เล่มที่ 38
การผลิตยารักษาโรค
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
แนวโน้มของอุตสาหกรรมยา

            ในประเทศไทย การนำเทคโนโลยีรูปแบบใหม่มาใช้ในการวิจัยหาสาเหตุของโรค การรักษาและการป้องกันโรค เช่น การใช้เทคโนโลยีด้านพันธุกรรม นำไปสู่การค้นคว้าวิจัยหาตัวยาใหม่ๆ เพื่อช่วยผู้ป่วยจำนวนมากที่รอความช่วยเหลือ จากหนทางใหม่ๆ ด้านวิทยาศาสตร์ โรงงานผลิตยาแผนปัจจุบันขนาดเล็กในประเทศไทยจึงเริ่มพัฒนาขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๖๓ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๖๘ สามารถผลิตเอทิลเอสเตอร์ของน้ำมันกระเบา (Ethyl Chaulmograte) สำหรับใช้รักษาโรคเรื้อน และยาสกัดวิตามินบีจากน้ำมันรำข้าวสำหรับรักษาโรคเหน็บชา

            การผลิตและจำหน่ายยารวมทั้งเภสัชภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยใน พ.ศ. ๒๕๔๗ มูลค่าการบริโภคยาในประเทศไทย มีมากถึง ๕๓ ล้านบาท เนื่องจากคนไทยให้ความสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น รวมทั้งโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาล ซึ่งกำหนดให้สถานพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐใช้ยาที่ผลิตภายในประเทศ ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายยา ขยายตัวเพิ่มขึ้น

            อย่างไรก็ตาม การจำหน่ายยาภายในประเทศ มีการแข่งขันกันสูงในด้านราคา เนื่องจากยาที่ผลิตเป็นยาชื่อสามัญ ทำให้ไม่สามารถตั้งราคาให้สูงได้ ข้อมูลใน พ.ศ. ๒๕๔๕ โรงงานผลิตยาแผนปัจจุบัน มีจำนวน ๑๗๔ โรงงาน และโรงงานผลิตยาแผนโบราณ มีจำนวน ๒๗๓ โรงงาน โดยรวมแล้วอุตสาหกรรมยาแบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่

            ๑. อุตสาหกรรมผลิตวัตถุดิบที่มีการค้นพบอยู่แล้ว และคิดค้นพัฒนาเฉพาะเทคนิควิธีการผลิต หรือเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลต้นแบบ เพื่อให้ได้ตัวยานั้น ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเงินทุนจำนวนมาก อุตสาหกรรมนี้ส่วนใหญ่จึงเป็นการร่วมทุนจากต่างประเทศ

            ๒. อุตสาหกรรมผลิตยาสำเร็จรูป โดยนำเข้าตัวยาสำคัญจากต่างประเทศมาพัฒนาตำรับ แล้วผสมและบรรจุ เป็นยาสำเร็จรูป ในรูปแบบต่างๆ เช่น ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำ

            นอกจากการผลิตยาเพื่อใช้ภายในประเทศที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โรงงานอุตสาหกรรมยายังผลิต เพื่อส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ ด้วยมูลค่าปีละมากกว่า ๔,๐๐๐ ล้านบาท ตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมที่สำคัญ ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา พม่า เบลเยียม และมาเลเซีย

            ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมยาระดับสากลที่มีอยู่ หรือเกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนายาใหม่ๆ ในการรักษาโรค ให้มีประสิทธิภาพดีและมีคุณภาพตามมาตรฐานสากลเทียบเท่านานาชาติ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมจริยธรรมทางธุรกิจ บริษัทอุตสาหกรรมผลิตยาจึงได้รวมตัวกันก่อตั้ง สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA: Pharmaceutical Research and Manufacturers Association) ขึ้นเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ โดย เฮนรี อาร์. โคเซ็ค (Henry R. Koczyk) และเลียวนาร์ด  ชาน (Leonard Chan) เพื่อส่งเสริมและผลักดันการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยารูปแบบใหม่ เน้นการวิจัย และการพัฒนา เพื่อสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยี