น ส่งผลให้มีการเติบโตดีขึ้น อาหารที่พืชสังเคราะห์ได้ นอกจากจะถูกส่งไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของพืชแล้ว ยังมีเหลือส่งไปเก็บสะสมไว้ที่รากด้วย ซึ่งอาหารสะสมที่รากนี้ จะถูกเส้นใยเห็ดดูดไปใช้ เพื่อการเติบโตอีกต่อหนึ่ง เมื่อมีความชื้น อุณหภูมิ แสงแดด และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เส้นใยเห็ดที่อยู่ใต้ดินจะรวมตัวกันเกิดเป็นดอกเห็ดโผล่ขึ้นมาเหนือดิน หรืออาจฝังอยู่ในดินทั้งดอก หรือโผล่ขึ้นมาเหนือดินเพียงบางส่วนก็ได้ โดยดอกเห็ดจะเกิดอยู่ใกล้ๆ กับต้นพืชที่เป็นแหล่งอาศัยเสมอ ทำให้พอคาดเดาได้ว่า เห็ดเอกโทไมคอร์ไรซาที่เห็นเข้าคู่อยู่กับต้นพืชชนิดใด สำหรับรากพืชที่ให้แหล่งอาศัยแก่เห็ดมีชื่อเรียกว่า รากเอกโทไมคอร์ไรซา จะมีการแตกแขนงมากและมีขนาดใหญ่กว่ารากปกติ สีจะเปลี่ยนไปตามสีของเส้นใยที่พันอยู่รอบๆ ราก ผิวรากอาจเรียบหรือขรุขระ หรือมีเส้นใยสานกันไปมาคล้ายตาข่าย อาจมีความมันวาวหรือไม่มีก็ได้



รากเอกโทไมคอร์ไรซาที่มีการแตกแขนงมาก สีขาว และมีความมันวาว

            ในประเทศไทยมีเห็ดเอกโทไมคอร์ไรซาหลายชนิด เช่น เห็ดเผาะ (Astraeus spp.) เห็ดไข่ห่านเหลืองหรือเห็ดระโงกเหลือง (Amanita hemibapha subsp. javanica) เห็ดหลายหน้าหรือเห็ดแสงส้มแดง (Laccaria laccata) เห็ดแดง (Russula emetica) เห็ดปะการังสีม่วง (Clavaria zollingeri)  และเห็ดขมิ้นน้อยสายพันธุ์ชมพูหรือเห็ดมันกุ้ง (Cantharellus cinnabarinus var. australiensis) สำหรับพืชที่มีเอกโทไมคอร์ไรซาเกือบทั้งหมดเป็นไม้ต้น โดยเฉพาะไม้ต้นในวงศ์ยาง วงศ์กำลังเสือโคร่ง วงศ์ก่อ และวงศ์สนเขา และพบกับไม้บ้านบางชนิดในวงศ์มะม่วง วงศ์ถั่ว วงศ์ย่อยนนทรี วงศ์ย่อยไมยราบ วงศ์ไม้ยางพารา และวงศ์หว้า


ภาพตัดขวางของรากพืชที่มีเส้นใยของเห็ดเอกโทไมคอร์ไรซา
พันอยู่รอบราก และแทรกเข้าไปเจริญในระหว่างเซลล์ผิวราก
(M = Mantle sheath  H = Hartig net  C = Cortex)

            ตามธรรมชาติเห็ดเอกโทไมคอร์ไรซาจะไม่สามารถเจริญได้หากปราศจากพืชอาศัย จากการศึกษาพบว่า ไม้ป่าที่ไม่มีเห็ดเอกโทไมคอร์ไรซาที่ราก จะเติบโตได้ไม่ดีเท่าไม้ป่าที่มีเห็ดเอกโทไมคอร์ไรซา สิ่งนี้เห็นได้ชัดเจน ในดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์ หรือดินที่ไม่มีสิ่งปกคลุมมาเป็นระยะเวลานาน ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการป่าไม้จึงนำความรู้เรื่องเอกโทไมคอร์ไรซามาประยุกต์ใช้ โดยนำเชื้อเห็ดเอกโทไมคอร์ไรซามาใส่ลงในดิน ที่ใช้เพาะกล้าไม้ เพื่อให้ได้กล้าไม้ที่มีเห็ดเอกโทไมคอร์ไรซาอยู่ที่ราก ก่อนที่จะย้ายกล้าไม้ไปปลูกในสวนป่า ที่ดินไม่อุดมสมบูรณ์ และมีความแห้งแล้ง ซึ่งสามารถช่วยให้การปลูกสร้างสวนป่าประสบความสำเร็จมากขึ้น

