ประวัติการใช้และการผลิตยาในประเทศไทย
"ยาแผนปัจจุบัน" หรือแต่เดิมเรียกกันว่า "ยาฝรั่ง" สันนิษฐานว่า นำเข้ามาในประเทศไทย โดยมิชชันนารีชาวโปรตุเกส ตั้งแต่สมัยอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ และตามหลักฐาน จากตำราพระโอสถพระนารายณ์ ก็ปรากฏรายการยาฝรั่งของ นายแพทย์เดอเมสี ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ปรุงยา รวมอยู่ด้วยหลายตำรับ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ผู้กำกับกรมหมอ ใน พ.ศ. ๒๓๘๕-๒๔๑๔ ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบุคคลแรกที่สนพระทัยการใช้ยาฝรั่ง จำนวน ๔๒ รายการ ซึ่งนายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ (Dr.Dan Beach Bradley) และคณะมิชชันนารีชาวอเมริกันนำเข้ามารักษา ผู้ป่วยอหิวาตกโรค
ใน พ.ศ. ๒๔๓๑ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้าง "โรงศิริราชพยาบาล" ขึ้นที่วังหลัง จังหวัดธนบุรี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า โรงพยาบาลวังหลัง เปิดให้บริการรักษาประชาชน ด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยมี พันตรี พระยาสารสินสวามิภักดิ์ (เทียนฮี้ สารสิน) เป็นนายแพทย์ประจำ และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร (หมอเวชชศิษย์) เป็นผู้ทรงปรุงยา และทรงตั้งชื่อยา เป็นชื่อไทย หลายรายการ เช่น ยาขาว (zinc oxide) เกลือสมาน (boric acid) น้ำมันระกำ (wintergreen oil)
ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒) ประเทศไทยได้ทำสงครามกับประเทศฝรั่งเศส ในเรื่อง เขตแดนแม่น้ำโขง ทำให้ทหารไทยได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์ (ราชินิกุล ชูโต) ภริยาเจ้าพระยาภาสกรวงษ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตั้ง "สภาอุณาโลมแดง" ขึ้นเพื่อผลิต "ยาไทย" ออกจำหน่ายให้แก่ประชาชน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๖ ซึ่งถือเป็น "วันสถาปนาสภากาชาดไทย"
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้ง "โอสถสภา" โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงปราจิณกิติบดี (พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม) เป็นประธานในการซื้อยาจากต่างประเทศ และนายแพทย์ฮันส์ อดัมสัน (Hans Adamson) หรือพระบำบัดสรรพโรค เป็นผู้ปรุงยา และฝึกหัดวิธีปรุงยาให้แก่คนไทย ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำตำรับ "ยาฝรั่ง" จำนวน ๘ ขนาน มอบให้เป็นตำรับ "ยาโอสถสภา"
สภาอุณาโลมแดง
เมื่อการใช้ยาแผนปัจจุบันจากต่างชาติได้รับความนิยมแพร่หลาย ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณมากขึ้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา อธิบดีกรมพยาบาล กระทรวงธรรมการ จึงติดต่อ ฮูโก วิลเลียมส์ (Hugo Williams) นักเคมีชาวเยอรมัน มาเป็นผู้ปรุงยาในโรงงานผลิตยาแห่งแรกของรัฐบาล โดยมีคนไทยเป็นผู้ช่วยปรุงยาและจำหน่ายยา เปิดทำการวันแรกเมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๕ ณ เทพศิรินทรพยาบาล ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนไปใช้ชื่อว่า "โอสถศาลารัฐบาล"
การสอนฝึกหัดปรุงยาที่โรงเรียนฝึกหัดวิชาแพทย์ โรงศิริราชพยาบาล
"โอสถสภา" และ "โอสถศาลารัฐบาล" เป็นสถานที่สำหรับคนไทยได้ฝึกหัดปรุงยา จนหลายคนมีความชำนาญ พัฒนาไปเป็นอาจารย์สอนปรุงยาแผนกแพทย์ผสมยา โรงเรียนฝึกหัดวิชาแพทย์ โรงศิริราชพยาบาล โดยคนไทยคนแรกที่สอน ในแผนกแพทย์ผสมยา และเป็นเภสัชกรแผนปัจจุบันคนแรกของประเทศไทย คือ หลวงเภสัชกิจโกศล
การสอนฝึกหัดปรุงยาที่โรงเรียนฝึกหัดวิชาแพทย์
โรงศิริราชพยาบาล
พ.ศ. ๒๔๗๗ รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาเค้าโครงการควบคุม และวางรากฐานเภสัชกรรม ใน พ.ศ. ๒๔๘๑ เมื่อ ดร.ตั้ว ลพานุกรม เป็นรัฐมนตรี และสั่งราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ ได้สั่งให้มีการสร้างโรงงานเภสัชกรรม จนเป็นผลสำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ และมีการผลิตยา จำนวน ๒๕ ชนิด ปัจจุบัน ได้รวมหน่วยงานทั้งหมด ขยายกิจการ เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ มีชื่อว่า "องค์การเภสัชกรรม" สังกัดกระทรวงสาธารณสุข มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๙ ทำหน้าที่ผลิตยา และวัคซีน เพื่อจำหน่ายแก่หน่วยงานราชการและประชาชนทั่วไป