เล่มที่ 40
เห็ด
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
เห็ดเป็นอาหาร

            มนุษย์รู้จักนำเห็ดมารับประทานเป็นอาหารตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ มีการลองรับประทาน บันทึกรสชาติชนิดของเห็ดที่รับประทานได้ หรือรับประทานแล้วมีพิษอย่างมากมาย   เห็ดที่รับประทานได้และมีรสชาติดีมีการศึกษาวิจัยเพื่อนำมาเพาะเลี้ยงในโรงเรือน ทั้งเพื่อการบริโภคและเพื่อการค้า


เห็ดฟาง (ที่มา : อัจฉรา พยัพพานนท์)

            เห็ดที่รับประทานได้และเป็นเห็ดท้องถิ่นคือ เห็ดฟาง ซึ่งเป็นเห็ดที่พบเจริญและสร้างดอกเห็ดในกองฟาง มีรสชาติดีและเป็นที่นิยม  ภายหลังมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงในโรงเรือน จึงได้วิธีเพาะเห็ดฟางกองเตี้ยเชิงธุรกิจ ราคาของเห็ดฟาง อยู่ระหว่าง ๑๐๐-๑๒๐ บาทต่อ ๑ กิโลกรัม แต่เห็ดฟางมักเน่าเสียง่าย เนื่องจากมีกระบวนการย่อยสลายตัวเอง จำเป็นต้องมีการขนส่งที่ดี และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น การต้มในน้ำเกลือ และเก็บรักษาไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ การทำเห็ดฟางกระป๋อง และการปรุงรสเป็นเห็ดฟางสามรสบรรจุกระป๋อง


เห็ดนางรม (ที่มา : อัจฉรา พยัพพานนท์)

            เห็ดที่รับประทานได้ นอกจากมีเห็ดฟางแล้ว ยังมีเห็ดหูหนู (Auricularia polytricha) เห็ดขอนขาว (Lentinus squarrosulus) และเห็ดบด (Lentinus polychrous) รวมทั้งเห็ดจากต่างประเทศที่นำมาทดลองเพาะเลี้ยง จนหลายชนิดสามารถพัฒนาเป็นเห็ดเศรษฐกิจ เช่น เห็ดหูหนูชนิดต่างๆ (Auricularia auricular, Auricularia polytricha และ Auricularia fuscosuccinea) เห็ดกระดุมสีน้ำตาล (Agaricus blazei) เห็ดหอม (Lentinula edodes) เห็ดสกุลนางรม (Pleurotus spp.) เห็ดเข็มเงิน (Flammulina velutipes) เห็ดยานางิ (Agrocybe cylindracea) เห็ดโคนน้อยหรือเห็ดถั่ว (Coprinus cinereus) เห็ดชิเมจิ (Hypsizygus marmoreus) นอกจากนี้ยังมีเห็ดหัวลิง (Hericium erinaceus) และเห็ดเออรินจิ (Pleurotus eringii) มีการเพาะเลี้ยงในประเทศเพื่อจำหน่ายสำหรับการบริโภคสด


เห็ดไข่ไก่ หรือเห็ดระโงกแดง

            นอกจากเห็ดที่สามารถเพาะเลี้ยงได้ และนำมาใช้ในทางอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีเห็ดที่มีรสชาติดี แต่ยังไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้และมีราคาแพง เช่น เห็ดโคน เห็ดเผาะ เห็ดเสม็ด เห็ดไข่ไก่หรือเห็ดระโงกแดง เห็ดหล่ม และเห็ดฟาน (Lactarius piperatus)