การสืบพันธุ์และโครงสร้างที่เกี่ยวกับการสืบพันธุ์
การสืบพันธุ์ของรามีเอกลักษณ์คือ มีการสืบพันธุ์ทั้งแบบไม่อาศัยเพศและอาศัยเพศ การสร้างดอกเห็ดเป็นตัวอย่างหนึ่ง ของการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ
โครงสร้างสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ
ราชั้นสูงในไฟลัมแอสโคไมโคตาและไฟลัมเบซิดิโอไมโคตามีการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ โดยการสร้างสปอร์ที่เรียกว่า คอนิเดียม (conidium) ซึ่งเป็นสปอร์ที่เกิดอยู่ภายนอกไม่มีถุงหุ้ม สปอร์อาจมี ๑ เซลล์ ๒ เซลล์ หรือหลายเซลล์ สปอร์ ที่มีมากกว่า ๑ เซลล์ เกิดจากการสร้างผนังกั้น อาจมีผนังกั้นตามขวาง หรือบางชนิดมีผนังกั้นทั้งตามขวางและตามยาว สปอร์บางชนิดมีสีใสหรือไม่มีสี บางชนิดมีสีเข้มมีกำเนิดจากเซลล์ที่ให้กำเนิดสปอร์ โดยสปอร์อาจเกิดเดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่ม หรือเกิดต่อๆ กันเป็นลูกโซ่ อาจเกิดบนโครงสร้างพิเศษหรือมีโครงสร้างพิเศษห่อหุ้ม ทั้งนี้ ราในไฟลัมแอสโคไมโคตา มีความหลากหลายของรูปแบบสปอร์ มากกว่าราในไฟลัมเบซิดิโอไมโคตา
สปอร์ที่เกิดแบบไม่อาศัยเพศ มี ๑ เซลล์
โครงสร้างสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ
ราในไฟลัมเบซิดิโอไมโคตาจะสร้างเส้นใยปฐมภูมิ (primary mycelium) งอกมาจากเบซิดิโอสปอร์ (basidiospore) ซึ่งเป็นเส้นใยที่แต่ละเซลล์มีนิวเคลียสอันเดียวที่มีโครโมโซมเพียงครึ่งเดียว มีกระบวนการที่นำนิวเคลียสจาก ๒ เซลล์ เข้ามาอยู่ในเซลล์เดียวกัน เกิดเป็นกลุ่มเส้นใยทุติยภูมิ (secondary mycelium) เห็ดสร้างเส้นใยทุติยภูมิขึ้นมามากมาย สานกันแน่นเกิดเป็นเส้นใยตติยภูมิ (tertiary mycelium) และชูขึ้นมาเป็นดอกเห็ดที่มีรูปร่างแตกต่างกัน การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศจะเกิดบนดอกเห็ด
ดอกเห็ดส่วนใหญ่มีรูปร่างคล้ายร่ม และมีส่วนประกอบดังภาพ ด้านล่างของหมวกที่มีลักษณะเป็นครีบ มีการสร้างสปอร์แบบอาศัยเพศบนผิวหน้าของแผ่นครีบ
ส่วนประกอบของดอกเห็ดที่มีรูปร่างคล้ายร่ม
เห็ดชนิดอื่นๆ ที่มักพบเสมอจะมีโครงสร้างของดอกที่แตกต่างกัน ดังนี้
เห็ดผึ้ง ด้านล่างของหมวกเป็นรู
เห็ดผึ้ง ดอกเห็ดมีลักษณะอ่อนนุ่ม ด้านล่างของหมวกเป็นรู คล้ายฟองน้ำ ส่วนที่เป็นรูทั้งหมด จะถูกดึงให้หลุดออกจากเนื้อหมวก โดยง่าย
เห็ดหิ้ง ด้านล่างของหมวกเป็นรู
เห็ดหิ้ง ดอกเห็ดมีลักษณะแข็ง ด้านล่างของหมวกเป็นรู การสร้างเบซิดิโอสปอร์ จะเกิดภายในรู ส่วนที่เป็นรูติดแน่นกับเนื้อหมวก ไม่สามารถดึงให้หลุดออกมาได้
