เล่มที่ 40
เห็ด
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
เห็ดเพื่อการอุตสาหกรรม

ปัจจุบันการเพาะเลี้ยงเห็ดได้พัฒนาจนอยู่ในระดับอุตสาหกรรม มีผู้ลงทุนทั้งในระดับชาวบ้านเป็นอุตสาหกรรมท้องถิ่น จนถึงระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เห็ดที่เพาะเลี้ยงง่าย เช่น เห็ดฟาง เห็ดนางรมหลากหลายชนิด เห็ดหูหนู เห็ดขอนขาว เห็ดหอม เห็ดหลินจือ มีการทำเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน สำหรับการผลิตเห็ดที่ใช้ห้องควบคุมอุณหภูมิ เพื่อการออกดอก มักมีนักลงทุนจากต่างประเทศมาร่วมลงทุน เช่น เห็ดเข็มทอง เห็ดเข็มเงิน เห็ดยานางิ เห็ดกระดุม ส่วนเห็ดกระดุมสีน้ำตาล ได้มีการนำมาทดลองผลิตที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีอากาศเย็น สามารถเพาะเลี้ยงได้ และมีราคาดี อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับการเพาะเห็ดอีกอย่างหนึ่งคือ การทำถุงเชื้อ ที่มีเชื้อเห็ดเจริญ และพร้อมที่จะนำไปเปิดให้ออกดอก เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าไม่น้อย เพราะผู้เพาะเลี้ยงเห็ด ที่ยังไม่มีความชำนาญ หรือไม่ต้องการลงทุนซื้อเครื่องมือในการเพาะเลี้ยงหัวเชื้อ สามารถลงทุนซื้อถุงเชื้อสำเร็จรูปไปเลี้ยง โดยการเปิดถุงให้ออกดอกเห็ดได้เลย


เห็ดมัตสึตาเกะผง

ดอกเห็ดนอกจากจะใช้รับประทานสดแล้ว เมื่อเห็ดมีมากจนล้นตลาดก็มีการนำไปแปรรูปเพื่อยืดอายุและเพิ่มคุณค่าทางอาหาร ที่นิยมทำกันมาก ได้แก่ การอบแห้ง เช่น เห็ดหูหนู เห็ดหูหนูขาว เห็ดหอม เห็ดร่างแห (เห็ดเยื่อไผ่) เห็ดหลินจือ เห็ดบด เห็ดขอนขาว การบรรจุกระป๋อง เช่น เห็ดมัตสึตาเกะผง เห็ดโคน เห็ดเผาะใส่ในน้ำเกลือบรรจุกระป๋อง หรืออาจนำมาปรุงรส เพื่อเพิ่มรสชาติและยืดอายุ เช่น เห็ดฟางสามรส เห็ดหอมสามรส เห็ดหอมสวรรค์ แหนมเห็ดนางรม หรือใส่เข้าไปในน้ำซอสปรุงรส เช่น ซีอิ๊วเห็ดหอม