เห็ดเป็นสมุนไพร
ประเทศในแถบเอเชียตะวันออก ได้แก่ ประเทศจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น มีการนำเห็ดมาใช้เป็นยาพื้นบ้านรักษาโรคต่างๆ มาแต่โบราณกาล เช่น เห็ด Ganoderma lucidum หรือในภาษาไทย เรียกว่า เห็ดหลินจือ ซึ่งมีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Lacquered Bracket หรือ Ling zhi ในภาษาจีน หรือ Reishi ในภาษาญี่ปุ่น เห็ดชนิดนี้ยังใช้รักษาโรคได้อย่างดีจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ชาวจีนยกย่องเห็ดสมุนไพรที่ด้านล่างของหมวกเป็นรูและมีลักษณะแข็ง (polypores) อีกหลายชนิดว่า มีคุณค่าทางยา เช่นเดียวกับเห็ดหลินจือในด้านช่วยให้สุขภาพดี ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะในเห็ดมีสารที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย ชาวญี่ปุ่นยกย่องเห็ดหอมหรือชิตาเกะว่า มีสรรพคุณช่วยให้สุขภาพร่างกายดี นำไปผลิตยารักษาโรคชื่อ เลนทิแนน (Lentinan) ที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร รักษาโรคหืด หอบ (antihistamine) และรักษาอาการแพ้อากาศ (hay fever) ในตำรายาของรัสเซีย สารสกัดที่ได้จากเห็ด Inonotus obliguus หรือ Chaga ใช้รักษาโรคเนื้องอกและขับปัสสาวะได้
เห็ดหลินจือ
ยาที่พัฒนามาจากเห็ดสมุนไพร กลุ่มที่ด้านล่างของหมวกเป็นรู และมีลักษณะแข็ง ที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง มีส่วนประกอบของพอลิแซ็กคาไรด์ (polysaccharide) โดยเฉพาะบีตากลูแคน ตัวอย่างเช่น ยาเครสทิน (Krestin) ซึ่งทำมาจากเส้นใยของ Trametes versicolor ที่เพาะบนอาหารเลี้ยงเชื้อ ชื่อสามัญภาษาอังกฤษของเห็ดชนิดนี้คือ Turkey tail หรือ Kawaratake ในภาษาญี่ปุ่น หรือ Yun-shi ในภาษาจีน ยาเลนทิแนน จากเห็ดหอม และยาชิสโซฟิลแลน (Schizophyllan) ที่ทำจากอาหารเหลว ที่ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดแครง (Schizophyllum commune) ชื่อสามัญภาษาอังกฤษคือ split gill mushroom หรือชื่อในภาษาญี่ปุ่นว่า Suehirotake
ช่วงระยะเวลา ๔๐ ปีที่ผ่านมา มีการศึกษาเห็ดสมุนไพรอย่างจริงจังเพื่อให้ทราบถึงผลทางยา และได้พบพอลิแซ็กคาไรด์ชนิดใหม่ๆ ที่มีคุณสมบัติต่อต้านเนื้องอกและขับเคลื่อนภูมิคุ้มกันของร่างกาย พอลิแซ็กคาไรด์ที่มีผลในการรักษาโรคผลิตขึ้น โดยเห็ดในชั้นเบซิดิโอไมซิติสหลายชนิด ที่มีโครงสร้างที่แตกต่างกันในเห็ดแต่ละชนิด ยิ่งไปกว่านั้นแต่ละสายพันธุ์ของเห็ด สามารถผลิตพอลิแซ็กคาไรด์ที่มีคุณสมบัติต่างกัน เช่น โพรทีโอกลูแคนเครสทิน (proteoglucan krestin) ผลิตในประเทศญี่ปุ่นจาก Trametes versicolor strain CM-101 ในขณะที่ พอลิแซ็กคาไรด์-เพปไทด์ (polysaccharide-peptide) ผลิตในประเทศจีนได้จากการเพาะเลี้ยง Trametes versicolor strain Cov-1 ในอาหารเหลว สารทั้ง ๒ ชนิดนี้ เป็นโพรทีโอกลูแคน (proteoglucan) ที่มีองค์ประกอบของพอลิแซ็กคาไรด์เหมือนกัน แต่มีความแตกต่าง ที่โมเลกุลโปรตีนที่จับอยู่กับพอลิ-แซ็กคาไรด์ สารพอลิแซ็กคาไรด์จากเห็ดไม่ได้เข้าทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรง แต่มีผลในการต่อต้านเซลล์มะเร็ง ด้วยการไปกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ ดังนั้น จึงเกิดผลดี ในการใช้เห็ดรักษาโรคมะเร็ง ร่วมกับการรักษาทางเคมี (chemotherapy) ของแพทย์แผนปัจจุบัน
เห็ด Turkey tail (ที่มา : บารมี สกลรักษ์)
มีรายงานว่า เห็ดกินได้ที่อยู่ในชั้นเบซิดิโอไมซิติสมากกว่า ๗๐๐ ชนิด สามารถหยุดยั้งการขยายตัวของเนื้องอกต่างๆ ได้ ดังนั้น จึงมีผู้สนใจศึกษาหาสารออกฤทธิ์ที่ยับยั้งการเกิดของเนื้องอก และให้คุณค่าทางยาและทางอาหารจากเห็ดเหล่านั้น และพบว่า สารประกอบที่ได้จากเห็ด ทั้งที่เป็นองค์ประกอบของเซลล์และเป็นสารประกอบที่เซลล์สร้างขึ้น (secondary metabolite) มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน และใช้รักษาโรคได้หลายโรค เช่น โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องซึ่งรวมถึงโรคเอดส์ โรคที่เกี่ยวข้องกับสมองและหัวใจ และมีการยืนยันด้วยว่า สารที่ได้จากเห็ดสามารถลดระดับไขมันในเลือดและลดความดันโลหิต