การค้นพบและการพัฒนายาจากสัตว์
คัมภีร์วิชาเภสัชกรรมไทยแผนโบราณกล่าวไว้ว่า อวัยวะสัตว์ทุกชนิด ทั้งขน หนัง เขา นอ เขี้ยว งา ดี กระดูก เนื้อ เอ็น เลือด น้ำมัน มูล สามารถใช้เป็นยาได้ เช่น น้ำมันชะมดเช็ด ซึ่งเป็นน้ำมันข้นเหนียวกลิ่นฉุนจากอัณฑะของชะมด ที่เช็ดไว้ตามต้นไม้ มีสารประกอบคีโทนที่เรียกว่า ซิวีโทน (civetone) ที่มีคุณสมบัติช่วยทำให้กลิ่นหอมคงอยู่นาน นำมาใช้ปรุงเป็นยาหอม ในตำรายาไทยแผนโบราณ เช่น ยาหอมเทพจิตร ยาหอมทิพโอสถ และยาหอมอินทจักร์ ซึ่งบำรุงจิตใจให้ชุ่มชื่น และเป็นยาชูกำลัง ส่วนอำพันขี้ปลาซึ่งได้จากการสำรอกของปลาวาฬ นำมาใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตน้ำหอมและเครื่องสำอางหลายชนิด
ยาหอมเทพจิตร ยาหอมทิพโอสถ เป็นยาไทยแผนโบราณ
การค้นพบและพัฒนาตัวยาใหม่จากสัตว์จะใช้การศึกษาภูมิปัญญาแบบโบราณ และใช้การวิเคราะห์สารสำคัญ หรือสังเคราะห์สาร เลียนแบบโครงสร้างทางเคมี ที่รู้จักกันอย่างดี คือ ฮอร์โมนอินซูลินที่แยกได้จากเซลล์ตับอ่อนของโคหรือสุกร สำหรับใช้ในการรักษา โรคเบาหวาน ใน พ.ศ. ๒๔๖๔ โดย เฟรเดอริก จี. แบนติง (Frederick G. Banting) นักวิจัยทางการแพทย์ชาวแคนาดา ประจำมหาวิทยาลัยโทรอนโต ประเทศแคนาดา ซึ่งได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ใน พ.ศ. ๒๔๖๖
อวัยวะของสัตว์ นำมาทำยาแผนโบราณได้
ยาชนิดใหม่หลายชนิดได้มาจากสัตว์ทะเล เช่น ยาต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาวไซทาราบีน (cytarabine) ที่ปรับปรุงสูตรโครงสร้าง มาจากสารที่ได้จากฟองน้ำชนิดหนึ่ง ซึ่งได้นำไปใช้ในโรงพยาบาลทั่วไป หรือเอกเทนแอสซิดิน ๗๔๓ (ecteinascidin 743) และ อะพลิดีน (aplidine) ซึ่งเป็นสารเคมีที่สกัดได้จากเพรียงหัวหอมชนิดหนึ่ง และโดลาสแตติน ๑๐ (dolastatin 10) ซึ่งได้จากทากทะเล สารเหล่านี้กำลังอยู่ในขั้นการทดลองทางคลินิก เพื่อนำมาใช้จริงต่อไป