โทษของเห็ด
เห็ดพิษ (Poisonous mushroom)
เห็ดที่พบในประเทศไทยหลายๆ ชนิดมีการสร้างสารพิษที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ในระดับที่ต่างกัน ตั้งแต่วิงเวียนศีรษะ ท้องเสีย ปวดท้อง จนถึงแก่ชีวิต ซึ่งสารพิษจากเห็ดเป็นสารพิษที่มีความร้ายแรงไม่น้อยกว่าจุลินทรีย์กลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เห็ดที่เก็บจากธรรมชาติที่เรียกว่า เห็ดป่า โดยสารพิษจากเห็ดและราแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้
๑. Protoplasmic poisons
เป็นกลุ่มสารพิษที่เข้าทำลายเซลล์และตามมาด้วยการล้มเหลวของอวัยวะ สารพิษในกลุ่มนี้มีความหลากหลายสูง เช่น amatoxin เป็นสารพิษที่ทำให้ตับและไตวาย ถึงขั้นเสียชีวิต พบใน Amanita verna, Amanita virosa สารพิษ Gyromitrins พบในราไฟลัมแอสโคไมโคตา Gyromitra และ Helvella เป็นพิษเมื่อรับประทานดิบ ซึ่งแต่ละคน อาจตอบสนองต่อสารพิษมากน้อยต่างกัน สารพิษกลุ่ม Orellanine ทำให้ไตวาย เสียชีวิตภายใน ๒-๓ สัปดาห์ พบใน Cortinarius orellanus
Amanita virosa
๒. Neurotoxins
เป็นสารพิษที่มีผลและก่อให้เกิดอาการต่อระบบประสาท มีอาการสำคัญหลายอย่าง เช่น เหงื่อออกมาก โคม่า เคลิบเคลิ้ม ชัก ตื่นเต้น สลดหดหู่ เป็นกลุ่มที่เรียกว่า เห็ดเมา เช่น เห็ดขี้ควาย (Psilocybe cubensis)
เห็ดขี้ควาย (ที่มา : สวนเห็ดอรัญญิก
๓. Gastrointestinal irritants
เป็นสารพิษออกฤทธิ์เร็ว แสดงอาการภายใน ๑๕ นาที ถึง ๔ ชั่วโมง หลังจากรับประทานเห็ด ก่อให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ท้องเสีย คลื่นเหียน อาเจียน เป็นตะคริวในช่องท้อง เห็ดพิษส่วนใหญ่สร้างสารพิษในกลุ่มนี้มากที่สุด ที่ทำให้มีอาการถึงตายมีน้อยชนิดมาก เห็ดที่สร้างสารพิษในกลุ่มนี้ ได้แก่ เห็ดผึ้งท้องรุ (Suillus sublutius) เห็ดกระโดงตีนต่ำครีบเขียว (Chlorophyllum molybdites) Scleroderma citrinum, Russula emetica, Gymnopilus aeruginosa, Entoloma sp.