๒. เห็ดโคนหรือเห็ดปลวก (Termite mushroom) ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Termitomyces spp. เป็นเห็ดที่อยู่ร่วมกับปลวก ในลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน เส้นใยของเห็ดโคนที่เจริญอยู่ในรังปลวกจะปล่อยน้ำย่อยออกมาย่อยสลายรังปลวกเป็นอาหาร ในธรรมชาติปลวกสร้างรังจากสิ่งขับถ่ายของมัน ซึ่งประกอบด้วยส่วนที่เป็นของเหลวและกากเนื้อไม้ที่ยังย่อยไม่สมบูรณ์ ขณะที่ปลวกซึ่งอาศัยอยู่ในรังจะได้ประโยชน์จากการได้กินเส้นใยของเห็ดโคนเป็นอาหาร จนถึงระยะหนึ่ง ที่ปลวกกินเส้นใยของเห็ดโคนน้อยลง ทำให้เส้นใยมีมากขึ้นและสมบูรณ์พอที่จะรวมตัวกันเจริญเป็นดอกเห็ดโผล่ขึ้นมาเหนือดิน ดังนั้น จึงมักเห็นเห็ดโคนขึ้นอยู่เหนือดินใกล้ๆ กับรังปลวกหรือจอมปลวกเสมอ และมีโคนก้านดอก ซึ่งจะมีรูปร่างยาวเรียวจากผิวดิน ลงไปเชื่อมต่อกับสวนเห็ด (fungus garden) ที่อยู่ใต้ดินภายในรังปลวก ปลวกที่อยู่ร่วมกับเห็ดโคนมีชื่อเรียกว่า ปลวกเลี้ยงรา (fungus growing termites) ซึ่งมีอยู่หลายชนิด เห็ดโคนก็มีหลายชนิดเช่นกัน ความสัมพันธ์ระหว่างชนิดของเห็ดโคน กับชนิดของปลวกไม่มีความเฉพาะเจาะจง กล่าวคือ มีเห็ดโคนหลายชนิดอยู่ร่วมกับปลวกชนิดหนึ่ง ในทางกลับกัน ก็มีปลวกหลายชนิดที่มีความสัมพันธ์กับเห็ดโคนชนิดเดียว และยังมีเห็ดโคนอีกชนิดหนึ่ง ที่ไม่มีก้านยาวเรียวไปเชื่อมต่อกับสวนเห็ดที่อยู่ใต้ดิน เห็ดโคนชนิดนี้มีขนาดเล็กคือมีเส้นผ่านศูนย์กลางของหมวก ๑-๒ เซนติเมตร เส้นใยของเห็ดชนิดนี้เติบโตอยู่ในรังปลวก เมื่อถึงฤดูฝน ปลวกจะขนชิ้นส่วนของสวนเห็ดขึ้นมาจากรัง และนำมาวางไว้เหนือดิน ภายในระยะเวลาเพียง ๒ วัน จะเกิดดอกเห็ดขนาดเล็กสีขาวขึ้นมาบนชิ้นส่วนนั้นเต็มไปหมด เห็ดโคนกลุ่มนี้มีชื่อเรียกว่า เห็ดโคนข้าวตอก



เห็ดโคนมีโคนก้านดอกรูปร่างยาวเรียวจากผิวดินลงไปเชื่อมต่อกับสวนเห็ดภายในรังปลวก

            เห็ดโคนเป็นที่นิยมของผู้ชอบบริโภคเห็ด เพราะมีรสชาติอร่อยและมีกลิ่นหอม ราคาของเห็ดโคนค่อนข้างสูง เพราะเป็นเห็ดที่ต้องเก็บจากธรรมชาติ มีปริมาณจำกัดและพบในบางช่วงของฤดูฝนเท่านั้น เส้นใยเห็ดโคนแม้จะสามารถเพาะเลี้ยงให้เติบโตได้อย่างช้าๆ บนอาหารสังเคราะห์ แต่ยังไม่มีผู้ใดสามารถชักนำเส้นใยของเห็ด ให้เกิดเป็นดอกเห็ดในโรงเรือนได้ ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากเห็ดโคนมีความต้องการปัจจัยในการเติบโตที่เฉพาะเจาะจงมาก ซึ่งหากทำการศึกษาวิจัยจนสามารถเพาะเห็ดโคนได้ ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อการเพาะเลี้ยงเพื่อการค้า

