เล่มที่ 38
การผลิตยารักษาโรค
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การค้นพบและการพัฒนายาจากเชื้อจุลชีพ

            การค้นพบและการพัฒนายาจากเชื้อจุลชีพทั้งเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อจุลินทรีย์ เริ่มต้น ใน พ.ศ. ๒๔๗๑ จากการสังเคราะห์ ยาเพนิซิลลินบริสุทธิ์จากเชื้อราเพนิซิลเลียมไครโซจีนัม (Penicillium chrysogenum) โดย เซอร์อะเล็กซานเดอร์ เฟลมิง (Sir Alexander Fleming) แพทย์ชาวอังกฤษ หลังจากนั้นได้มีการพัฒนายาปฏิชีวนะต้นแบบสำหรับ ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ในมนุษย์ได้สำเร็จโดย โฮวาร์ด วอลเทอร์ (Howard Walter) นักวิจัยทางการแพทย์ชาวออสเตรเลีย และแอนสท์ บอริส ชาอิน (Ernst Boris Chain) นักชีวเคมีชาวเยอรมัน

ยาเพนิซิลลินเป็นยาที่มีประโยชน์อย่างมาก เพราะสามารถใช้รักษาโรคต่างๆ ได้มากกว่า ๘๐ โรค เช่น แอนแทรกซ์ ปอดอักเสบ บาดทะยัก คอตีบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฯลฯ ผลงานการค้นพบดังกล่าวทำให้ อะเล็กซานเดอร์ เฟลมิง ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น เซอร์อะเล็กซานเดอร์ เฟลมิง ส่วน โฮวาร์ด วอลเทอร์ และแอนสท์ บอริส ชาอิน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาแพทย์ร่วมกัน ใน พ.ศ. ๒๔๘๘


            แอลเอสดี (LSD: Lysergic acid diethylamide) ถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของสารอนุพันธ์ ของกรดไลเซอร์จิก (lysergic acid) ที่แยกได้จากเชื้อรา คลาวิเซปส์เพอร์พูเรีย (Claviceps purpurea) ค้นพบครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๘๑ โดย อัลเบิร์ต ฮอฟมันน์ (Albert Hofmann) นักเคมีชาวสวิตเซอร์แลนด์ ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น "บิดาแห่งแอลเอสดี" ต่อมา แอลเอสดีถูกจัดให้เป็นสารเสพติดให้โทษ ที่มีฤทธิ์หลอนประสาทอย่างแรง

            อากีระ เอนโดะ (Akira Endo) นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น เป็นผู้ค้นพบยาที่ใช้สำหรับลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด โดยสามารถสกัดแยกได้จากเชื้อราโมนาสคัสรูเบอร์ (Monascus ruber) และเพนิซิลเลียมซิตรินัม (Penicillium citrinum) โดยมีผลยับยั้งเอนไซม์ HMG-CoA reductase ของกระบวนการสังเคราะห์คอเลสเตอรอล ทำให้ระดับไขมันในเลือดลดลง ยาชนิดนี้ได้รับความนิยมใช้กันทั่วโลกเนื่องจากช่วยลดระดับไขมันในเลือดได้ดี และยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่ช่วยในการทำงาน ของหลอดเลือดและหัวใจด้วย การค้นพบครั้งนี้ทำให้ อากีระ เอนโดะ ได้รับรางวัล Albert Lasker Clinical Medical Research ใน พ.ศ. ๒๕๕๑

            ตัวอย่างสุดท้าย เกิดขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๘๖ นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบยาปฏิชีวนะชนิดใหม่จากแบคทีเรียในดิน ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการรักษาโรควัณโรค และโรคบางโรคที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายได้ เช่น โรคไทฟอยด์ ปัจจุบัน ศูนย์พันธุวิศวกรรมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้ดำเนินงานร่วมกับบริษัทยาในการต่อยอดงานวิจัยพัฒนายา จากจุลินทรีย์ชนิดใหม่ในประเทศไทยถึง ๒,๕๐๐ ชนิดที่มีสารออกฤทธิ์ทางยา เพื่อช่วยรักษาและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วย โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคกระดูกพรุน