การค้นพบและการพัฒนายาแผนปัจจุบันจากพืช
ยาแผนปัจจุบันที่ใช้ในการรักษาโรคจำนวนมากมีที่มาจากการค้นพบฤทธิ์ของสารสำคัญจากพืชสมุนไพร ซึ่งการค้นหาสารสำคัญ จากพืชนับล้านชนิด เพื่อให้ได้สารออกฤทธิ์ที่ต้องการนั้นเป็นเรื่องยาก การค้นพบตัวยาใหม่ของนักวิจัย จึงมักใช้วิธีการศึกษา ติดตามภูมิปัญญาของคนโบราณ แล้วใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์วิเคราะห์สารสำคัญเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น หมอผีพื้นเมือง ในประเทศกานา นิยมใช้สมุนไพรชนิดหนึ่งในการรักษาโรคหืด เมื่อทำการวิเคราะห์ทางเคมีพบว่ามีสารสำคัญ คือ hydrosoya saponin I ที่ออกฤทธิ์ในการรักษาโรคหืด ชาวอะบอริจินซึ่งเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมในประเทศออสเตรเลีย พบว่า ใบของต้นทีทรี (Tea Tree) หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า melaleuca alternifolia สามารถใช้รักษาบาดแผลและรอยไฟไหม้ได้ หรือตัวอย่างของ นายแพทย์วิลเลียม วิทเทอริง (William Withering) แพทย์ชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้ค้นพบสารกระตุ้นหัวใจดิจิทาลิส (digitalis) โดยบังเอิญ จากดอกไม้ป่าชื่อว่า ต้นฟ็อกซ์โกลฟ (foxglove) ที่เก็บไปฝากภรรยา ซึ่งการแพทย์แผนปัจจุบัน นำมาใช้รักษา โรคหัวใจล้มเหลว ในชื่อของยาดิจอกซิน (digoxin)
ยาแผนปัจจุบันที่ได้จากพืช
การพัฒนายาซึ่งได้มาจากพืชเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาสาธารณสุข จากภูมิปัญญาของประเทศไทย พระราชบัญญัติยา พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้อนุญาตให้อุตสาหกรรมยาสามารถผลิตยาสมุนไพร ทั้งในรูปแบบแผนโบราณ และรูปแบบที่ทันสมัย ใช้สะดวก มีคุณภาพมาตรฐาน โดยบัญชียาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้แสดงข้อมูล เชิงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และทางคลินิกสนับสนุนประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของพืชสมุนไพรดั้งเดิม ๓ ตำรับ คือ ยาประสะมะแว้ง ยาประสะไพล ยาแก้ไข้ และข้อมูลของยาสมุนไพรแผนปัจจุบันจำนวน ๕ ชนิด ได้แก่ ชุมเห็ดเทศ ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร พญายอ และไพล