๓. เห็ดไลเคน (Basidiolichen) ไลเคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการอยู่ร่วมกันระหว่างราและสาหร่าย ในแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยสาหร่ายส่วนใหญ่เป็นสาหร่ายสีเขียว (green algae) ในโลกมีไลเคนอยู่ประมาณ ๒๐,๐๐๐ ชนิด โดยมากกว่าร้อยละ ๙๙ เกิดจากราในไฟลัมแอสโคไมโคตา ไลเคนส่วนที่เหลือเกิดจากราในไฟลัมเบซิดิโอไมโคตา ในกลุ่มเห็ดที่มีเบซิเดียมแบบเซลล์เดียวและมีรูปร่างคล้ายกระบอง เห็ดที่อยู่ร่วมกับสาหร่ายแบบไลเคนเหล่านี้เรียกรวมๆ กันว่า เห็ดไลเคน ตัวอย่างที่พบบ่อยที่สุดในต่างประเทศคือ ไลเคนชื่อ Botrydina ที่เกิดจากเห็ดขนาดเล็กชื่อ Omphalina ericetorum (วงศ์ Tricholomataceae) อยู่ร่วมกับสาหร่ายสีเขียวที่ชื่อ Coccomyxa อีกตัวอย่าง ได้แก่ เห็ด Multiclavula (วงศ์ Clavariaceae) รูปร่างคล้ายปะการังสีขาวหรือสีชมพู เกิดกระจายอยู่บนแผ่นของสาหร่ายสีเขียวชื่อ Coccomyxa ที่ขึ้นอยู่บนท่อนไม้ผุหรือบนดินที่ชื้น โดยพบเซลล์ของสาหร่ายสีเขียวอยู่ทั่วไปตามส่วนต่างๆ ของดอกเห็ด Multiclavula และพบหนาแน่นที่ส่วนในของฐานก้านดอก แต่ก็ยังมีไม่มากพอที่จะทำให้ดอกเห็ดออกสีเขียว ในประเทศไทยมีการสำรวจพบเห็ดไลเคนหนึ่งชนิด ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นเห็ดในสกุล Multiclavula เช่นเดียวกัน



ไลเคนที่เกิดจากเห็ด Multielavula อยู่ร่วมกับสาหร่ายสีเขียว พบที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ (ที่มา : กวินนาถ บัวเรือง)

            ราที่อยู่ในไลเคน ที่เรียกกันว่า ไมโคไบออนต์ (mycobiont) ตามปกติแล้วมีบทบาทเป็นตัวจับน้ำและธาตุอาหาร จากสิ่งแวดล้อมโดยรอบ แล้วส่งไปให้ส่วนของสาหร่ายที่อยู่ร่วมกันซึ่งเรียกว่า ไฟโตไบออนต์ (phytobiont) เพื่อแลกกับน้ำตาล ที่สร้างขึ้นด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสงโดยสาหร่าย จากนั้นราจะเปลี่ยนน้ำตาลที่ได้รับมาให้เป็นพลังงานเพื่อการเติบโต และสร้างแผ่นเส้นใยที่มีสีเข้มเพื่อปกป้องสาหร่ายจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม และรังสีจากดวงอาทิตย์ที่มากเกินไป การที่ราและสาหร่ายมาอยู่ด้วยกัน และทำงานร่วมกันได้ ส่งผลให้ไลเคนสามารถอยู่รอดได้ภายใต้สภาพแวดล้อมที่หากสิ่งมีชีวิต ๒ ชนิดนี้ แยกกันอยู่ จะไม่สามารถอยู่รอดได้เลย เช่น ในที่ที่มีธาตุอาหารและน้ำน้อยมาก มีอุณหภูมิที่สูงมากหรือต่ำมาก