เล่มที่ 38
โรคกระดูกและข้อในเด็ก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
โรคของสะโพกในเด็ก

ข้อสะโพกเคลื่อนหลุดในเด็ก (Developmental Dislocation of the Hip)

การวินิจฉัย

            ในทารกแรกเกิดจนถึงอายุประมาณ ๖ เดือน ควรใช้วิธีการตรวจร่างกายที่เป็นมาตรฐาน คือ ใช้วิธีตรวจ โดยการดันสะโพกไปด้านหลังว่าหลุดหรือไม่ หรือกางขาว่าสะโพกที่หลุดเข้าที่หรือไม่ อาจพบมีรอยย่นของผิวหนังที่ขอบใน ของต้นขา ไม่เท่ากัน (asymmetric inguinal or thigh skin folds) ในรายที่ข้อสะโพกหลุดข้างเดียว ข้างที่หลุด ข้อสะโพกจะกางได้น้อยลง ทำให้ใส่ผ้าอ้อมลำบาก อาจสังเกตเห็นขายาวไม่เท่ากัน ซึ่งอาจใช้วิธีตรวจง่ายๆ คือ ในขณะที่เด็กนอนหงาย จับงอข้อสะโพกและชันเข่าขึ้น ๒ ข้างพร้อมๆ กัน ถ้าเข่าด้านใดด้านหนึ่งต่ำกว่า ให้สงสัยว่า อาจมีข้อสะโพกเคลื่อนหลุดได้ เมื่ออายุเกิน ๖ เดือน หากดูจากภาพรังสีก็จะเห็นหัวกระดูกสะโพกได้ชัดเจน และเห็นได้ว่าหลุด ในเด็กโตที่กำลังหัดเดินหรือเดินได้แล้ว จะพบว่าเดินกะเผลก ซึ่งในกรณีนี้ต้องแยกกับภาวะที่มีขายาวไม่เท่ากัน

การรักษา

            หลักสำคัญในการรักษา คือ เมื่อวินิจฉัยได้ จะเริ่มทำการรักษาทันที เพื่อให้ข้อสะโพกกลับมาใกล้เคียงภาวะปกติมากที่สุด ในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า ๖ เดือน สามารถรักษาโดยการใส่อุปกรณ์ประคองข้อสะโพก (Pavlik harness) พบว่า ได้ผลดี ประมาณร้อยละ ๘๕-๙๕ ส่วนในเด็กที่อายุมากขึ้น วิธีการรักษาจะยากขึ้น คือ การดึงให้เข้าที่และเข้าเฝือก เช่น หากอายุเกิน ๒ ปี ใช้วิธีผ่าตัดให้สะโพกเข้าที่ และใส่เฝือก การเติบโตของสะโพกสิ้นสุดที่อายุ ๘ ปี ในเด็กโตที่มีอายุเกินกว่า ๑๐ ปี ไม่สามารถรักษาให้เป็นปกติได้


ก) ภาพรังสีแสดงผู้ป่วยข้อสะโพกข้างขวาหลุดในเด็กอายุ ๑ ปี
ข) สังเกตร่องก้นข้างขวา สูงกว่าร่องก้นข้างซ้าย (ลูกศรสีดำ)
ค) เมื่องอเข่า สังเกตเข่าขวาต่ำกว่าเข่าซ้าย
ง) ถ้าเด็กอายุน้อยกว่า ๖ เดือน สามารถรักษาด้วยการใส่อุปกรณ์ประคองข้อสะโพก (Pavlik harness) ซึ่งได้ผลดี

หัวกระดูกสะโพกตายขาดเลือด (Legg Calvé Perthes) หรือโรคเพอร์ทีส์ (Perthes disease)

การวินิจฉัย

            ใช้การตรวจภาพรังสีสะโพกจะเห็นหัวกระดูกสะโพกตายเป็นสีขาว ในเด็กอายุ ๒-๑๒ ปีที่มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดสะโพกหรือเข่า หรือกางขาไม่สุด เวลาเดินมักเจ็บ เป็นข้างเดียวร้อยละ ๑๐ ส่วนใหญ่พบในเด็กชาย ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง


ก) ภาพรังสีแสดงคนไข้โรคเพอร์ทีส์ สะโพกขวา สังเกตหัวกระดูกสะโพกมีสีขาวเข้มข้นจากการตายขาดเลือด (ลูกศร)
ข) หลังการรักษาด้วยการดึงขาจนข้อสะโพกเคลื่อนไหวดีแล้ว ได้รับการผ่าตัดที่เบ้าให้คลุมหัวกระดูกสะโพกได้ดี ภาพรังสีมีการฉีดสารทึบรังสีจนเห็นชัดว่า หัวกระดูกและสะโพกเข้าที่ดี