เห็ดฟัน ด้านล่างของหมวกมีรูปร่างคล้ายซี่เลื่อยหรือฟัน
เห็ดฟัน สร้างเบซิดิโอสปอร์บนโครงสร้างที่แหลมคล้ายซี่เลื่อยหรือฟัน (teeth fungi)
เห็ดมันปู
ด้านล่างของหมวกเป็นสันนูน
เห็ดมันปู (chanterelle) มีส่วนที่ให้กำเนิดเบซิดิโอสปอร์เป็นสันนูน ที่แตกแขนงคล้ายส้อม แต่ละแขนงบางครั้งมีการเชื่อมกันคล้ายร่างแห
เห็ดลูกฝุ่น มีรูปร่างเป็นก้อนกลม
เห็ดลูกฝุ่น มีรูปร่างเป็นก้อนค่อนข้างกลม ไม่ว่าเปลือกนอกจะแตกหรือไม่แตก ก็ตาม เบซิดิโอสปอร์จะเกิดภายในเปลือกหุ้ม
เห็ดร่างแห หรือเห็ดเยื่อไผ่
เห็ดเขาเหม็น (stink horn) สร้างเบซิดิโอสปอร์ที่มีกลิ่นเหม็น และลักษณะเป็นเมือก อยู่บนหมวก เช่น เห็ดร่างแหหรือเห็ดเยื่อไผ่ หรืออยู่ด้านในของส่วนที่แตกแขนงคล้ายมือ เช่น เห็ดมือเน่า
เห็ดปะการัง
เห็ดปะการัง (coral fungi) สร้างเบซิดิโอสปอร์บนผิวหน้าของปลายกิ่ง ที่แตกแขนง คล้ายปะการัง
เห็ดรังนก
เห็ดรังนก (bird’s nest fungi) สร้างเบซิดิโอสปอร์อยู่ในโครงสร้าง ที่คล้ายไข่นก วางเรียงอยู่ภายในดอกเห็ดที่มีรูปร่างคล้ายถ้วย
สปอร์ที่เกิดจากการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศจะเกิดบนเซลล์พิเศษที่เรียกว่า เบซิเดียม (basidium) โดยเกิดการรวมกันของนิวเคลียส ที่เซลล์นี้ ได้เซลล์ที่มีโครโมโซมเป็น ๒ เท่า (2n) จากนั้นนิวเคลียสจะแบ่งตัวแบบไมโอซิสตามมาทันที ได้นิวเคลียส ๔ อัน แต่ละอัน มีโครโมโซมครึ่งเดียว (n) มีการสร้างก้านชู (sterigma) ยื่นออกไปจากเบซิเดียม แล้วสปอร์จึงเคลื่อนจากเบซิเดียม ผ่านก้านชู เข้าไปที่ปลาย ซึ่งโป่งออกและพัฒนาเป็นเบซิดิโอสปอร์ ปกติเบซิดิโอสปอร์จะมี ๔ อัน แต่อาจมีเห็ดบางชนิด ที่การพัฒนาไม่สมบูรณ์ จึงมีสปอร์เพียง ๑, ๒ หรือ ๓ อัน รูปร่างลักษณะของสปอร์จะแตกต่างไปตามชนิดของเห็ด เช่น เป็นรูปทรงกลม ผิวหน้าเป็นตาข่าย หรือเป็นรูปไข่ ผิวหน้าเป็นสันยื่นออกมา จึงใช้รูปร่างลักษณะนี้ช่วยในการจำแนกชนิดของรา
ขั้นตอนการทำรอยพิมพ์สปอร์เห็ด
๑) ตัดปลายก้านดอกเห็ดออกจากหมวก
๒) วางหมวกเห็ดลงตรงกลางระหว่างกระดาษสีขาวและกระดาษสีดำ
๓) ครอบด้วยจานแก้วหรือถ้วยแก้ว ทิ้งไว้ข้ามคืน
๔) เปิดครอบแก้วแล้วเอาหมวกเห็ดออกไป จะเห็นรอยพิมพ์สปอร์สีขาวชัดเจนบนกระดาษสีดำ
นอกจากรูปร่างลักษณะแล้ว เบซิดิโอสปอร์ของเห็ดจะมีสีที่แตกต่างกัน สีของสปอร์สามารถใช้เป็นข้อมูลในการจำแนกชนิดได้ ดังนั้น การจำแนกชนิดของเห็ดจึงนิยมทำรอยพิมพ์สปอร์ (spore print) เพื่อดูสีสปอร์ และตรวจรูปร่างลักษณะของสปอร์ ด้วยกล้องจุลทรรศน์