เล่มที่ 38
การผลิตยารักษาโรค
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
บทสรุป

            การค้นพบและการพัฒนายาแต่ละชนิดต้องผ่านกระบวนการทดลองและพัฒนาหลายขั้นตอน ภายในระยะเวลาหลายปี ด้วยมูลค่าการลงทุนที่สูง ประเทศไทยยังมีความจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพขององค์ความรู้และต้นทุนทางอุตสาหกรรมในการค้นพบ และการพัฒนายาจากสารเคมีใหม่ สารสำคัญทางยาตัวใหม่ และชีววัตถุที่เป็นสารเคมีใหม่ ให้ครบวงจร เพื่อสามารถแข่งขัน กับประเทศอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นต้นมา ประเทศไทยใช้วิธีการขึ้นทะเบียนยาแบบเอซีทีดี (ACTD: ASEAN Common Technical Dossier) ซึ่งเป็นการขึ้นทะเบียนยาเพียงครั้งเดียวก็สามารถใช้ได้ทันทีใน ๑๐ ประเทศสมาชิก ของอาเซียน


การทดลองและพัฒนายารักษาโรค

            ในอุตสาหกรรมยานั้น ส่วนของชื่อสามัญจะมีข้อจำกัดในเรื่องสิทธิบัตร และการตั้งราคายาในท้องตลาดได้ไม่สูงเท่ากับการพัฒนายาต้นแบบ เป้าหมายหนึ่งที่ควรพิจารณาในอนาคตคือ การพัฒนา และการผลิตยาแผนโบราณและยาสมุนไพร ที่มีอัตราการใช้และมูลค่าการใช้เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก และเพื่อให้มีความน่าเชื่อถือ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ควรช่วยยืนยันผลการออกฤทธิ์และความปลอดภัยของตัวยา ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ได้อีกช่องทางหนึ่ง


การทดลองและพัฒนายารักษาโรค

            อย่างไรก็ตาม การใช้ยาจะต้องเลือกยาที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์ว่ามีผลในการรักษา โดยการใช้ยา ในขนาดที่พอเหมาะกับผู้ป่วยในแต่ละกรณี ด้วยวิธีการให้ยาและความถี่ในการให้ยาที่ถูกต้องตามหลักเภสัชวิทยาคลินิก และตามระยะเวลาที่เหมาะสม ผู้ป่วยให้การยอมรับและสามารถใช้ยาที่มีราคาเหมาะสมอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง โดยต้องคำนึงว่า ยาทุกชนิดแม้จะมีประโยชน์ แต่หากรับประทานอย่างไม่ถูกต้อง เช่น รับประทานเกินขนาด หรือรับประทานพร่ำเพรื่อ ก็มีอันตรายได้เช่นกัน และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ยา