การรักษา

            เนื่องจากหัวกระดูกสะโพกที่ตายจะหายได้เอง ไม่ต้องรักษา โดยจะมีหลอดเลือดมาเลี้ยงใหม่ช้าๆ ในช่วงที่ตาย หัวกระดูกสะโพกจะอ่อนนุ่มมาก และมีการอักเสบในข้อสะโพก ทำให้หัวกระดูกสะโพกเคลื่อนออกจากเบ้าเล็กน้อย การรักษา จึงต้องทำให้หัวกระดูกสะโพกซุกเข้าในเบ้าให้ดีจนหัวแข็งเรียกว่า คอนเทนเมนต์ (containment) ควรรับไว้รักษาในโรงพยาบาล โดยให้พัก รับประทานยา และทำการดึงขาจนข้อต่อเคลื่อนไหวปกติ ผลการรักษาขึ้นกับหัวกระดูกกลมและซุกเข้าในเบ้าได้ดี ขณะกางขาออก การเคลื่อนไหวของหัวกระดูกเข้าไปในเบ้าได้ดีเรียกว่า คอนกรูเอนซ์ (congruence) ถ้าการตาย ของหัวกระดูกสะโพก น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ในเด็กเล็กอาจรักษาเพียงแต่รับประทานยา พัก และเดินด้วยไม้เท้าก็เพียงพอ แต่ถ้าหัวกระดูกตายมากขึ้นในเด็กที่มีอายุมากขึ้น เช่น เด็กอายุ ๘ ปี ควรผ่าตัดให้หัวกระดูกต้นขาส่วนต้นงุ้มลง ให้หัวกระดูกซุกเข้าเบ้ามากขึ้น หรือทำเบ้าให้ลงมาคลุมหัวกระดูกมากขึ้น หรือทำทั้ง ๒ อย่าง ขึ้นอยู่กับความจำเป็น ที่ต้องให้หัวกระดูกสะโพกเข้าในเบ้าตลอด

หัวกระดูกสะโพกส่วนอีพิไฟซิสเคลื่อน (Slipped capital femoral epiphysis)

การวินิจฉัย

            เมื่อดูจากภาพรังสีสะโพกด้านหน้าและด้านข้างสามารถวินิจฉัยได้ สาเหตุเกิดจากปัจจัยร่วมกันของเด็กที่มีน้ำหนักตัวมาก และอยู่ในช่วงวัยรุ่นที่มีการเติบโตเร็ว แผ่นการสร้างกระดูกจะกว้างขึ้น หากมีการเล่นกีฬาหรือออกกำลังมากในช่วงหน้าร้อน มักทำให้เกิดปัญหานี้ได้ ในเด็กวัยรุ่นเมื่อมีอาการปวดบริเวณสะโพกหรือเข่า และเท้าบิดออกเล็กน้อย ควรนึกถึงโรคนี้ บางคนอาจมีโรคของต่อมไร้ท่อ เช่น ไทรอยด์ต่ำร่วมด้วย


ก) ภาพรังสีแสดงผู้ป่วยโรคหัวกระดูกสะโพกส่วนอีพีไฟซิสเคลื่อน (ลูกศรสีดำ) เปรียบเทียบกับข้างปกติข้างซ้าย
ช) ภาพหลังการใส่สกรู (screw) เพื่อตรึงหัวกระดูกสะโพกไม่ให้เคลื่อนอีกต่อไป

การรักษา

            ควรรับไว้รักษาในโรงพยาบาลและใส่สกรู (screw) ที่มีเกลียวยึดหัวกระดูกที่เคลื่อนเอาไว้เพียง ๑ ตัว และไม่ต้องเอาออก บางรายเป็นทั้ง ๒ ข้างและรู้สึกปวด ภายหลังต้องตรวจและเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด

หัวกระดูกสะโพกบิดมาข้างหน้ามากขึ้น (Increase femoral antetorsion)

การวินิจฉัย

            ใช้การตรวจร่างกาย พบว่า เด็กจะเดินขาเข้าด้านในและสามารถหมุนสะโพกได้มากกว่า ๗๐ องศา โดยปกติบางคน เมื่อนั่งในท่าตัวอักษร W หัวกระดูกสะโพกจะบิดมาข้างหน้าเมื่อเทียบกับแกนกระดูกต้นขาจะได้ประมาณ ๑๕ องศา แต่หากเป็นโรคนี้ หัวกระดูกสะโพกอาจบิดมาข้างหน้าถึง ๕๐ องศา


ก) เด็กชายซึ่งป่วยเป็นโรคหัวกระดูกสะโพกบิดมาข้างหน้ามากขึ้น นั่งในท่าตัวอักษร W เปรียบเทียบกับแม่
ข) ในท่านอนคว่ำงอเข่าสามารถหมุนขาทั้ง ๒ ข้างออกไปจนเกือบสุด

การรักษา

            ไม่มีการรักษาเฉพาะ แต่ควรแนะนำพ่อแม่ให้สบายใจว่าไม่ใช่โรคร้ายแรงและสามารถหายได้เองมากกว่าร้อยละ ๙๙ ภายในอายุ ๘ ปี อาจแนะนำให้นั่งขัดสมาธิร่วมด้วย